นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติว่าด้วยการตลาด เห็นชอบให้มีการแทรกแซงข้าวนาปีฤดูกาลผลิต 2550/2551 เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 9 ต.ค. 2550 โดยเสนอให้มีการแทรกแซงราคาข้าวปริมาณ 8 ล้านตันข้าวเปลือก ระยะเวลารับจำนำในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2550- 29 ก.พ. 2551 และภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-31 พ.ค. 2551 และมีระยะเวลาไถ่ถอน 3-4 เดือน ใช้วงเงินประมาณ 2.5 พันล้านบาท
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการมอบหลักการให้ฝ่ายเลขานุการไปกำหนดราคารับจำนำที่ควรจะเป็น โดยให้คำนึงถึงผลกำไรที่เกษตรกรจะได้รับจากการลงทุนในอัตราพอสมควร รวมทั้งเป็นราคารับจำนำที่ใกล้เคียงราคาตลาดและใกล้เคียงกับแนวโน้มราคาในอนาคต และราคารับจำนำต้องไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว ซึ่งราคารับจำนำที่จะเสนอ กขช.จะไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว และให้หารือภาคเกษตรกรด้วยเพื่อเสนอ กขช.ในวันที่ 9 ต.ค. 2550
ราคารับจำนำข้าวหอมมะลิปีที่แล้ว รับจำนำตันละ 8,900-9,000 บาท ข้าวนาปีตันละ 6,400 บาท ข้าวหอมจังหวัดตันละ 8,000-8,200 บาท ส่วนราคาตลาดเฉลี่ยในปัจจุบันของข้าวหอมมะลิตันละ 9,000-9,200 บาท ข้าวเจ้านาปีตันละ 6,000-6,500 บาท ข้าวหอมจังหวัดตันละ 8,000-8,200 บาท
นายเกริกไกร กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ รัฐบาลยังจำเป็นต้องแทรกแซงข้าวในรูปของการรับจำนำต่อไป เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ควรรับจำนำในราคาที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดเท่าที่จำเป็น ในช่วงท้ายปีที่ 5 หากระบบมีประสิทธิภาพไม่จำเป็นต้องแทรกแซงอีกต่อไป โดยต่อไปจะใช้กลไกของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเข้ามาแทนการรับจำนำ
การระบายข้าวได้เปิดซองประมูลให้เอกชน 1.5 ล้านตัน จำหน่ายแบบรัฐต่อรัฐ (จี ทู จี) 700,000 ตัน จำหน่ายแบบค้าต่างตอบแทน 50,000 ตัน จำหน่ายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า 50,000 ตัน รวม 2.3 ล้านตัน ส่งผลให้ข้าวในสต็อกรัฐบาลเหลือ 3.6 ล้านตัน โดยกระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าการส่งออกข้าวปีนี้ จะมีปริมาณ 8 ล้านตันขึ้นไป และถ้าผู้นำเข้าสามารถจัดหาเรือมารับข้าวได้เป็นปกติเหมือนที่ผ่านมา จะทำให้มีโอกาสที่จะส่งออกข้าวได้ถึง 9 ล้านตัน เพราะยังมีความต้องการในหลายตลาด เช่น แอฟริกา
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|