พาณิชย์แนะผู้ส่งออกเร่งใช้โควตา ส่งออกอียูชดเชยขยายสมาชิกใหม่ [31 มี.ค. 49]

         "พาณิชย์" แนะผู้ส่งออกเร่งใช้ประโยชน์จากโควตา หลังอียูยอมชดเชยผลกระทบการขยายสมาชิก เปิดสินค้าทูน่า ปลาแปรรูป และข้าวขาวให้ไทยอัตราภาษี 0% มูลค่ารวมมากกว่า 15 ล้านยูโร มีผลทันทีต้นเมษายนนี้ ด้านทูตอียูระบุเป็นการให้สิทธิประโยชน์ไทยมากขึ้น โดยในส่วนของสินค้าข้าวขาวอียูตกลงจะให้การชดเชยผลกระทบ โดยกำหนดจะขยายปริมาณโควตาอีก 25,516 ตัน ที่อัตราภาษีในโควตา 0% ไทยจะได้รับการจัดสรร 1,200 ตัน และข้าวหัก อียูจะเปิดโควตาใหม่ ที่อัตราภาษีในโควตา 0% เป็นจำนวน 31,788 ตัน

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

"สมคิด" ปลื้มโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 48/49 [31 มี.ค. 49]

        รมว. พาณิชย์พอใจโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 48/49 พร้อมระบุการรับจำนำสามารถป้องกันการทุจริตได้ และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังได้สั่งการปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้ดูแลเกี่ยวกับการทุจริตการรับจำนำในส่วนของ อคส . รวมถึงการคัดเลือกบริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ เพื่อรับทราบข้อมูลทั้งหมดว่าปัญหาการทุจริตเป็นอย่างไร ก่อนที่จะมีการลงโทษตามกฎหมายต่อไป

ที่มา ผู้จัดการรายวัน    

ลุ้นจีนคู่ค้าซื้อข้าว “ปทุมธานี1” ชี้ต้องซื่อสัตย์ทุกกระบวนการ [29 มี.ค. 49]

         สมาคมชาวนาไทย ระบุ ขณะนี้ประเทศจีนสนใจที่จะเป็นคู่ค้าข้าวปทุมธานี1 ดังนั้นฝากถึงเกษตรกรผู้ปลูกจะต้องทำการคัดเลือกข้าวพันธุ์แท้มาปลูก และต้องดำเนินการด้วยความซื่อสัตย์ เพื่อสร้างความมั่นใจและหลักประกันทางการค้า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรไทยในอนาคต ขณะเดียวกันภาครัฐควรจัดทำโซนนิ่งการปลูกข้าวที่ชัดเจนเพื่อลดปัญหาการปลอมปนที่เกิดขึ้น

ที่มา มติชน

ผงะ!โกงข้าว 3.5 หมื่นตัน พบล่องหนจากโกดังจำนำ พาณิชย์รุดดำเนินคดีโรงสี [27 มี.ค. 49]

         นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงการตรวจสอบทุจริตการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาล 2548/49 ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตรวจสอบโรงสีข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 562 แห่ง จากทั้งหมด 659 แห่ง พบโรงสีกระทำความผิดทุจริต และได้แจ้งความดำเนินคดีแล้วทั้งสิ้น  52 ราย โดยแบ่งความผิดดังนี้คือ ตรวจสอบปริมาณข้าวที่รับจำนำไม่ครบตามจำนวน 23 ราย คิดเป็นจำนวนขาดหายไปรวม 35,900  ตัน   โดยโรงสีที่กระทำความผิดอยู่ในพื้นที่จ . นครราชสีมา , นครสวรรค์ , นครนายก , อุบลราชธานี , ลพบุรี , พะเยา , พิจิตร , พระนครศรีอยุธยา , อุตตรดิถ์ และพิษณุโลก

ที่มา แนวหน้า

รัฐดิ้นหาวิธีโละสต็อกข้าวดัดหลังพ่อค้าฮั้วราคา [24 มี.ค. 49]

         ปลัดกระทรวงพาณิชย์   เปิดเผยว่า มีแนวคิดจะเปลี่ยนวิธีระบายข้าวในสต็อกรัฐรูปแบบใหม่ จากเดิมที่เปิดประมูล โดยให้เอกชนยื่นซองเสนอราคาและจะขายให้ผู้ที่ให้เงื่อนไขดีที่สุด    ทั้งด้านราคาและปริมาณ    โดยขณะนี้ได้ให้กรมการค้าต่างประเทศหาแนวทางการขายแบบใหม่ โดยยังคงยึดหลักการเดิมคือขายให้ผู้ที่ให้เงื่อนไขดีที่สุด ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลใหม่หรืออาจนำไปทำการค้าแบบแลกเปลี่ยน (บาร์เตอร์เทรด) แทน

ที่มา ไทยโพสต์

หวั่นภัยแล้งลามรณรงค์เกษตรกรเลิกนาปรังรอบ 2 [24 มี.ค. 49]

         กรมส่งเสริมการเกษตรรณรงค์ให้เกษตรกรโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและภาคเหนือตอนล่างไม่ให้ปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 เพราะอาจมีน้ำไม่เพียงพอและสร้างความเสียหายต่อผลผลิตได้ ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากปัญหาภัยแล้งรวมกว่า 7 แสนไร่ และคาดว่าจะมีพื้นที่เกษตรเสียหายทั้งหมดกว่า 1.5 ล้านไร่

ที่มา โพสต์ทูเดย์

พาณิชย์ล้มประมูล"หอมมะลิ" 2 แสนตัน [22 มี.ค. 49]

         กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดซองประกวดราคาข้าวหอมมะลิจำนวน 2 แสนตัน ในสต๊อครัฐบาลที่ได้จากโครงการรับจำนำฤดูกาล 2547/2548 โดยมีผู้เข้าร่วมประมูล 8 ราย โดยมีผู้เสนอสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บริษัท ซีพีอินเตอร์เทรด เสนอซื้อสูงสุดทั้งปริมาณ และราคา โดยเสนอซื้อทั้งหมด 32,698 ตัน ราคาเฉลี่ยตั้งแต่ตันละ 421-435 เหรียญสหรัฐ แล้วแต่คลังสินค้า รองลงมาบริษัท เอเชีย โกลเด้นไรซ์ เสนอซื้อ 4,089 ตัน ราคาตันละ 402 เหรียญสหรัฐ บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลไรซ์แอนด์โปรดักซ์ เสนอซื้อ 4,696 ตัน ราคาตันละ 400 เหรียญสหรัฐ

         หลังจากนั้นนายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการระบายข้าวสาร ได้เรียกเอกชนมาต่อรองราคา ผลปรากฏว่าราคาที่ต่อรองได้ยังไม่สมเหตุสมผลโดยเสนอราคาต่ำกว่าที่คณะกรรมการจะอนุมัติขายได้ จึงได้ยกเลิกการประมูลครั้งนี้ โดยจะทำหนังสือถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) ให้รับทราบต่อไป

ที่มา มติชน

“สมคิด” มั่นใจต่างประเทศยังต้องการข้าวไทย [20 มี.ค. 49]

         “ สมคิด ” มั่นใจ ข้าว ไทยยังเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ สังเกตจากราคาข้าวส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ที่เพิ่มขึ้น แต่ยอมรับกังวลกับการส่งออกข้าวไปตลาดจีน เร่งประสานกับผู้ค้าส่งรายใหญ่ในจีนเพื่อเปิดตลาดข้าวหอมมะลิของไทยในตลาดจีนให้มากขึ้น

ที่มา ผู้จัดการรายวัน    

บีบ 57 โกดังซื้อคืนข้าวหอมมะลิ [20 มี.ค. 49]
         นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อเจรจากับเจ้าของโกดังทั้ง 57 แห่ง ที่มีปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาล 2547/48 จำนวน 5 แสนตัน ตามผลสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว ซึ่งแนวทางการเจรจาในเบื้องต้น จะให้ทางเจ้าของโกดังดังกล่าวรับซื้อข้าวปลอมปนที่อยู่ในโกดังของตนเองทั้งหมดในราคาไม่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกหรือสูงกว่านั้น เพื่อยุติปัญหาโดยเร็วที่สุด

ที่มา มติชน
ก. พาณิชย์ ระบายข้าวหอมมะลิในสต็อก 200,000 ตัน [17 มี.ค. 49]

         นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายกำกับดูแลและเน้นให้ความสำคัญข้าวหอมมะลิโดยกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิในราคาสูงถึงตันละ 10,000 บาทเพื่อชี้นำตลาดและผลักดันระดับราคาข้าวให้สูงขึ้นเป็นลำดับจากราคาส่งออกตันละ 350 เหรียญสหรัฐฯ ในช่วงกลางปี 2548 จนมีราคาสูงขึ้นเป็น 464 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะนี้ซึ่งนับเป็นราคาที่สูงใกล้เคียงกับราคารับจำนำและสามารถใช้อ้างอิงเป็นราคาตลาดได้ ประกอบกับปัจจุบันการซื้อขายข้าวหอมมะลิภายในประเทศอยู่ในภาวะตึงตัว ปริมาณข้าวส่วนใหญ่อยู่ในสต๊อกของรัฐบาลทั้งในส่วนข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2547/48 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2548/49 ส่งผลให้ราคาซื้อขายข้าวสารส่งออกและราคาข้าวในตลาดโลกในระยะนี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและภาวะตึงตัวของข้าวในตลาด รวมทั้งช่วยให้การส่งออกข้าวของผู้ส่งออกคล่องตัวมากยิ่งขึ้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จึงได้อนุมัติการระบายข้าวสารหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ในสต็อกรัฐบาลจำนวน 200,000 ตัน ในวันอังคารที่ 21 มีนาคม 2549 โดยการประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจเสนอราคาซื้อข้าวสารเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ

ที่มา กรมการค้าต่างประเทศ

ต่างชาติเผ่นหนีการเมือง ฉุดเจรจาสั่งซื้อข้าวไทยชะงัก [13 มี.ค. 49]

         รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า แนวโน้มการส่งออกข้าวของไทยช่วงนี้อาจจะลดลงต่อเนื่องเพราะหลังจากมีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศไทย โดยผู้นำเข้าข้าวต่างประเทศ ซึ่งลูกค้ารายใหญ่ที่เตรียมจะเดินทางมาเจรจาซื้อข้าวจากไทยหลายรายต่างปฏิเสธที่จะเดินทางมา เพราะต้องการรอดูสถานการก่อน ประกอบกับคาดว่าเดือนมีนาคม 2549 ผลผลิตข้าวนาปรังของไทย และผลผลิตข้าวฤดูหนาว และใบไม้ผลิของเวียดนามจะออกสู่ตลาดปริมาณมากขณะที่ตลาดแถบภูมิภาคแอฟริกาจะมีความต้องการข้าวชะลอตัวลง และนำเข้าข้าวลดลง

ที่มา แนวหน้า

"สมคิด" รับลูกตั้งกก.สอบโกงจำนำข้าว [13 มี.ค. 49]
         นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มีคำสั่งจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2548/2549 กรณีมีการนำข้าวจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ข้าวที่ได้จากการแปรสภาพในโครงการรับจำนำ (เปาเกา) มาส่งมอบให้กับรัฐบาลแทน โดยแต่งตั้งให้นายสมพล เกียรติไพบูลย์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง

ที่มา มติชน
เวียดนามกวาดเรียบตลาดข้าวญี่ปุ่น [8 มี.ค. 49]
         ผู้ค้าข้าวจากเวียดนามเพิ่งชนะการประกวดราคาส่งข้าวล็อตใหม่สู่ตลาดญี่ปุ่นอีก 30,000 ตัน ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ข้าวเวียดนามสามารถเอาชนะการประกวดราคาในญี่ปุ่น ทำให้ผู้ค้าข้าวต้องส่งข้าวออกไปยังประเทศนี้รวมแล้ว 84,078 ตัน นับแต่ต้นปี 2549 เป็นต้นมา ซึ่งเมื่อรวมกับยอดส่งออกไปยังตลาดใหญ่อื่นๆ ในเอเชีย - ตะวันออกกลางกับแอฟริกา เวียดนามกำลังจะต้องส่งข้าวออกขายกว่า 1 ล้านตัน ภายในไตรมาสแรกของปีนี้
     
ที่มา ผู้จัดการรายวัน     
ไทยต้มไทยระบาดในไนจีเรีย พ่อค้าข้าวโดนกันถ้วนหน้า/รายล่าถูกตุ๋นเปื่อยกว่า 150 ล้าน [8 มี.ค. 49]

          ทูตพาณิชย์กาน่าเตือนไทยตุ๋นไทยในตลาดแอฟริกากำลังระบาด ล่าสุดผู้ส่งออกข้าวเมืองกำแพงเพชร โดนต้มซะเปื่อยหลอกร่วมทุนค้าข้าวในไนจีเรียสุดท้ายโดนโกง เชิดสินค้าขายทอดตลาดหน้าตาเฉยสูญกว่า 150 ล้านบาท ขณะที่แก๊งสิบแปดมงกฎหลอกซื้อสินค้าทางเน็ตระบาดหนัก ลามจากไนจีเรีย สู่โตโก เบนิน และแคมเมอรูน เตือนระวังตกเป็นเหยื่อ

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

รัฐเมินระบายข้าว แนะซื้อในตลาด หวังดันราคาสูง [8 มี.ค. 49]

         กระทรวงพาณิชย์ยืนยันไม่ระบายข้าวในสต็อกรัฐขณะนี้ ระบุต้องการให้ราคาสูงหวังเกษตรกรได้รับประโยชน์แนะผู้ส่งออกไล่ซื้อในตลาด ในขณะที่การส่งออกข้าวในช่วง 2 เดือนแรกทะลุ 1 ล้านตัน และได้เปิดเผยว่าคณะกรรมการสรุปผลสอบความผิดของผู้อำนวยการ อคส.และเจ้าหน้าที่รวม 11 รายแล้ว จี้ผู้ถูกกล่าวแจงกลับใน 7 วัน

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

อคส. ส่งข้าวถุง"หอมมะลิ" บุกจีนเป้าปีแรก 3 หมื่นตัน [6 มี.ค. 49]

          นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะคณะกรรมการบริหารองค์การคลังสินค้าเปิดเผยว่า ขณะนี้ อคส . มีโครงการผลิตข้าวถุงยี่ห้อ Trust Me เพี่อขายในห้างสรรพสินค้า Trust Mart ของจีนที่มีสาขาทั่วประเทศ 100 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาจัดสรรผลประโยชน์ และระบบการโอนเงินกับบริษัทตัวแทนนำเข้าข้าวและห้าง Trust Mart ซึ่งเป็นตัวแทนนำเข้าและวางจำหน่ายข้าวหอมมะลิบรรจุถุงของไทยเพียงรายเดียว ทั้งนี้ กำหนดจะเริ่มวางจำหน่ายในเดือน เม. ย. นี้ วางเป้าหมายปีแรก 30,000 ตัน หลังจากนั้น 3  เดือน จะมีการประเมินผลการตอบรับจากผู้บริโภค ก่อนพิจารณาขยายไปยังตลาดประเทศอื่นๆโดยแต่ละประเทศจะมีเครื่องหมายการค้าแตกต่างกันไป

ที่มา ไทยโพสต์

ส.ส่งออกไม่เชื่อฮั้วค้าข้าว คาดเอี่ยวเวียดนามสูญเปล่า [3 มี.ค. 49]
          นายชรินทร์ หาญสืบสาย ผู้อำนวยการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวถึงนโยบายที่รัฐบาลจะร่วมมือกับรัฐบาลเวียดนามไม่ขายตัดราคากันในตลาดโลก และกำหนดราคาขายข้าวร่วมกันว่า ไม่น่าจะได้ผลเพราะต่างฝ่ายต่างต้องการขายข้าวให้ได้จำนวนมาก จึงต้องลดราคาขายดึงดูดลูกค้า ซึ่งโดยทั่วไปข้าวของไทยแพงกว่าเวียดนามประมาณตันละ 30 เหรียญสหรัฐ

ที่มา มติชน
รัสเซียเมินข้อเสนอพ่อค้ากีดกันข้าวไทย [3 มี.ค. 49]

          บริษัท RAZGULAI ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวรายใหญ่ และมีอิทธิพลทางการเมืองของรัสเซียได้พยายามเสนอให้รัฐบาลรัสเซียกำหนดโควต้านำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพื่อปกป้องเกษตรกรและผู้ผลิตข้าวในประเทศ ซึ่งบริษัทดังกล่าวเคยประสบความสำเร็จในการผลักดันให้รัฐบาลรัสเซียเก็บภาษีนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นจากตันละ 30 ยูโร เป็นตันละ 70 ยูโรในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงเศรษฐกิจและการค้าของรัสเซียได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว เพราะขัดต่อหลักการและพันธกรณีที่รัสเซียผูกพันไว้ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก

ที่มา มติชน

เวียดนามเร่งปลูกข้าวคุณภาพสูงสู้ไทย [2 มี.ค. 49]
          ทางการเวียดนามประกาศเป้าส่งออกข้าวปีนี้เอาไว้ที่ 5 ล้านตัน หลังจากปีที่แล้วตั้งเอาไว้ต่ำ แต่การส่งออกพุ่งขึ้นสูงถึง 5.2 ล้านตัน ขณะที่กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามได้บอกกับเกษตรกรชาวนาในพื้นที่ต่างๆให้เร่งปลูกข้าวพันธุ์ดี คุณภาพสูงเพื่อส่งออกชิงส่วนแย่งตลาดระดับบน ที่ข้าวจากประเทศไทยผูกขาดมาโดยตลอด
       
