นางอรนุช โอสถานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดซองเสนอราคาซื้อข้าวขาว 5% ตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2547/48 จำนวน 558,598 ตัน ซึ่งเป็นข้าวที่บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ไม่ยอมมารับมอบตามสัญญาที่สิ้นสุดลงไปในเดือนที่ผ่านมา ผลการเปิดซองปรากฏข้าวที่จำหน่ายภายในประเทศ จำนวน 45,103 ตัน มีผู้มาร่วมยื่นซอง 4 ราย ส่วนข้าวที่ให้ส่งออกไปต่างประเทศ จำนวน 513,495 ตัน มีผู้เสนอซื้อ 6 ราย
อย่างไรก็ตามในการประมูลข้าวขาว 5% ที่บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ไม่ยอมมารับมอบข้าวตามสัญญาในครั้งนี้ ปรากฏมีข้าวปริมาณ 25,195 ตันที่ไม่มีผู้เสนอซื้อจากโกดังบี บี แวร์เฮาส์ กับ หจก.ท่าข้าวลาดยาว หลังที่ 1 เนื่องจากคลังดังกล่าวมีระยะทางไกลจนไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย
ด้าน นายพิสุทธิ์ ชลากรกุล ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ หากข้าวที่ขายไปเป็นข้าวในส่วนที่บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ไม่ยอมมารับมอบ อคส.ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายคือ เมื่อผู้ซื้อรายใหม่ทำสัญญาซื้อขาย มารับข้าวออกจากโกดัง และจ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว อคส.ก็จะมาพิจารณาว่าราคาที่ขายไปกับราคาที่บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ประมูลได้ไปในอดีตนั้น "มีส่วนต่างของราคาอยู่เท่าใด"
จากนั้น อคส.ก็จะเรียก "ราคาส่วนต่าง" คืนจากบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ พร้อมค่าปรับอื่นๆ ทั้งนี้ในส่วนของค่าปรับอื่นๆ ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะตามสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ได้มีการวางค้ำประกันกับ อคส.ไว้ประมาณ 600 ล้านบาท ในส่วนนี้ อคส.จะได้ข้อสรุปเร็วขึ้นเพราะมีการลดระยะเวลารับมอบข้าวจากการเปิดประมูลครั้งนี้เหลือ 75 วัน สำหรับผู้ซื้อที่ซื้อมากกว่า 100,000 ตัน จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ 90 วัน
ส่วนกรณีที่บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ขู่จะฟ้องกลับภาครัฐที่ทำให้ข้าวที่บริษัทประมูลได้เสื่อมคุณภาพจนไม่สามารถรับมอบได้ว่า หาก เพรซิเดนท์ฯจะฟ้องร้องก็เป็นเรื่องของบริษัท แต่ อคส.ยืนยันว่าก่อนที่จะเปิดประมูลข้าวได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจตรวจสอบสภาพข้าวที่ต้องการจะซื้อแล้ว ขณะเดียวกัน เมื่อชนะการประมูลในสัญญาซื้อขายระบุชัดว่าผู้ชนะการประมูลต้องยอมรับสภาพข้าวที่จะซื้อโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วพบว่ามีข้าวเสื่อมคุณภาพประมาณ 50,000 ตันเท่านั้น จากทั้งหมดที่ บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ประมูลไปประมาณ 1.2 ล้านตัน
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวถึงการเปิดประมูลข้าวขาว 5% จำนวน 558,598 ตันในครั้งนี้ว่า หากมีการต่อรองก็คงจะปรับราคาขึ้นไปได้ไม่เกิน 9,000 บาท/ตัน เมื่อเทียบกับราคาที่บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ประมูลไปก่อนหน้านี้เฉลี่ยอยู่ประมาณ 10,900-11,000 บาท/ตัน หรือเท่ากับมี " ส่วนต่าง" ของราคาข้าวตามสัญญาประมาณ 2,000-2,100 บาท/ตัน หากรัฐบาลตัดสินใจขายในราคาที่ผู้ประมูลเสนอมา อคส.ก็จะต้องเรียกส่วนต่างที่ขาดไปนี้จากบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ได้ประมาณ 1,100 ล้านบาท
