วงการค้าข้าวเปิดโปงกระบวนการส่งมอบข้าวอิหร่าน-อินโดนีเซีย "ล่องหน" กลางทางส่งไม่ถึงคลังเก็บข้าว ถึง 3.3 หมื่นตัน ระบุข้าวอิหร่านเกิดปัญหา " เปาเกา" กลางคัน โรงสีฟันค่าขนส่งฟรี-ส่วนต่าง ชี้ อคส.ต้องรับผิดชอบเต็มๆ กรณีส่งข้าวอินโดนีเซีย หากข้าวไปไม่ถึง โกดังเอกชน เหตุเป็นผู้ปล่อยสินค้าออกจากคลังเก็บข้าว เชื่อมีการสมคบทำให้ข้าวหาย แนะรัฐไล่ตรวจใบออกสินค้าต้นทางจากโรงสีที่ร่วมโครงการและโกดังเก็บข้าว
หลังจากที่กรมการค้าต่างประเทศได้เข้าตรวจสอบโกดังของบริษัท ไทยชูการ์ จำกัด จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโกดังของบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่พบข้าว จึงได้แจ้งความไว้ที่ สภ.อ.สำโรงใต้ ข้อหายักยอกทรัพย์ ซึ่งเป็นคดีอาญาและจะดำเนินคดีแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายด้วย พร้อมขอให้ตำรวจอายัดข้าวของเพรซิเดนท์ไว้แล้ว
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า กรณีการส่งมอบข้าวให้กับประเทศอิหร่าน เป็นข้าว 100% ชั้น 2 ซึ่งบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ได้รับการจัดสรรให้เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้กับอิหร่านจำนวน 2 สัญญา โดยสัญญาแรกจะต้องส่งออกในปริมาณ 45,000 ตัน ขณะนี้มีการส่งมอบแล้วจำนวน 39,344 ตัน คงเหลือข้าวที่ต้องส่งมอบอีกจำนวน 6,870 ตัน ส่วนสัญญาที่สอง ได้รับการจัดสรรให้ส่งมอบข้าวจำนวน 20,000 ตัน ได้ส่งมอบไปแล้ว 3,600 ตัน ซึ่งเหลือปริมาณข้าวที่ค้างส่งมอบอีกจำนวน 1.7 หมื่นตัน
นอกจากนี้ เพรซิเดนท์ยังได้รับการจัดสรรการส่งมอบข้าวให้กับประเทศอินโดนีเซีย เป็นข้าวขาว 15% อีกจำนวน 20,380 ตัน ขณะนี้ได้มีการส่งมอบไปแล้วจำนวน 10,100 ตัน เหลือข้าวที่เพรซิเดนท์ต้องส่งมอบตามสัญญาอีกจำนวน 10,280 ตัน โดยสัญญาส่งมอบข้าวให้กับทั้งสองประเทศนั้น เพรซิเดนท์ได้ทำสัญญาไว้กับกรมการค้าต่างประเทศ
เชื่อข้าวอิหร่านถูกกระบวนการ"เปาเกา"
แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามกระบวนการส่งมอบข้าวในส่วนของอิหร่านนั้น เป็นข้าวจากโครงการรับจำนำปี 2549/2550 และข้าวนาปรังปี 2550 ซึ่งอยู่ในคลังของโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งตามกระบวนการส่งมอบข้าวให้กับอิหร่าน หลังกรมการค้าต่างประเทศได้สัญญาส่งมอบข้าวจำนวนดังกล่าวในลักษณะจีทูจี ซึ่งเพรซิเดนท์เป็นผู้ส่งมอบข้าว
สำหรับขั้นตอนการส่งมอบข้าวนั้น เริ่มแรกจะให้โรงสีที่ร่วมโครงการ เป็นผู้ส่งมอบข้าวไปยังคลังสินค้าของเพรซิเดนท์ เมื่อไปถึงคลังของเพรซิเดนท์แล้ว จะมีหลายฝ่ายที่ร่วมรับผิดชอบประกอบด้วย 1. เจ้าหน้าที่ของ อคส.ประจำคลัง 2. จากบริษัทเซอร์เวเยอร์ที่ อคส.จ้างมา 3. เจ้าหน้าที่คลังสินค้าของเพรซิเดนท์ ทุกฝ่ายจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบการรับสินค้าเข้าคลัง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ อคส. ต้องเป็นผู้เซ็นรับสินค้าว่าข้าวที่ส่งมอบมานั้นมาจากโรงสีไหน จำนวนเท่าไหร่ ก่อนออกใบรับสินค้าให้โรงสีเพื่อไปขึ้นเงินที่ อคส.
