www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ธ.ก.ส.จี้รัฐคืนหนี้จำนำข้าว 6 หมื่นล้าน


     นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลชำระคืนหนี้ที่ธนาคารในโครงการรับจำนำข้าวแทนรัฐบาล ซึ่งมีเม็ดเงินรวมเกือบ 6 หมื่นล้านบาท โดยกล่าวว่าเม็ดเงินที่ธนาคารเข้าไปรับจำนำข้าวเปลือกดังกล่าวได้ทำให้เกิดภาระต่อการกันสำรองตามมาตรฐานบัญชีใหม่หรือไอเอเอส 39 แก่ธนาคาร จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการชำระคืน เพื่อลดปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณหน้ารัฐบาลได้ตั้งงบประมาณในการชำระเงินกู้จากโครงการจำนำให้กับ ธ.ก.ส. เป็นวงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท

     "ปัจจุบันธนาคารมีภาระเงินกู้ในโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลต้องชำระหนี้คืนให้กับธนาคารประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นภาระหนี้ที่ค้างมาเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งข้าวที่ทำการรับจำนำเหล่านั้นปัจจุบันก็ยังอยู่ในโกดัง ทั้งนี้ในช่วงสมัยรัฐบาลที่แล้ว ราคาจำนำข้าวอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาตลาดมาก ทำให้มีเกษตรกรนำข้าวมาจำนำเป็นจำนวนมาก และไม่ยอมมาไถ่ถอน" นายธีรพงษ์ กล่าว

ตั้งวงเงินรับจำนำปีนี้ 2 หมื่นล้าน

     นายธีรพงษ์ กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารตั้งวงเงินรับจำนำข้าวเพิ่มอีกประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท แต่ขึ้นอยู่กับปริมาณข้าวที่ชาวนาจะนำมาจำนำ อย่างไรก็ตาม ธนาคารต้องการให้ตั้งเป็นเงื่อนไขว่าการชำระหนี้ค่าจำนำข้าวจะต้องชำระคืนแบบปีต่อปี หรืออย่างน้อยควรจ่ายคืนไม่ต่ำกว่า 80% ของค่ารับจำนำข้าว

     เขายังเห็นว่าเมื่อรับจำนำข้าวมาเก็บไว้แล้ว รัฐบาลควรมีนโยบายเร่งทยอยขายข้าวออกจากสต็อก เพราะยิ่งเก็บไว้นานเพื่อหวังว่าราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้น ยิ่งจะทำให้มูลค่าข้าวลดลงจากความเสื่อมของคุณภาพ ตามระยะเวลาที่ผ่านไป ดังนั้น การทยอยขายออก น่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องมากกว่า

     "การรับจำนำควรเป็นมาตรการเสริมในการยกระดับราคาข้าว หรือสินค้าการเกษตรอื่นๆ ไม่ควรใช้เป็นมาตรการหลัก แต่ในช่วงที่ผ่านมาได้ใช้การจำนำเป็นมาตรการหลัก โดยทำให้ราคาจำนำสูง ทำให้เป็นภาระต่อรัฐบาล นอกจากนี้ภาระในการดูแลข้าวที่รับจำนำ ไม่ควรจ้างเอกชนภายนอกมาดูแล ซึ่งเอกชนก็ไปจ้างคนต่างด้าว มาดูแลต่ออีกที ซึ่งวิธีนี้ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเหมือนเอาปลาย่างไปฝากแมว" นายธีรพงษ์ กล่าว

     รายงานข่าวจาก ธ.ก.ส. กล่าวว่า นโยบายการรับจำนำข้าวเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงของนักการเมืองที่มีประสิทธิภาพ เพราะทำให้ชาวนาได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการรับจำนำ หรือในบางกรณีโรงสีซึ่งเป็นหัวคะแนนให้กับนักการเมือง ก็เป็นเครือข่ายของการหาเสียง โดยให้ราคาข้าวที่เกษตรกรนำมาขายในราคาที่สูง เพื่อซื้อความนิยมให้กับนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง

เผยตั้งแต่ปี 2542 รับจำนำ 21 โครงการ

     ขณะที่แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส.รายหนึ่ง กล่าวว่าโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตรของรัฐบาลที่ธ.ก.ส.ต้องเข้าร่วมปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรตั้งแต่ปี 2542-2547 มีจำนวน 21 โครงการ อาทิเช่น โครงการรับจำนำข้าวเปลือก โครงการรับจำนำลูกเดือย โครงการรับจำนำกุ้ง เป็นต้น มีวงเงินที่ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อเป็นเงินกู้จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท และดอกเบี้ยอีกจำนวน 5 พันล้านบาท รวมวงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท ในแต่ละโครงการส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการที่ขาดทุน โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเปลือก

     อย่างไรก็ตาม วงเงินสินเชื่อที่ ธ.ก.ส.ปล่อยให้กับโครงการรับจำนำต่างๆ วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาทนั้น ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้ขอตั้งวงเงินชดเชยจากการเข้าไปดำเนินโครงการต่างๆ มาแล้วจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้รับการอนุมัติไปแล้ว ซึ่งกำหนดที่จะจ่ายชดเชยให้กับ ธ.ก.ส.เป็นเวลา 5 ปี แต่ปรากฏว่าในขณะนั้น ธ.ก.ส.ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก่อน

     แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อมาถึงสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้อนุมัติเงินชดเชยให้ ธ.ก.ส.ในปีงบประมาณ 2550 จำนวน 2.2 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณเดียว โดยวงเงินชดเชยจำนวนดังกล่าว ธ.ก.ส.ได้รับการชดเชยแล้ว

จี้รัฐจ่ายชดเชยปี 48-50 อีก 2.8 หมื่นล้าน

     อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรในระหว่างปี 2548-2550 อีกประมาณ 3 โครงการ จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท เป็นต้น และดอกเบี้ยอีกจำนวน 9,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส.เสนอขอชดเชยจากรัฐบาลในปีงบประมาณ 2551 แต่ได้รับการอนุมัติเงินชดเชยเพียง 1.073 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าในปีงบประมาณ 2552 จะได้รับการชดเชยส่วนที่เหลือ

     แหล่งข่าวกล่าวว่า โครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรในฤดูการของการผลิตปี 2550/2551 เป็นโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ซึ่งจะสิ้นโครงการรับจำนำวันที่ 1 พ.ย. 2550 เบื้องต้น ธ.ก.ส.ได้ปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการดังกล่าวไปกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายชดเชย ธ.ก.ส. โดยสินเชื่อดังกล่าวก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ ธ.ก.ส.เข้ามาปล่อยสินเชื่อโครงการจำนำ

     "การกันสำรองตามมาตรฐานบัญชีใหม่หรือไอเอเอส 39 ซึ่งต้องตั้งสำรองหนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เชื่อว่า ธ.ก.ส. คงไม่ได้รับผลกระทบจากหนี้ที่เกิดจากโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร เพราะเป็นโครงการของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลต้องตั้งงบชดเชยให้ ธ.ก.ส. แม้ว่าจะใช้วิธีทยอยจ่ายชดเชยให้ ที่สำคัญเรื่องนี้รัฐบาลควรเร่งจ่ายชดเชยเพื่อไม่ให้เกิดหนี้สะสม"

