รัฐบาลอิหร่านประกาศแบล็กลิสต์ "เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง" สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้ส่งออกไทยรายแรกที่ถูกห้ามส่งออกไปอิหร่าน หลังผิดสัญญาไม่ส่งมอบข้าวที่ชนะการประมูล ด้าน นครหลวงค้าข้าว (STC) มั่นใจไม่กระทบผู้ส่งออกข้าวรายอื่น เผยอิหร่านเตรียมสั่งซื้อข้าวอีก 2 แสนตันภายในปี 2550
ภายหลังจากกรมการค้าต่างประเทศ ออกแถลงข่าวว่า ได้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหา ยักยอกทรัพย์กับบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา เนื่องจากข้าวที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) ส่งให้บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ปรับปรุงเพื่อส่งมอบรัฐบาลอิหร่านและอินโดนีเซีย ณ โกดังไทยซูการ์ จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 33,000 ตัน หายไป ซึ่งจนขณะนี้ยังไม่พบว่าข้าวดังกล่าวหายไปที่ไหน แต่ล่าสุดหน่วยงานจัดซื้อข้าวจากประเทศคู่สัญญาอิหร่านได้ประกาศขึ้นบัญชีดำบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริฯ แล้ว
นายนพดล ทองมี ผู้อำนวยการสำนักงาน ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เปิดเผยกับ " ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้หน่วยงาน Government Trading Corporation (GTC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงพาณิชย์อิหร่าน เป็นหน่วยงานที่ผูกขาดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศของอิหร่านได้แจ้งว่า ทาง GTC ประกาศขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด จริง เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการส่งมอบข้าวแก่หน่วยงาน ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
การติดแบล็กลิสต์ทำให้บริษัทเพรซิเดนท์ฯ ไม่สามารถส่งออกข้าวไปอิหร่านได้ เพราะโดยปกติแล้ว GTC จะนำเข้าข้าวขาว 100% เกรดสอง เนื่องจากเป็นการนำเข้ามาจำหน่ายเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยในประเทศเป็นหลัก เพราะในอิหร่านก็มีผู้ผลิตข้าวด้วยเช่นกัน แต่การนำเข้าจะทำตามการประมาณการของความต้องการภายในประเทศที่จะใช้บริโภคกับกำลังผลิตในแต่ละปี ซึ่งโดยปกติจำเป็นต้องนำ เข้าทุกปี ในปริมาณที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลอิหร่าน
อย่างไรก็ตามมีการประเมินว่า ในช่วงที่เหลืออีก 3 เดือนข้างหน้านี้ อิหร่านยังต้องสั่งซื้อข้าวจากไทยอีกประมาณ 200,000 ตันภายในปี 2550 นี้ โดยมีคู่แข่งที่สำคัญ คือเวียดนาม ซึ่งปัจจัยสำคัญในการเจรจาคือเรื่องของราคาของข้าวด้วย แต่ขณะนี้เวียดนามอยู่ในช่วงหยุดการส่งออกชั่วคราว สำหรับหน่วยงานเองได้กระทำการสั่งซื้อข้าวใน ปี 2550 ไปแล้ว จำนวน 540,000 ตัน โดยเป็น การนำเข้าในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (government to government) จำนวน 330,000 ตันและนำเข้าจากภาคเอกชนโดยตรงจำนวน 180,000 ตัน
ด้านนายวัลลภ พิชญ์พงศ์ศา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด (STC) ซึ่งเป็น หนึ่งในผู้ส่งออกข้าวไปอิหร่านเปิดเผยว่า กรณีการติดแบล็กลิสต์ ของบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของวงการส่งออกข้าวไปอิหร่าน แต่คงจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการ ส่งออกข้าวของไทย เนื่องจากกรณีเฉพาะของบริษัท และในแต่ละปีหน่วยงาน GTC จำเป็น ต้องสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าในช่วงปลายปีจะยังมีการส่งออกไปอิหร่าน เพราะขณะนี้คู่แข่งอย่างเวียดนามได้หยุดการส่งออกชั่วคราว แต่การตัดสินใจซื้อข้าวก็ยังขึ้นอยู่กับการแข่งขันด้านราคา
"กรณีนี้จะส่งผลดีกับบริษัทผู้ส่งออกข้าวไปอิหร่านรายอื่นๆ หรือไม่เพียงใด ก็คงเป็นไปตามภาวะตลาด ซึ่งบริษัทที่มีประสบการณ์ในการ ส่งออกข้าวอิหร่านมีเพียงไม่กี่ราย ซึ่งสัญญาการปรับปรุงข้าวส่งออกอิหร่านล่าสุดก็มีเพียง 6 บริษัท เท่านั้น เพราะรายที่ไม่มีประวัติการส่งออกก็ยังไม่สามารถส่งออกได้" นายวัลลภกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทที่มีคุณสมบัติสามารถปรับปรุงข้าวส่งมอบรัฐบาลอิหร่านได้ ร่วมกับผู้ส่งออกอีก 6 ราย คือ บริษัท แคปปิตอลซีเรียลส์ จำกัด (นครหลวงค้าข้าว) บริษัท ข้าวไชยพร บริษัท กรุงไทยพืชผล บริษัท เอเชียโกลเด้นท์ไรซ์ บริษัท พงษ์ลาภ บริษัทไทยฟ้า และบริษัทไทยมาพรรณ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ชนะการประมูลปรับปรุงคุณภาพข้าวซึ่งเปิดประมูลไป 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 ปริมาณ 200,000 ตัน และเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2550 ปริมาณ 100,000 ตัน
โดยในส่วนของบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ได้รับส่วนจัดสรรปรับปรุงคุณภาพข้าวอิหร่านตามสัญญาที่ 1 ปริมาณ 45,000 ตัน ด้วยราคา 1,322 บาทต่อตัน ตามสัญญาที่ 2 ปริมาณ 20,000 ตัน นั้น บริษัทได้ดำเนินการปรับปรุงข้าวอิหร่านตามสัญญาที่ 1 จำนวน 39,344 ตัน คงเหลือจำนวน 6,870 ตัน ตามสัญญาที่ 2 จำนวน 3,600 ตันคงเหลือ 17,000 ตัน
จนกระทั่งวันที่ 29 สิงหาคม 2550 บริษัทได้มีหนังสือแจ้งว่าไม่สามารถปรับปรุงคุณภาพข้าวเพื่อส่งมอบรัฐบาลอิหร่านได้ทันกำหนด จึงขอคืนปริมาณข้าวตามสัญญาที่ 1 จำนวน 6,870 ตัน และสัญญาที่ 2 จำนวน 730 ตัน กรมจึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาที่ 1 และริบเงินค้ำประกันมูลค่า 5,395 ล้านบาท และได้จัดสรรข้าวให้กับบริษัทส่งออกรายอื่นๆ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|