"ข้าวที่ประมูลในครั้งนี้ส่วนใหญ่บางรายมีออร์เดอร์ต่างประเทศเตรียมไว้แล้ว โดย บจก.พงษ์ลาภ จะนำไปขายให้กับผู้ซื้อจากตลาดแอฟริกาที่ไม่ต้องการข้าวคุณภาพสูงมากนัก ส่วนการปรับปรุงก็ต้องแล้วแต่การตกลงกับผู้ซื้อ ส่วนนครหลวงค้าข้าว (แคปปิตัลซีเรียลส์) ก็มีออร์เดอร์บางส่วนแล้วเช่นกัน" แหล่งข่าวกล่าว
ย้อนอดีตเคยยิ่งใหญ่ของเพรซิเดนท์ อะกริฯ
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่นำไปสู่การ "เบี้ยว" สัญญาไม่ยอมมารับมอบข้าวของบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ รวมไปถึงถูกบรรดาธนาคารเจ้าหนี้ทยอยฟ้องเรียกคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาทอยู่ในขณะนี้เกิดจากพฤติกรรมของ บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ในช่วงรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งมี นายวัฒนา เมืองสุข ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อยู่ในขณะนั้น ได้ "เอื้อประโยชน์" ให้ บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ เป็นผู้ชนะการประมูลข้าวในโครงการรับจำนำของรัฐบาลสูงสุดถึง 1.2 ล้านตัน
โดยตั้งราคารับจำนำข้าวใน "ราคานำตลาด" สูงกว่าราคาตลาดถึง 30-40% ทำให้ข้าวในตลาดไหลเข้าสู่โกดังรัฐบาล จากนั้นจึงนำมาเปิดประมูลด้วยเงื่อนไขที่ เอื้อประโยชน์ ให้บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ เป็นผู้ชนะการประมูล อาทิ มีการบวกค่าการตลาด ให้กับบริษัทตามที่บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ เป็นผู้เสนอ ส่งผลให้ข้าวทั้งประเทศไหลมาอยู่ในมือของบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ บีบให้ผู้ส่งออกข้าวรายอื่นต้องมาขอแบ่งข้าวจากบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ไปส่งออก เกิดการผูกขาดตลาดข้าวอยู่ในมือบริษัทเพียงบริษัทเดียว
แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ พร้อม นโยบายเลิกรับจำนำข้าวใน "ราคานำตลาด" แต่ให้รับจำนำใน "ราคาตามตลาด" แทน ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศกลับมาสะท้อนราคาที่แท้จริง ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ไม่มีความจำเป็นที่บริษัทผู้ส่งออกข้าวจะต้องหันไปซื้อข้าวจากบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ อีกต่อไป ในเมื่อรัฐบาลชุดนี้เปิดให้มีการประมูลข้าวในโครงการรับจำนำ " อย่างโปร่งใส"
"ในช่วงที่บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ กุมข้าวเกือบทั้งประเทศไว้ในมือคนเดียว มีออร์เดอร์ข้าวเข้ามามาก ออร์เดอร์ไหนส่งออกได้ก็ส่งออกไป นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมให้ผู้ส่งออกข้าวรายอื่น ส่งข้าวที่ประมูลได้ออกไปในนามบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ด้วย ส่วนออร์เดอร์ไหนราคาต่ำ ก็ยืมข้าวคนอื่นส่งออก เก็บข้าวประมูลราคาสูงไว้ ปรากฏวิธีการแบบนี้ได้ส่งผลให้ผู้ส่งออกข้าวหลายรายที่ยอมให้บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ยืมข้าวไปส่งออกต้องประสบความเสียหายในปัจจุบันในวงเงินที่สูงถึง 300-400 ล้านบาท" แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนี้ปัญหาของบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ยังลามเป็นลูกโซ่ไปถึงโรงสีข้าวในเครือ เมื่อมีบรรดาโรงสีข้าวที่รับจ้างบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ เริ่มออกมา "โวยวาย" กล่าวหาว่าบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ติดค้างชำระค่าโกดัง ในวงเงินไม่ต่ำกว่า 100-200 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโรงสีข้าวในพื้นที่จังหวัดลพบุรี-พิจิตร-สระบุรี
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|