นายสุรพงษ์ ปราณศิลป์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวถึงกรณีกรมวิชาการเกษตรเตรียมทำข้อมูลการวิจัยและพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อเสนอที่ประชุม ครม.ให้ทบทวนยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2544 ที่ห้ามปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมในภาคสนาม ยกเว้นในโรงเรือนและห้องปฏิบัติการ ว่า กรมการข้าวมีจุดยืนชัดเจน ที่จะไม่นำเทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ มาใช้กับการพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทย เพื่อรักษาตลาดส่งออกข้าวไว้
เนื่องจากอาจทำให้ผู้นำเข้ากว่า 150 ประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่ต่อต้านพืชจีเอ็มโอ เกิดความระแวง ส่วนการเคลื่อนไหวของกรมวิชาการเกษตร น่าจะมาจากความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องวิจัยจีเอ็มโอกับพืชบางชนิดที่ไม่สามารถแก้ปัญหาโรคระบาดได้ เช่น มะละกอ แต่ข้าวไทยก็มีพันธุ์ต้านทานโรคแมลงศัตรูพืช และมีการศึกษาวิจัยโดยวิธีธรรมชาติในการผสมปรับปรุงพันธุ์มาโดยตลอด
นอกจากนี้ ไทยยังมีพันธุ์ข้าวดั้งเดิมมากกว่า 17,000 สายพันธุ์ ที่ได้มาจากวิธีผสมโดยธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการตัดต่อพันธุกรรม ดังนั้นจึงต้องอนุรักษ์ไว้ และไม่ดำเนินการทดลองจีเอ็มโอในข้าวไทยอย่างเด็ดขาด ซึ่งยุทธศาสตร์ข้าวไทยก็มีความชัดเจนในเรื่องนี้ด้วย
"กรมการข้าวมีจุดยืนชัดเจนที่จะไม่นำจีเอ็มโอมาใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวในประเทศไทย เพื่อรักษาตลาดส่งออกไว้ เพราะประเทศผู้นำเข้าส่วนใหญ่จะต่อต้านพืชจีเอ็มโอเกือบทุกชนิด ดังนั้นเราจำเป็นต้องรักษาตลาดหลักๆ ของเราไว้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศผู้ส่งออกข้าวคู่แข่ง เช่น เวียดนาม พร้อมจะชิงตลาดข้าวของเราได้ตลอดเวลา" นายสุรพงษ์ย้ำ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|