ที่มา ผู้จัดการรายวัน 
AFET ขอจองโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาล เปิดเทรดพท.นำร่องดึงโรงสีซื้อผ่านตลาด [2 มี.ค. 49]

          ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ( AFET) ผุดไอเดียจำลองพื้นที่ซื้อขายข้าวผ่านระบบซื้อล่วงหน้าแทนการเปิดรับจำนำข้าวของกระทรวงพาณิชย์ แต่ขอทดลองทำเป็นบางจังหวัดนำร่องไปก่อน พร้อมรับลูก "สมคิด" ศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดซื้อขาย กุ้ง ส่วน น้ำยางข้น จะเทรดในตลาดได้ในเดือนเมษายนนี้ ยอมรับแป้งมัน ล้มเหลว ถือเป็นบทเรียนในการรับสินค้าเข้าเทรดต่อไป

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

กนข.ทุ่ม 450 ล้าน จำนำข้าวนาปรัง [1 มี.ค. 49]

          อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร(คชก.)และคณะกรรมการนโยบายข้าว(กนข.) ว่า กนข.ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 450 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังจำนวน 2 ล้านตัน โดยจะเริ่มโครงการระหว่างวันที่ 16 มี.ค.- 31 ก.ค. 49 ส่วนข้อเสนอให้ขยายระยะเวลาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีที่จะสิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ. 49 ออกไปอีกนั้น กนข.ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเข้าใกล้ฤดูจำนำนาปีแล้ว สำหรับราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรับนั้นให้ใช้ราคาเดียวกับข้าวนาปีเช่นข้าวเปลือก 5% ตันละ 7,000 บาท 10% ตันละ 6,900 บาท

ที่มา ข่าวสด

ส.ชาวนายื่นขยายเวลาจำนำข้าว เสนอ กนข.อนุมัติถึง 31 มีนาคม [28 ก.พ. 49]

          อุปนายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสมาคมชาวนาไทยที่ผ่านมา เสียงส่วนใหญ่มีมติให้สมาคมทำหนังสือถึงคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) เพื่อขอให้มีการขยายเวลาการจำนำข้าวนาปี 2548/2549 ที่สิ้นสุดโครงการวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ออกไปเป็นวันที่ 31 มีนาคม เพื่อให้เกษตรกรที่ยังมีข้าวค้างคาอยู่ในนา โดยเฉพาะพื้นที่เขตภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่างสามารถมีที่จำนำข้าว อีกทั้งยังเป็นหลักประกันเพื่อไม่ให้โรงสีใช้สถานการณ์กดราคาข้าว

ที่มา มติชน

"พาณิชย์" จับตาเกาหลีกีดกันข้าวไทย ขู่ยึดใบอนุญาตผู้ส่งออกขายตัดราคา [27 ก.พ. 49]
         กรมการค้าต่างประเทศกำลังตรวจสอบกรณีที่ประเทศเกาหลีใต้ ได้นำระบบจัดสรรโควต้านำเข้าข้าวจากต่างประเทศมาใช้เหมือนการจัดสรรโควต้านำเข้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากเกาหลีใต้ใช้ระบบจัดสรรโควต้าการนำเข้าจริง ถือว่าเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า และเกรงว่าหากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมีการเลียนแบบใช้ระบบจัดสรรโควต้านำเข้าข้าวเหมือนกันหมด ก็จะกระทบต่อการส่งออกของไทย
         นอกจากนี้ กำลังตรวจสอบกรณีที่มีผู้ส่งออกที่ชนะการประมูลขายข้าวในต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกไปฟิลิปปินส์ มีการกำหนดราคาขายที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกมาก ซึ่งกระทบต่อโครงการยกระดับราคาข้าวที่ไทยกำลังร่วมมือกับประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่เช่น เวียดนาม ในการยกระดับราคาข้าวและไม่มีการตัดราคาขายกันเอง โดยอาจพิจารณาระงับใบอนุมัติเป็นผู้ส่งออกชั่วคราว หรือหากมีการกระทำผิดซ้ำอีก จะมีการถอนใบอนุญาตเลย


ที่มา มติชน
ไทยจับมืออิเหนาแลกข้าวกับเครื่องบิน [24 ก.พ. 49]

          รมว.เกษตร. เผยว่าได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจอินโดนีเซียเรื่องความร่วมมือแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งเบื้องต้นได้เจรจาซื้อขายตามข้อตกลงแบบหักบัญชีตามข้อตกลง MOU โดยรัฐบาลไทยจะขายข้าวจำนวน 5 หมื่นตันแลกกับเครื่องบิน CN -235 จำนวน 1 ลำ โบกี้รถไฟ และปุ๋ยแอมโมเนียไนเตรต และยูเรีย นอกจากนี้ทางอินโดนีเซียยังเสนอซื้อข้าวจากไทย ก.เกษตรฯจึงได้ประสานไปยัง ก.พาณิชย์ เพื่อเร่งดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อไป

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

กก.ชาวนาไทยเสียงแตกยืดจำนำข้าว [23 ก.พ. 49]

           นายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผยว่า โครงการจำนำข้าวนาปี 2548/2549 ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 28 ก.พ. นี้ ในภาพรวมสรุปว่าโครงการนี้มีการจำนำข้าวน้อยกว่าทุกโครงการที่ผ่านมา โดยภาครัฐอ้างว่าสาเหตุมาจากราคาข้าวในตลาดทั่วไปสูงเท่าเทียมกับการจำนำ เกษตรกรจึงมักขายเลยเพราะได้เงินสดทันที ทั้งนี้เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันก็จะสิ้นสุดโครงการแล้ว แต่ยังมีข้าวอีกจำนวนมากที่ยังมีปัญหา เช่น จ.บุรีรัมย์ มีโรงสีร่วมโครงการน้อย จนเกิดปัญหากับชาวนาอย่างน้อย 8 อำเภอ ไม่มีที่จำนำข้าว จึงมีข้าวค้างคาอยู่อีกราว 200,000 ตัน