กรณีดังกล่าวขณะนี้พบว่าข้าวหายไปจำนวน 23,870 ตัน มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากข้าวจำนวนดังกล่าวอาจไปไม่ถึงคลังของเพรซิเดนท์ แสดงว่าระหว่างทางที่มีการขนข้าวนั้น ข้าวได้หายไป ส่วนนี้ โรงสีที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ประเด็นดังกล่าว อคส.สามารถตรวจสอบได้ แต่สิ่งที่วงการค้าข้าวกำลังตั้งข้อสังเกตอยู่นั้น คือเกิด "เปาเกา" ขึ้นระหว่างทางหรือไม่ "เปาเกา" หมายถึง ไม่ได้มีการส่งมอบข้าวเข้าคลังเก็บข้าวจริง แต่มีโรงสีที่ร่วมโครงการสมคบกับผู้ส่งออกร่วมมือกันทุจริต หรืออาจเรียกว่ารับช่วงต่อ (Sub Contract) ซึ่งวิธีดังกล่าวโรงสีจะโอนเงินจำนวนเท่ากับปริมาณข้าวที่ส่งเข้าปรับปรุงสภาพข้าวให้ผู้ส่งออกรายนั้นๆ แล้วออกหนังสือรับรองให้แก่โรงสี ขณะที่ผู้ส่งออกอาจใช้ข้าวในคลังของตัวเองไปส่งออกแทน
โรงสีฟันค่าขนส่งฟรี-กินส่วนต่างเปาเกา
สำหรับโรงสีจะได้ค่าขนส่งข้าวจาก อคส.ฟรีๆ ตามระยะทางการขนส่ง และถ้าใช้วิธี " เปาเกา" ปัจจุบันราคาตลาดอยู่ที่ 1,020 บาทต่อกระสอบ แต่ราคา "เปาเกา" อยู่ที่ 1,080 บาท จะเกิดส่วนต่างของกำไรทันทีกระสอบละ 60 บาท ส่วนต่างตรงนี้โรงสีกับผู้ส่งออกสามารถหารสองได้ ดังนั้นกรณีการส่งมอบข้าวให้กับอิหร่าน หากเพรซิเดนท์ยืนยันว่าคลังสินค้าไม่ได้รับมอบข้าว กระบวนการที่เกิดขึ้น คงไม่แตกต่างไปจากประเด็นข้างต้น แต่หากข้าวเข้าไปยังคลังของเพรซิเดนท์จริง เจ้าหน้าที่ อคส.ประจำคลังบริษัทเซอร์เวเยอร์ และเจ้าหน้าที่คลังต้องรับผิดชอบ
สำหรับการส่งมอบข้าวให้กับอินโดนีเซีย กรมการค้าต่างประเทศยังคงเป็นคู่สัญญากับเพรซิเดนท์ ซึ่งตามขั้นตอนการรับส่งมอบข้าวเพื่อนำไปแปรสภาพยังคลังของเพรซิเดนท์นั้น ผู้รับมอบข้าวในโครงการนี้คือเพรซิเดนท์ ตามเงื่อนไขเพรซิเดนท์ต้องเป็นผู้รับภาระจัดหารถบรรทุกเพื่อไปขนข้าวยังคลังเก็บข้าวของรัฐบาล
ชี้อคส.ต้องรับผิดชอบข้าวอินโดฯล่องหน
ขณะที่เจ้าหน้าที่อคส.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบการปล่อยสินค้าออกจากคลัง เพื่อขนข้าว 25% และข้าว 5% ไปแปรสภาพยังคลังสินค้าของเพรซิเดนท์ เพื่อให้ได้ข้าว 15% เอกชนจะได้ค่าแปรสภาพข้าวตันละ 600-800 บาท ก่อนนำลงเรือส่งมอบให้กับอินโดนีเซีย ในส่วนของเจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศต้องเป็นผู้ประสานเพื่อนำสินค้าลงเรือ
อย่างไรก็ตาม หากมีการส่งข้าวไปเข้าคลังเอกชนจริง (คลังเพรซิเดนท์) จะต้องมีหนังสือเซ็นรับจากเจ้าหน้าที่คลังเพรซิเดนท์ แต่กรณีนี้กลับพบว่าข้าวที่ต้องส่งมอบให้กับอินโดนีเซียหายไปจำนวน 10,280 ตันนั้น ถ้ากระบวนการทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนจริงแต่ข้าวหายออกไป เจ้าหน้าที่คลังเพรซิเดนท์ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นคลังของเพรซิเดนท์เอง