ระบายสินค้าช้าต้นเหตุสะสมหนี้

     แหล่งข่าวกล่าวว่าโครงการรับจำนำที่เกิดขึ้น เป็นโครงการที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลทั้งสิ้น ที่ต้องการให้ ธ.ก.ส.เข้าไปแทรกแซงราคาสินค้า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ทุกครั้งที่มีโครงการรับจำนำสินค้าที่รับจำนำราคาสูงกว่าราคาตลาดประมาณ 10-20% แต่เมื่อรัฐบาลขายออกกลับได้ราคาต่ำกว่าราคารับจำนำเป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญการตั้งวงเงินจ่ายชดเชยก็ล่าช้า เนื่องจากสินค้าที่เกิดจากโครงการรับจำนำ เวลาประมูลออกจำหน่ายก็ล่าช้ามาก จึงเป็นเหตุทำให้เกิดยอดจ่ายชดเชยสะสมมาตลอด

     แหล่งข่าวจากสำนักงบประมาณ กล่าวว่าการตั้งงบประมาณชดเชยหนี้โครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตรให้กับ ธ.ก.ส.นั้น ในทุกปีงบประมาณ สำนักงบจะตั้งงบชดเชยให้ทุกปีๆ ละ 2,000-3,000 ล้านบาท เพียงแต่ไม่ได้ตั้งชดเชยจ่ายเต็มมูลหนี้ เนื่องจากงบประมาณบางส่วนถูกจัดสรรไปใช้กับโครงการอื่นๆ หากเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะให้สำนักงบตั้งจ่ายชดเชยให้กับ ธ.ก.ส.เต็มวงเงิน ก็สามารถดำเนินการได้ เพียงแต่รัฐบาลต้องพิจารณาว่าจะให้ความสำคัญกับการจ่ายหนี้โครงการใด หรือการลงทุนพัฒนาด้านอื่นๆ

     หนี้ค้างชำระเก่าของรัฐบาลชุดเก่า ก่อนหน้านี้ได้ตั้งงบประมาณปี 2550 วงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท เพื่อจ่ายชดเชยแล้ว ประกอบด้วย

1. หนี้ค้างชำระของกระทรวงเกษตรฯ เช่น หนี้ค้างชำระคืนกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรของกรมปศุสัตว์ 2,264 ล้านบาท หนี้ค้างชำระคืนกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ 1,236 ล้านบาท

2. หนี้ค้างชำระของกระทรวงแรงงาน สำหรับเงินอุดหนุนสมทบกองทุนประกันสังคม 20,644 ล้านบาท

3. หนี้ค้างชำระของกระทรวงศึกษาธิการ เงินค่าวิทยฐานะของครู 8,845 ล้านบาท

4. หนี้ค้างชำระของรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง รวม 31,638 ล้านบาท ได้แก่ หนี้ค้างจ่ายที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) จำนวน 23,079 ล้านบาท ซึ่งจำนวนหนี้ค้างเก่าที่เกิดจากการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ในอดีตจนถึงฤดูกาลของการผลิตปี 2546/2547

     นอกจากนี้ ยังมีหนี้ค้างจ่ายชดเชยขาดทุนและดอกเบี้ยจากโครงการแทรกแซงตลาดยางพารา 8,294 ล้านบาท หนี้ค้างชำระคืนกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรขององค์การคลังสินค้า วงเงิน 264 ล้านบาท และหนี้ค้างชำระให้กองทุนและเงินหมุนเวียน เช่น ค่าใช้จ่ายชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง วงเงิน 13,158 ล้านบาท จึงต้องตั้งงบประมาณชำระหนี้ที่เหลืออีก 16,213 ล้านบาท ในปี 2551-2552 ที่เหลือคือค่าบริการทางการแพทย์ของกองทุนประกันสุขภาพ วงเงิน 7,761 ล้านบาท

     อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีอีกหลายโครงการที่ต้องตรวจสอบว่าขาดทุนเท่าไร และต้องตั้งงบประมาณชดเชย เช่น โครงการรับจำนำลำไยที่ยังมีสต็อกคงค้าง และโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลของการผลิตปี 2547/2548 และ 2548/2549 จากการประเมินสต็อกเบื้องต้นที่มีกว่า 3 ล้านตัน คาดว่าจะขาดทุน 1.8 หมื่นล้านบาท

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
The Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.