          และจากการประชุมร่วมล่าสุดของกรรมการสมาคมชาวนาไทย ที่ประชุมมีมติเสียงส่วนใหญ่ให้สมาคมชาวนาไทยทำเรื่องเสนอไปยัง กนข.เพื่อขอขยายเวลาการจำนำข้าว ซึ่งได้มีการดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มีคำตอบกลับมาว่าจะอนุมัติในหลักการหรือไม

ที่มา มติชน

เวียดนามเพิ่มเป้าส่งออกข้าวเบียดไทย  [21 ก.พ. 49]

          กระทรวงเกษตรเวียดนามปรับเป้าส่งออกข้าวในปี 2549 ใหม่ โดยคาดว่ายอดส่งออกจำทะลุ 5 ล้านตันหรือสูงกว่าเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเวียดนามสามารถส่งข้าวออกได้มากกว่าปี 2547 เกือบ 50% ในด้านมูลค่า หลังจากบริษัทค้าข้าวของเวียดนามสามารถเอาชนะบริษัทจากประเทศไทย ในการประมูลจำหน่ายข้าวให้แก่ประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา ผู้จัดการรายวัน 

ตลาดข้าวต่างประเทศแข่งเดือด ไทยเหนื่อยถูก 3 ชาติแย่งตัดราคา  [16 ก.พ. 49]
           ตลาดค้าข้าวระหว่างประเทศแข่งขันกันหนัก ชี้ข้าวไทยทำได้อย่างดีที่สุดก็แค่รักษาระดับการส่งออกเมื่อปีที่ผ่านมาไว้แม้ความต้องการในตลาดจะเพิ่มมากขึ้นก็ตามที เหตุเพราะหลายประเทศแข่งกันตัดราคา โดยเฉพาะจากอินเดีย ปากีสถานและเวียดนาม บรรดาพ่อค้าและซัพพลายเออร์ในสิงคโปร์ระบุว่า อินเดีย เวีดยนาม และปากีสถาน เสนอขายข้าวในราคาต่ำอยู่ในขณะนี้ แต่เชื่อว่าผู้ซื้อจากทวีปแอฟริกาซึ่งหายหน้าหายตาไปจากตลาดในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากจัดซื้อล็อตใหญ่ไปก่อนหน้านั้น เริ่มกลับเข้ามาในตลาดอีกครั้งหนึ่ง ผู้สันทัดกรณีระบุว่าอินเดียสามารถทำสัญญาขายข้าวให้กับพ่อค้าจากแอฟริกาและภูมิภาคอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ในขณะที่เวียดนามเองก็คาดว่าจะเพิ่มยอดขายได้สูงเช่นเดียวกัน

ที่มา มติชน
ไนจีเรียจีบไทยลงขันปลูกข้าว  [14 ก.พ. 49]

          นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการเดินทางเยือนประเทศ ไนจีเรียพร้อมกับนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทยว่า ได้เข้าพบหารือร่วมกับรมว. เกษตรของไนจีเรีย โดยได้รับแจ้งว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้าไนจีเรีย ซึ่งเป็นตลาดข้าวนึ่งที่ ใหญ่ที่สุดในโลกของไทยจะออกกฎระเบียบห้ามนำเข้าสินค้าเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะมีการรวม สินค้าข้าวเข้าไปด้วย เนื่องจากไนจีเรียประสบปัญหาการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศ เพราะขาดฐานการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพในประเทศ ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจาก ต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลมีนโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง โดยจะเน้นการ พัฒนาภาคการผลิตในประเทศและลดการนำเข้าสินค้า

ที่มา แนวหน้า

“ สมคิด ” ไฟเขียวขายข้าว 5 บริษัท  [7 ก.พ. 49]
         
         นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ อนุมัติให้จำหน่ายข้าวสารชนิดข้าวขาว 5% ปริมาณ 623,712.73 ตัน ให้กับผู้เสนอซื้อ 5 ราย เนื่องจากเป็นผู้เสนอราคาและเงื่อนไขดีที่สุด ซึ่งผู้เสนอราคา 5 รายประกอบด้วย บริษัท แคปปิตัลซีเรียลส์ จำกัด ปริมาณ 39,199.799 ตัน ให้ราคาตันละ 297-300 ดอลลาร์สหรัฐ บริษัท ไทยฟ้า ( 2511) จำกัด ปริมาณ 53,723.121 ตัน ให้ราคาตันละ 297 ดอลลาร์สหรัฐ บริษัทเจียเม้ง จำกัด ปริมาณ 40,487.180 ตัน ให้ราคาตันละ 297 ดอลลาร์สหรัฐ บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัดปริมาณ 23,672.562 ตัน ให้ราคาตันละ 295.50 ดอลลาร์สหรัฐ และบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด ปริมาณ 466,630.073 ตัน ให้ราคาตันละ 295 ดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

พณ.เตรียมปรับราคารับจำนำสินค้าเกษตร ป้องกันการโกง [7 ก.พ. 49]
       
         นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การกำหนดราคารับจำนำข้าวที่สูงเกินกว่าราคาตลาดมาก เพื่อชี้นำราคาให้สูงขึ้น เป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริต จึงเตรียมกลับไปใช้วิธีให้คณะกรรมการโครงการช่วยเหลือเกษตรกร หรือ คชก. เป็นผู้กำหนดราคารับจำนำ ซึ่งอาจจะใช้ราคาเฉลี่ย 3-5 ปีย้อนหลัง บวก ลบ ตามแนวโน้มการขึ้น-ลงของราคาตลาด แต่ต้องเป็นราคาที่เกษตรกรมีกำไรพอสมควร เพราะรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนแล้วว่า ในอนาคตจะเปิดโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรเมื่อไม่มีทางเลือกเท่านั้น และจะเปิดในระยะสั้นที่สุด
       ขณะที่นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน ยืนยันว่า จะไม่มีการสั่งแปรรูปข้าวหอมมะลิที่จำนำไว้ในช่วงนี้อย่างแน่นอน จึงขอให้พาณิชย์จังหวัด อดทนต่อกระแสการเมืองท้องถิ่นที่อาจสร้างสถานการณ์ให้คนมาเดินขบวน หรือกดดันให้รัฐบาลต้องเร่งแปรรูปข้าวหอมมะลิ เพราะเชื่อว่าทันทีที่เปิดให้มีการแปรรูป จะเกิดปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว

ที่มา ผู้จัดการรายวัน 

" สมคิด" แบ่งสต็อกข้าวขาย 3 บริษัท [6 ก.พ. 49]

          ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เห็นชอบผลพิจารณาเอกชน ที่ชนะการประกวดราคาซื้อข้าวสารในสต็อกรัฐบาลจำนวน 7 แสนตัน ตามที่นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เสนอรายชื่อผู้ชนะ 3 ราย ได้แก่ บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง บริษัทไทยฟ้า และบริษัทข้าวไชยพร หลังจากที่ได้เรียกมาต่อรองราคา จนได้ข้อยุติเป็นที่น่าพอใจแล้ว โดยดร.สมคิด จะลงนามอนุมัติอย่างเป็นทางการให้กับผู้ชนะทั้ง 3 รายภายในสัปดาห์นี้

          โดยในการยื่นซองประกวดราคาเพรซิเดนท์ เสนอซื้อข้าวขาวแบบยกล็อตจำนวนถึง 7.06 แสนตัน มูลค่า 208 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8,320 ล้านบาท ในราคาตันละ 295 ดอลลาร์สหรัฐ บริษัทข้าวไชยพร เสนอซื้อข้าวขาว 5% จำนวน 2.37 แสนตัน มูลค่า 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในราคาตันละ 293 ดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทไทยฟ้า เสนอซื้อข้าวขาว 5% จำนวน 5.3 หมื่นตัน มูลค่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในราคาตันละ 296.50 ดอลลาร์ ภายหลังการต่อรองราคาขึ้นมาจะทำให้การซื้อขายข้าวครั้งนี้สูงเกือบถึงตันละ 300 ดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

แอฟริกางดซื้อข้าวไทย ฉุดส่งออกม.ค.หด 30% [6 ก.พ. 49]

           นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการส่งออกข้าวของไทย ม.ค. 48 ว่า ส่งออกได้ปริมาณทั้งสิ้น 558,416 ตัน ลดลงประมาณ 102,000 ตัน ลดลง 35.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ถึง 7.6 แสนตัน เนื่องจากตลาดในภูมิภาคแอฟริกา ถือเป็นตลาดหลักของไทย สั่งซื้อข้าวลดลงโดยเฉพาะตลาดเซเนกัล ไอวอรีโคสต์ และไนจีเรีย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคิดเป็นมูลค่า ไทยสามารถส่งออกข้าวได้ถึง 172 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 308 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นตันละ 16 เหรียญสหรัฐ หรือ 5.21% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมของปีก่อน ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 292 เหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามปี 49 นี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวของประเทศไว้ที่ 7.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 2,348 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.16% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา ข่าวสด

' สมคิด ' ชี้ประมูลข้าว 7 แสนตันไม่ฮั้ว [2 ก.พ. 49]

           ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประมูลข้าวค้างสต็อก 7 แสนตัน ไม่น่าจะมีการฮั้วราคากัน และคาดว่าจะสามารถสรุปผลได้สัปดาห์นี้ ในส่วนของข้าวหอมมะลิปี 2547/2548 ในปริมาณกว่าล้านตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายหลายราย โดยใช้หลักเกณฑ์การกำหนดราคาขายเหมือนข้าวขาวสูงกว่าตลาด ขณะนี้ราคาข้าวหอมมะลิอยู่ที่ราคา 432-442 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

ชงกนข.ขายข้าวเปลือกแทนข้าวสาร-กันยัดไส้ [2 ก.พ. 49]
             นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การระบายข้าวเปลือกหอมมะลิในปี 49 กระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาการปลอมปนและเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในโครงการรับจำนำของรัฐบาล ด้วยการเสนอให้มีการเปิดประมูลขายข้าวหอมมะลิที่ยังอยู่ในสต๊อคของรัฐบาลในรูปแบบของข้าวเปลือกแทนการขายข้าวในรูปแบบข้าวสาร ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) ที่จะมีการประชุมในช่วงต้นเดือนก.พ.นี้

ที่มา มติชน
เพรซิเดนท์ฯจ่อ ซิวข้าว 7 แสนตัน เบียด ' ไชยพร ' [1 ก.พ. 49]

           นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประมูลข้าวขาวในสต็อกที่ได้จากโครงการรับจำนำประมาณ 7 แสนตัน เมื่อวันที่ 31 ม.ค. มีผู้ยื่นซองประกวดราคาที่ผ่านหลักเกณฑ์จำนวน 8 ราย จาก   10  ราย   บริษัทที่เสนอซื้อสูงสุดได้แก่ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง   เสนอซื้อข้าวรวมทั้งหมด   7.06 แสนตัน มูลค่า 208 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8,320 ล้านบาท เฉลี่ยตันละ 295 เหรียญสหรัฐ โดยเสนอซื้อข้าวทุกชนิดรองลงมา   บริษัท ข้าวไชยพร เสนอซื้อข้าวขาว 5% รวม 2.37 แสนตัน มูลค่า 69 ล้านเหรียญสหรัฐ   เฉลี่ยตันละ   293 เหรียญสหรัฐ บริษัท ซีพี อินเตอร์เทรด เสนอซื้อข้าวขาว 5% รวม 7.1 หมื่นตัน มูลค่า   20  ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัท เจียเม้ง จำกัด เสนอซื้อข้าวขาว 5% รวม 6.94 หมื่นตัน มูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น

