ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ขณะนี้วงการค้าข้าวได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ได้หยุดส่งออกข้าวไปแล้วตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยตัวเลขการส่งออกจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและตัวเลขของสมาคมผู้ส่งข้าวออกไปต่างประเทศต่างระบุตรงกันว่า บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯได้ส่งออกข้าวครั้งสุดท้ายไปในเดือนสิงหาคม 2550 ในปริมาณเพียง 2,600 ตัน โดยข้าวลอตนี้ถูกส่งไปยังรัฐบาลอินโดนีเซีย
ขณะที่เดือนกรกฎาคมมีการส่งออกข้าวไปในปริมาณ 17,146 ตัน ซึ่งเป็นการส่งออกจาก ออร์เดอร์ของบริษัทจำนวน 1,900 ตัน ส่วนที่เหลือเป็นการส่งมอบให้รัฐบาลต่อรัฐบาล 15,000 ตัน รวมปริมาณการส่งออก 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม) ปริมาณ 199,684 ตัน
ส่วนบริษัทสยามอินดิก้าซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ส่งออกรายใหม่และไม่มีความเกี่ยวข้องกับนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร กรรมการผู้จัดการ บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ทั้งๆ ที่สถานที่ตั้งของบริษัทนี้อยู่ในอาคารเลขที่เดียวกับบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ก็มีการส่งออกข้าวไปไม่มากนัก โดยในเดือนสิงหาคมส่งออกเพียง 21.5 ตันเท่านั้น ลดลงจากเดือนกรกฎาคมที่มีการส่งออก 2,000 ตัน รวมจนถึงขณะนี้บริษัทสยามอินดิก้าเพิ่งส่งออกข้าวไปได้แค่ 2,021.5 ตัน
แหล่งข่าวในวงการค้าข้าวกล่าวถึงสาเหตุของการยุติบทบาทการส่งออกข้าวของบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯและบริษัทในเครือว่า น่าจะมาจากปัญหาการขาดสภาพคล่องเมื่อต้นปี 2550 ไม่มีธนาคารใดยอมอนุมัติสินเชื่อก้อนใหม่ให้กับบริษัท นอกจากนี้ในทางกลับกันบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯยังตกอยู่ในฐานะ "จำเลย" ถูกสถาบันการเงินเจ้าหนี้ทยอยฟ้องเรียกหนี้คืน ประกอบกับกรมการค้าต่างประเทศเองก็ดำเนินการฟ้องบริษัทด้วยข้อกล่าวหา " ยักยอกทรัพย์" จากกรณีข้าวที่กรมส่งมอบให้ บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯนำไปปรับปรุงคุณภาพหายไปจากโกดังถึง 33,000 ตัน จนกระทั่งล่าสุดถูกลูกค้าต่างประเทศขึ้นแบล็กลิสต์ด้วย
นายวิจักร วิเศษน้อย รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรมได้รับรายงานเข้ามาว่า หน่วยงานรัฐบาลที่ทำหน้าที่จัดซื้อข้าวจากประเทศฟิลิปปินส์ได้ประกาศขึ้น "แบล็กลิสต์" บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯแล้ว นับเป็นหน่วยงานรัฐรายที่สองต่อจากรัฐบาลอิหร่านที่ได้ประกาศแบล็กลิสต์ไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีสาเหตุจากบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ไม่ส่งข้าวให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ตามสัญญา
"ตรงนี้ถือเป็นการดำเนินการระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับ บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ คนละกรณีกับที่กรมการค้าต่างประเทศดำเนินคดีกับบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯไปก่อนหน้านี้และเชื่อว่าการประกาศแบล็กลิสต์ของฟิลิปปินส์ในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การส่งออกข้าวไทย" นายวิจักรกล่าว
ส่วนการเปิดประมูลจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลครั้งล่าสุดจำนวน 820,615 ตันนั้น นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้ "อนุมัติ" ให้จำหน่ายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลจำนวนรวม 768,953 ตัน จากจำนวนที่เปิดประมูลทั้งหมด 820,615 ตัน
โดยแยกเป็นข้าวขาว 5% ปี 2547/48 เพื่อจำหน่ายในประเทศทั้งหมดปริมาณ 33,678 ตัน ราคาตันละ 9,320 บาท ให้แก่บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในทุกคลัง
2) ข้าวขาว 5% ปี 2547/48 เพื่อส่งออกต่างประเทศ ปริมาณ 211,375 ตัน ราคาตันละ 9,320 บาท ให้แก่บริษัทเอเชียโกลเด้นไรซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในทุกคลัง
3) ข้าวขาว 5% ปี 2548/49 เพื่อส่งออกต่างประเทศ ปริมาณรวม 198,653 ตัน ราคาระหว่างตันละ 9,650-9,700 บาท ให้กับผู้ซื้อ 3 ราย คือบริษัทพงษ์ลาภ จำกัด ปริมาณ 102,675 ตัน ราคาตันละ 9,700 บาท, บริษัท แคปปิตัลซีเรียล จำกัด ปริมาณ 90,868 ตัน ราคาตันละ 9,650 บาท และบริษัทเจียเม้ง จำกัด ปริมาณ 5,109 ตัน ราคาตันละ 9,650 บาท
4) ข้าวหอมมะลิ ปี 2547/48 เพื่อจำหน่ายในประเทศและ/หรือส่งออกไปต่างประเทศ ปริมาณรวม 174,312 ตัน ราคาระหว่างตันละ 12,950-15,000 บาท ให้กับผู้ซื้อ 10 ราย และ
5) ข้าวหอมมะลิ ปี 2548/49 เพื่อส่งออกต่างประเทศ ปริมาณรวม 140,936 ตัน ราคาระหว่างตันละ 15,000-16,500 บาท ให้กับผู้ซื้อ 9 ราย ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาสูงสุด
"การจำหน่ายข้าวสารครั้งนี้เราได้กระจายให้กับผู้ซื้อหลายราย ทั้งยังสามารถต่อรองราคาเพิ่มขึ้นจากราคาที่เสนอครั้งแรกมีมูลค่าถึง 409.33 ล้านบาท รวมมูลค่าจำหน่ายทั้งสิ้น 8,851.20 ล้านบาท ช่วยรัฐบาลลดภาระการเก็บรักษาข้าวได้ประมาณปีละ 258 ล้านบาท เมื่อลบข้าวที่เหลือจากการประมูลและหักสต๊อกสำรอง 1.2 ล้านตัน ส่งผลให้ข้าวในสต๊อกของรัฐบาลลดลงเหลือ 2.5 ล้านตัน ซึ่ง รมว.พาณิชย์ได้อนุมัติให้เปิดระบายข้าวที่เหลือแล้ว และจะมีการประชุมพิจารณากำหนดเกณฑ์ ปริมาณ และระยะเวลาระบายข้าวที่เหลือภายในสิ้นปีนี้" นางอภิรดีกล่าว
ล่าสุดผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้รายงานว่า ข้าวปี 2547/48 ที่ระบายครั้งนี้เป็นข้าวที่บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ค้างการรับมอบจำนวน 370,000 ตัน โดยในส่วนข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 จากปีการผลิต 2547/48 โดยจำหน่ายข้าวส่วนใหญ่ให้กับบริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรดเดอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาตอนแรก 12,850-13,750 บาท และให้ราคาเพิ่มขึ้นถึง 12,950-14,200 บาท
ส่วนข้าวขาวที่ขายให้กับบริษัทพงษ์ลาภให้ราคาใกล้เคียงกับราคาที่บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯประมูลได้ไป จนบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ อาจจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย " ส่วนต่าง" ของราคาข้าวให้กับรัฐบาล แต่ก็ยังต้องเสียค่าปรับรายวันและค่าใช้จ่ายในการฝากเก็บ รมยา และดูแลสภาพข้าวให้กับรัฐบาล ซึ่งทางองค์การคลังสินค้า (อคส.) จะนำไปคำนวณร่วมกับข้าวที่จำหน่ายไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงจะดำเนินการทางแพ่งกับบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริฯต่อไป
สำหรับภาพรวมการส่งออกข้าวในปีนี้ นางอภิรดีเชื่อว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ 8.5 ล้านตัน โดยการส่งออกข้าวตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2550 มีปริมาณ 6.44 ล้านตัน มูลค่า 79,467 ล้านบาท โดยเฉพาะเดือนกันยายนสามารถส่งออกข้าวได้ถึง 820,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมเป็นปริมาณเกือบ 200,000 ตัน หรือร้อยละ 31.54 ซึ่งหากในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2550 ยังสามารถรักษาการส่งออกได้ในระดับเดียวกับเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็จะส่งออกข้าวได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
"เร็วๆ นี้กรมจะสรุปผลประเมินภาพรวมผลผลิตข้าวโลกในปี 2551 คาดว่าปริมาณความต้องการบริโภคข้าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์การผลิตจะปรับลดลงจากปัญหาภัยธรรมชาติโรคร้อนและอุทกภัย และสต๊อกข้าวโลกในปีหน้าจะปรับลดลงจากปีนี้ 77.2 ล้านตัน จากตัวเลขการผลิตข้าวสารทั่วโลก 418.2 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการบริโภคข้าวของโลกอยู่ที่ 415.5 ล้านตัน จึงเป็นโอกาสของประเทศผู้ผลิตข้าวเช่นประเทศไทยน่าจะส่งออกข้าว ส่วนผู้ส่งออกรายอื่นคาดว่า อินเดียกับปากีสถานจะผลิตข้าวได้มาก แต่ประเทศกลุ่มนี้ก็มีความต้องการบริโภคในประเทศสูงเช่นกัน" แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|