แหล่งข่าวกล่าวว่า มีข้อสังเกตบางประการที่น่าสนใจ นั่นคือเมื่อผู้บริหารเพรซิเดนท์ยืนยันว่าไม่ได้รับมอบข้าว คลังเก็บข้าวมีไม่เพียงพอ นั่นหมายถึงว่าการส่งมอบข้าวให้กับอินโดนีเซียที่หายไป ไม่ได้มีการส่งมอบข้าวไปยังคลังเก็บข้าวจริงหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนี้ อคส.คงจะหนีความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะการเซ็นหนังสือข้าวออกจากคลังรับฝากของรัฐ เจ้าหน้าที่ อคส.ต้องเป็นผู้เซ็นออกสินค้า หรือหากออกไปจากคลังเก็บสินค้าต้นทางจริง ระหว่างทางขนข้าวแล้วข้าวหายไปไหน ตรงนี้ผู้ส่งออกต้องรับผิดชอบ แต่หากมีการสมรู้ร่วมคิดทำให้ข้าวหายก็ต้องตรวจสอบกัน
วงการค้าข้าวฟันธงข้าวล่องหนส่งไม่ถึงคลัง
ดังนั้นประเด็นสำคัญการส่งมอบข้าวให้กับอินโดนีเซียครั้งนี้ ความผิดชอบอยู่ที่ อคส.ส่วนจะหายไปไหนอย่างไร อยู่ที่กระบวนการตรวจสอบ ทุกขั้นตอนสามารถตรวจสอบได้ทั้งสิ้น "การส่งมอบข้าวให้กับอิหร่านและอินโดนีเซีย มีประเด็นที่น่าสงสัยอยู่ 2-3 ประเด็นหลักๆ คือ 1. ไม่ได้มีการส่งมอบข้าวไปยังคลังสินค้าจริง 2. มีการนำข้าวขายระหว่างทาง 3. มีการสมคบกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน แต่ทุกประเด็นที่เกิดขึ้น ทั้ง อคส. กรมการค้าต่างประเทศ และเพรซิเดนท์ ต้องรับผิดชอบ เรื่องข้อเท็จจริงอยู่ที่การตรวจสอบเท่านั้น" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ นำข้าวที่เพรซิเดนท์ไม่รับมอบจากโครงการที่ประมูลได้ก่อนหน้านี้จำนวน 1.9 ล้านตัน โดยกระทรวงพาณิชย์นำออกมาเปิดประมูลขายให้กับผู้ส่งออกเมื่อเร็วๆ นี้นั้น จำนวน 558,598 ตัน เป็นข้าวขาว 5% ปริมาณ 45,103 ตัน เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ และข้าวขาว 5% ปริมาณ 513,495 ตัน เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ทั้งสองส่วนเป็นข้าวจากสต็อกรัฐบาล ที่ได้จากโครงการรับจำนำปี 2547/2548 และน่าจะเป็นข้าวที่รัฐบาลยึดมาจากเพรซิเดนท์
ปูดรัฐเจ๊งกว่า 2 พันล้านเร่ขายข้าว
ก่อนหน้านี้ เพรซิเดนท์สามารถชนะการประมูลข้าวในจำนวนดังกล่าวจากรัฐบาลตันละ 10,000 บาท ดังนั้นหากการประมูลครั้งนี้รัฐบาลสามารถประมูลได้ในราคาสูงสุด 8,900 บาทต่อตัน เท่ากับว่ารัฐขาดทุนไปแล้วตันละ1,100 บาท ดังนั้นข้าวจำนวน 558,598 ตันที่ประมูลขายครั้งนี้ เชื่อว่ารัฐจะต้องขาดทุนไม่ต่ำกว่า 614 ล้านบาท ดังนั้นหากต้องนำข้าวทั้ง 1.9 ล้านตันออกมาประมูลขาย เชื่อว่าจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมค่าเสียโอกาสและค่าการจัดการที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม กรณีที่กระทรวงพาณิชย์เรียกร้องให้เพรซิเดนท์ จ่ายในส่วนที่รัฐบาลขาดทุน เชื่อว่าเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการ เพราะเรื่องนี้เป็นที่รู้กันในวงการค้าข้าวว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำไมปล่อยให้มีการเปิดประมูลรับซื้อข้าวรัฐบาลในราคาสูงกว่าท้องตลาดอย่างผิดปกติ ดังนั้นหนทางสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องแบกรับภาระขาดทุนกับข้าวที่นำออกมาประมูลครั้งนี้แน่นอน
"ที่สำคัญขณะนี้มีการล็อกข้าวประมูลจำนวนหนึ่งให้กับผู้ส่งออกแล้ว เห็นได้จากการประกาศเปิดประมูลข้าวก็ทำในระยะเวลาสั้นๆ การประมูลเมื่อเร็วๆ นี้มีพ่อค้าข้าวบางคนไม่ได้เป็นผู้ส่งออก แต่เข้าร่วมประมูลเพื่อขายข้าวในประเทศ ปรากฏว่าถูกกีดกันอยู่พอสมควรที่จะไม่ให้เข้าร่วม แต่เมื่อผู้ประมูลยกเงื่อนไขขึ้นมาสู้ว่าประมูลขายในประเทศ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องรับให้เข้าร่วมประมูล ซึ่งมีการล็อกข้าวที่จะให้ใครอยู่แล้ว" แหล่งข่าวกล่าว
หวั่นประมูลข้าวล่าสุดฉุดราคาในประเทศทรุด
แหล่งข่าวระบุว่า กาารประมูลข้าวกว่า 5 แสนตันของกระทรวงพาณิชย์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นการส่งสัญญาณผิดๆ ต่อตลาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวท้องถิ่นในทันที โดยเมื่อวันศุกร์ (7 ก.ย.) หลังการประมูลข้าววันเดียว ราคาข้าวสารขัดสี 5% ซึ่งเป็นข้าวส่วนใหญ่ที่กรมการค้าต่างประเทศนำออกมาประมูล ลดลงมาอยู่ที่ 1,020 บาทต่อตัน จากเดิมที่ 1,040 บาทต่อตัน หลังการประมูลผู้ยื่นประมูลเสนอราคาซื้อข้าวชนิดนี้ที่ 8,300-8,900 บาทต่อตัน เทียบกับราคาเฉลี่ยในตลาดที่ 10,350 บาทต่อตัน แสดงว่า ราคาประมูลต่ำระดับนี้จะสร้างแรงกดดันต่อราคาข้าวในประเทศลดต่ำลงทันที
ทั้งนี้ ข้าวที่นำมาประมูล เป็นข้าวที่ยึดมาจากเพรซิเดนท์ที่ชนะประมูลเมื่อปี 2548 แต่ไม่สามารถขนข้าวออกจากโกดังรัฐบาลได้ ซึ่งตามเงื่อนไข กระทรวงพาณิชย์จะได้รับค่าชดเชยจากส่วนต่างระหว่างราคาที่ผู้ชนะประมูลได้ (กรณีนี้อยู่ที่ตันละ 9,500-11,000 บาท) และราคาเสนอซื้อ เมื่อนำข้าวออกประมูลรอบใหม่
ทั้งนี้ ผู้ชนะประมูลเมื่อสัปดาห์ก่อนจะต้องนำข้าวที่ได้มาส่งออกไปขายต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้จำกัดจำนวนการส่งออกแต่อย่างใด พร้อมขยายเวลาในการระบายสต็อกข้าวให้มากขึ้นด้วย ซึ่งเทรดเดอร์ชี้ว่า หากในระยะสั้น ผู้ประมูลได้ไม่สามารถส่งออกข้าวได้หมด ก็จะกลายเป็นว่า บริษัทเหล่านี้ต้องแบกภาระที่หนักหนาสาหัส และยังทำให้ราคาข้าวในประเทศร่วงลงด้วย เมื่อถึงเวลาที่ข้าวล็อตใหม่เข้าสู่ตลาดในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|