ผลการประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลจำนวน 511,730 ตันเพื่อการส่งออก เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมานี้ แบ่งเป็นข้าวขาว 5% ตามโครงการรับจำนำนาปรังปี 2549 จำนวน 409,989 ตัน มีผู้เสนอราคา 13 ราย เสนอราคาระหว่าง 9,350-10,500 บาท/ตัน โดยผู้เสนอราคาสูงสุดได้แก่ บริษัทตังฮั้วค้าข้าว เสนอซื้อในปริมาณ 87,395.986 ตัน ด้วยราคาสูงสุด 10,300-10,500 บาท/ตัน
ขณะที่ผู้เสนอซื้อปริมาณสูงสุดยกลอตมี 4 ราย ได้แก่ บริษัทแคปปิตัลซีเรียลส์ ราคา 10,070-10,210 บาท/ตัน, บริษัทพงษ์ลาภ ราคา 10,000-10,200 บาท/ตัน, บริษัทไชยพรไรซแอนด์ฟู้ดโปรดักส์ ราคา 10,120 บาท/ตัน และบริษัทเอเชีย โกลเด้นท์ไรซ์ ราคา 10,100 บาท/ตัน
ส่วนผลการเปิดซองเสนอราคานาปีปีผลิต 2549/50 จำนวน 101,740 ตัน เพื่อการส่งออก ปรากฏมีผู้เสนอราคา 11 ราย เสนอราคาระหว่าง 9,300-10,460 บาท/ตัน โดยมีผู้เสนอซื้อยกลอต 4 ราย ได้แก่ บริษัทไชยพรไรซแอนด์ฟู้ดโปรดักส์ ให้ราคาสูงสุดที่ 10,460 บาท/ตัน, บริษัทพงษ์ลาภ ราคา 10,300-10,400 บาท/ตัน, บริษัท แคปปิตัลซีเรียลส์ ราคา 10,300-10,380 บาท/ตัน และบริษัทเอเชีย โกลเด้นท์ไรซ์ ราคา 10,350 บาท/ตัน
อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงการค้าข้าวว่า การเปิดประมูลครั้งนี้รัฐบาลไม่ควรมองราคาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องตรวจสอบข้อมูลของบริษัทบางรายที่เข้าร่วมประมูลด้วย เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่าการประมูลครั้งนี้ "อาจจะ" มีการใช้ "ร่างทรง" หรือ "นอมินี" ของบริษัทที่ถูกแบล็กลิสต์แฝงเข้ามาซื้อข้าว เนื่องจากบริษัทที่ถูกแบล็กลิสต์ไม่สามารถหาแบงก์ค้ำประกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายการประมูลซื้อข้าวเก่าที่มีการให้ราคาสูงกว่าราคาตลาดอยู่ถึง 10,130-10,170 บาท/ตันเลยทีเดียว
"ผู้ส่งออกรายดังกล่าวมีความจำเป็นต้องการข้าวมากหรือมีออร์เดอร์ไว้แล้วจึงเสนอราคาสูงดึงราคาข้าวจนคนในวงการข้าวต่างแปลกใจ เพราะปกติบริษัทนี้จะเสนอซื้อข้าวเพียงในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกับบริษัทเท่านั้น แต่ในการประมูลครั้งนี้เสนอซื้อถึง 3 คลัง แต่เลือกพื้นที่ใกล้เคียงกันคือ สุพรรณบุรี ชัยนาท และราชบุรี คงเป็นเพราะต้องการลดค่าขนส่งที่ใกล้พื้นที่ของบริษัทแม่หรือไม่"
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|