           ทั้งนี้   คณะกรรมการพิจารณาการประกวดราคาจะเรียกเอกชนมาต่อรองราคา   โดยยึดหลักการผู้เสนอราคาและปริมาณดีที่สุดเป็นเกณฑ์ จากนั้นจะเสนอให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว ( กนข.) พิจารณาอนุมัติ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

อคส.เทหอมมะลิ ประมูล 2.4 พันตัน เปิดซอง 6 กุมภานี้ [31 ม.ค. 49]
         
        รองผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า(อคส.)เปิดเผยว่าขณะ นี้ อคส.ได้ประกาศประกวดราคาขายข้าวสารหอมมะลิที่เก็บรักษาไว้ในคลังสินค้า 2 ราษฎร์ บูรณะ โดยวิธียื่นซองประกวดราคาจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,408 ตัน โดยแบ่งออกเป็น ข้าวสารหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ปี 2545/46 ประมาณ 1,874 ตัน ข้าวสารหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ปี 2546/47 ปริมาณ 520 ตัน และข้าสารหอมมะลิ 100% ปี 2546/47 ประมาณ 14 ตัน

ที่มา แนวหน้า

พาณิชย์ไฟเขียวระบายข้าวบิ๊กล็อต จับตายื่นประมูล 31 ม.ค. [28 ม.ค. 49]
            นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ อนุมัติให้ระบายข้าวสารในสต๊อคของรัฐบาล จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2547/48 และข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2548 ซึ่งประกอบด้วย ข้าวขาว 5% ข้าวขาว 15% และข้าวขาว 25% รวมทั้งสิ้น 700,000 ตัน ซึ่งเป็นล็อตสุดท้ายในสต๊อคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยให้การค้าข้าวเป็นไปตามกลไกปกติ เนื่องจากในระยะนี้การซื้อขายข้าวเปลือกนาปีภายในประเทศอยู่ในภาวะตึงตัว โดยข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2548/49 ในมือเกษตรกรออกสู่ตลาดเกือบหมดแล้ว ขณะที่ข้าวนาปรังฤดูการผลิตปี 2549 ยังไม่ออกสู่ตลาดรวมถึงราคาซื้อขายข้าวสารส่งออกในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการในตลาดยังมีอีกมาก

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
จับตา ข้าวนาปรังปี 49 ผลผลิตเพิ่ม แต่ราคายังสวิง   [27 ม.ค. 49]
              สศก. เผย ผลผลิตข้าวนาปรังปี 49 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.72 ส่งผลราคาไม่หวือหวาเหมือนปี 48 แต่ผลผลิตประเทศคู่แข่งลดลง บวกกับภัยพิบัติในหลายภูมิภาคของโลก อาจทำให้ความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น แนะรัฐเร่งระบายสต๊อกสู่ต่างประเทศ ก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด

ที่มา สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
พาณิชย์ชง กนข.ไฟเขียวระบายข้าว [25 ม.ค. 49]

            " พาณิชย์" ชง กนข.ระบายข้าวเปลือกระหว่างรับจำนำ กำหนดเงื่อนไขเพื่อส่งออกอย่างเดียว ระบุ ราคาต้องไม่น้อยกว่าราคาจำนำ หวังดันราคาตลาดพุ่ง หลังโรงสีไม่มีพื้นที่เก็บ ชี้ปริมาณข้าวเข้าโครงการจำนำแล้ว 4 ล้านตัน จับตาเวียนเทียนจำนำซ้ำหลังระบายออก

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

ตั้งเป้าส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน รัฐเร่งจับมือเอกชนเปิดตลาด [24 ม.ค. 49]

          อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในปีนี้กรมการค้าต่างประเทศได้ตั้งเป้าหมายส่งออกข้าวของประเทศไทยไว้ที่ 7.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนตัน เมื่อเทียบกับการส่งออกข้าวไทยในปี 2548 ซึ่งประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวไปขายยังตลาดต่างประเทศได้ถึง 7.3 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,300-2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเมินราคาข้าวยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เร่งจับมือภาคเอกชนผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ้น

ที่มา ผู้จัดการรายวัน 

คน. นำร่องสร้างแบรนด์ข้าวหอมมะลิ “ ภูรุ้ง ” [23 ม.ค. 49]

          กรมการค้าภายในนำร่องออกใบรับรองคุณภาพข้าวหอมมะลิตรา “ ภูรุ้ง ” ในจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อยืนยันขั้นตอนและแหล่งผลิตในพื้นที่ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเตรียมขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ต่อไป

ที่มา ผู้จัดการรายวัน 

ข้าวเวียดนามกวาดเกลี้ยงตลาดเอเชีย ทั้งมาเลย์-สิงคโปร์เซ็นแล้ว 8 แสนตัน [23 ม.ค. 49]

           เวียดนาม ระบุขณะนี้ผู้ส่งออกรายใหญ่ของเวียดนามเตรียมส่งออกข้าวจำนวน 5 แสนตันในไตรมาสแรกของปี โดยมีตลาดรับซื้อสำคัญคือ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและคิวบา จากนั้นในไตรมาสที่ 2 จะส่งออกข้าวเพิ่มเติมจำนวน 3 แสนตัน นอกจากนี้ยังเตรียมเข้าร่วมการประกวดราคาในต้นเดือน ก.พ. เพื่อแข่งขันโควตาส่งออกจำนวน 4 แสนตันที่ฟิลิปปินส์ โดยเชื่อมั่นว่าจะประสบผลสำเร็จ เนื่องจากได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิตและคุณภาพข้าวที่ดี

ที่มา ผู้จัดการรายวัน  

ไนจีเรียยอมทบทวนภาษีข้าวนึ่งไทย [20 ม.ค. 49]

      " ปรีชา" ระบุไนจีเรียรับปาก ทบทวนภาษีนำเข้าข้าวไทย ชี้ระบบภาษีดันต้นทุนนำเข้าข้าวนึ่งไทย แข่งอินเดียยาก ส่วนแบ่งตลาดลดเหลือ 50% เตรียมหารือเอกชนคำนวณราคาแท้จริง

          ปัจจุบันข้าวนึ่งของไทยส่งออกไปไนจีเรียในราคาตันละ 365 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ข้าวนึ่งของอินเดียอยู่ที่ 335 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อคิดภาษีนำเข้าที่อัตรา 118% แล้ว ทำให้ต้นทุนการนำเข้าข้าวนึ่งของไทยสูงกว่าอินเดีย ทำให้ส่วนแบ่งข้าวไทยลดเหลือ 50% จากที่ไทยส่งข้าวนึ่งมาไนจีเรียปีละ 1 ล้านตัน หรือ 199.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2547 มีส่วนแบ่งกว่า 80%


ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

จับทุจริตข้าวภาคอีสาน [20 ม.ค. 49]

           กรมการค้าภายใน ระบุ ได้มอบหมายให้ผู้ว่าฯ จัดเกรดโรงสีที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลการเฝ้าระวังการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปี 2548/49 รวมทั้งจัดกำลังคนเฝ้าระวังโรงสีที่มีพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ 10 จังหวัดในภาคอีสาน

ที่มา ไทยรัฐ

ข้าวขาวไทยพ่ายเวียดนามยับ ญวนส่งออกนำลิ่ว 5.2 ล้านตัน [11 ม.ค. 49]

          ส่งออกข้าวขาวไทยวิกฤติหนัก เวียดนามแย่งส่วนแบ่งตลาดไปครอง เผยปี 48 ญวนฮุบตลาดข้าวขาวได้มากถึง 5.2 ล้านตัน ไทยเจ้าตลาดทำได้แค่ 2.78 ล้านตัน เหตุราคาข้าวไทยแพงกว่า จี้รัฐรับมือก่อนเวียดนามบุกหนัก ส่วนข้าวนึ่ง-ข้าวหอมไร้คู่แข่งตลาดยังไปได้สวย

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

รัฐเล็งเพิ่มราคาจำนำข้าวปทุมฯ แยกจัดเกรดใหม่ใช้นาปรังปีนี้ [10 ม.ค. 49]

         " ก.พาณิชย์" เตรียมเพิ่มชั้นคุณภาพ ข้าวหอมปทุมธานีรับจำนำ เริ่มใช้ฤดูกาลการผลิตนาปรัง 2549 หลังพบปัญหาข้าวไม่ได้คุณภาพ ถูกลดเกรดไปจำนำในราคาเดียวกับข้าวขาว โดยที่ประชุมเห็นว่าราคารับจำนำ ข้าวหอมปทุมธานี ควรมีราคาสูงกว่าข้าวเปลือกขาวธรรมดา จึงควรมีการกำหนดมาตรฐานข้าวหอมปทุมธานี ในการรับจำนำเป็นข้าวหอมปทุมธานี 5% ข้าวหอมปทุมธานี 10% และข้าวหอมปทุมธานี 100% จากเดิมที่มีการกำหนดรับจำนำเป็นภาพกว้างว่า เป็นข้าวหอมปทุมธานีเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะนำมาตรฐานดังกล่าว มาใช้ในการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลการผลิต 2549 ทั้งนี้ ในการกำหนดราคารับจำนำข้าวหอมปทุมธานี จะมีการพิจารณาอีกครั้งว่า ข้าวแต่ละเกรดควรมีราคาเท่าใด ซึ่งจะดูจากราคาข้าวในตลาดในขณะนั้น แต่ราคารับจำนำ จะต้องสูงกว่าราคาข้าวเปลือกเจ้า

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

ปรีชารุกไนจีเรียลดภาษีข้าวนึ่ง พาณิชย์ขู่ยื่นฟ้องดับบลิวทีโอ [9 ม.ค. 49]

         " ปรีชา" รุกเจรจา ไนจีเรียลดภาษีข้าว หลังประเมินภาษีไทยดันราคาสูงกว่าคู่แข่ง 10 ดอลลาร์สหรัฐ ขู่เมินแก้ไขยื่นฟ้องดับบลิวทีโอ

          ทั้งนี้ ไนจีเรียกำหนดให้ราคาประเมิน เพื่อคำนวณภาษีข้าวของไทยเพิ่มขึ้น ตันละ 135 ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ตันละ 365 ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมตันละ 230 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเมินข้าวของอินเดียเพียงตันละ 130 ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ตันละ 335 ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมตันละ 205 ดอลลาร์สหรัฐ ในอัตราภาษีนำเข้าที่เท่ากันที่ 118% ส่งผลให้ข้าวไทยมีราคาสูงกว่าข้าวของอินเดียมาก และเสียเปรียบในการแข่งขัน

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

สรุปปี 48 ไทยส่งออกข้าวพลาดเป้า [9 ม.ค. 49]
           สรุปปี 48 ไทยส่งออกข้าว ได้แค่ 7.2 ล้านตัน จากเป้า 8.5 ล้านตัน ทำเงินหายเฉียด 20,000 ล้านบาท ผู้ส่งออกหวั่นปีนี้ขายยาก เหตุราคาพุ่ง ลูกค้าแห่ซบเวียดนาม แต่กรมการค้าต่างประเทศเชื่อขายได้แน่ เพราะราคา 2 ประเทศห่างกันไม่มาก ตั้งเป้าปี 49 ส่งออกได้ 7.5-8 ล้านตัน
       
ที่มา ผู้จัดการรายวัน  
ชง กนข.เปิดประมูลข้าวยกล็อตตั้งเงื่อนไขกันครหา [4 ม.ค. 49]

          ก.พาณิชย์ ระบุ เตรียมเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติอนุมัติให้เปิดประมูลข้าวที่รัฐบาลได้รับจำนำไว้ทั้งหมด ในลักษณะการประมูลขายข้าวล่วงหน้า และจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ กลางและย่อยได้ประมูลอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อป้องกันปัญหาการล็อกสเปก คาดว่าจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น

ที่มา ผู้จัดการรายวัน

back to previous page