นายปราโมทย์ วาณิชานนท์ ประธานที่ปรึกษาโรงสีข้าวไทย และคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ประกาศราคารับจำนำข้าว ปี 2550/2551 ประกอบ ด้วยข้าวหอมมะลิราคา 9,300 บาท/ตัน สูงขึ้นจาก ปีที่ผ่านมา 300 บาท/ตัน ข้าว 100% ราคา 6,700 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 200 บาท/ตัน ข้าว 5% 6,600 บาท/ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 100 บาท/ตัน ในขณะที่ข้าวเหนียวยกเลิกการรับจำนำ เนื่องจากราคาในตลาดสูงถึง 12,000 บาท/ตัน
“ในอดีตราคารับจำนำข้าวเหนียวเคยได้สูงสุด 8,000 บาท/ตัน แต่วันนี้ราคาในตลาดพุ่งขึ้นไปถึง 12,000 บาท/ตัน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องเปิดโครงการรับจำนำแต่อย่างไร ก็ตาม หากเกิดวิกฤติที่ไม่คาดคิดทำให้ราคาข้าวเหนียวตกต่ำ คณะกรรมการสามารถยกโครงการรับจำนำขึ้นมาประกาศใช้ได้ทันที” นายปราโมทย์ กล่าว
นายปราโมทย์ยังกล่าวอีกว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาข้าวเหนียวพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เนื่องจากประเทศจีนมีความต้องการสูง ทั้งการนำเข้าไปบริโภคในรูปแบบขนม บะจ่าง หรือสาเก และในปีหน้าจะมีการจัดงานกีฬาโอลิมปิกเชื่อว่าการนำเข้าจะยิ่งมากขึ้น นั่นหมายความว่าอาจทำให้ราคาข้าวเหนียวสูงขึ้นกว่าในปัจจุบันอีก เพราะฉะนั้น การช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวเหนียววันนี้จึงไม่ใช่การเปิดโครงการรับจำนำ แต่เป็นการเข้าไปพัฒนาเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น เช่นจากเดิมผลิตได้ไร่ละ 30 ถังก็เพิ่มเป็น 60 ถัง เป็นต้น
“ต้องยอมรับว่าราคาข้าวเหนียวในตลาดตอนนี้ราคาแพงกว่าข้าวหอมมะลิด้วยซ้ำ คือกิโลกรัมละ 22 บาท ในขณะที่ข้าวหอมมะลิราคากิโลกรัมละ 17 บาท จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้คนอีสานจะหันมาปลูกข้าวเหนียวแทนข้าวหอมมะลิ จากเดิมใช้พื้นที่ปลูกข้าวเหนียวเพียง 40% อีก 60% ปลูกข้าวหอมมะลิ แต่ปัจจุบันใช้พื้นที่ปลูกข้าวเหนียวมากถึง 80% อีก 20% ปลูกข้าวหอมมะลิ เป็นเหตุให้พันธุ์ข้าวเหนียว กข.6 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพขาดตลาด ในขณะที่พันธุ์ข้าวหอมมะลิซึ่งเคยขาดตลาดเหลือเกินความต้องการ
อย่างไรก็ตาม นายปราโมทย์ยอมรับว่าความต้องการข้าวเหนียวในตลาดโลกอาจทำให้ข้าวเหนียวในประเทศขาดแคลน จากเดิมเคยส่งออกประมาณ 3 แสนตันและใช้บริโภคในประเทศกว่าล้านตันก็ต้องเพิ่มปริมาณการส่งออกมากขึ้น นั่นหมายความว่าเมื่อปริมาณข้าวเหนียวในประเทศ น้อยลงราคาขายก็ต้องแพงขึ้นตามสัดส่วนอุปสงค์กับอุปทาน
ด้านนายสุธนต์ เทียนเฮง ประธานหอการค้า จังหวัดพิจิตร เปิดเผย “ สยามธุรกิจ” ว่าปัญหาข้าวในจังหวัดพิจิตรปีนี้นับว่ารุนแรงมากหลังเกิดปัญหาฝนตกหนักและน้ำป่าไหลบ่า ส่งผลให้ 3 อำเภอซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวคือ อำเภอสากเหล็ก อำเภอทับคล้อ และอำเภอวังทรายพูน ต้องประสบ พื้นที่เสียหายหลายพันไร่ ทำให้ข้าวที่กำลังเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวต้องรีบเก็บเกี่ยวก่อนกำหนด และเป็น ข้าวมีความชื้นสูงเกินมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ราคาขายต่อโรงสีต่ำกว่าข้าวความชื้นปกติ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังตรวจสอบอยู่ว่ามีพื้นที่เสียหายทั้งหมด เท่าไหร่แน่
“ต้องยอมรับว่าทางเลือกของชาวนาตอนนี้แทบไม่มีเลย ถ้าไม่เร่งเก็บเกี่ยวก่อนกำหนดพอน้ำมามากก็เสียหายเก็บเกี่ยวไม่ได้ เพราะฉะนั้นชาวนาส่วนใหญ่จึงต้องยอมเกี่ยวข้าวที่มีสภาพไม่สมบูรณ์ไปขายให้โรงสี แม้รู้ว่าจะต้องได้ราคาต่ำ ซึ่งยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย นอกจากนี้ข้าวที่ได้มาก็เป็นข้าวเปียกต้องนำไปตากแห้งก่อนสัก 2-3 แดด เพื่อให้เหลือความชื้นต่ำกว่า 25% จะได้ราคาดีขึ้น แต่ชาวนาบางคนก็ไม่สามารถรอได้เพราะต้องรีบใช้เงิน จึงยอมขายข้าวในสภาพที่ยังเปียกเกินมาตรฐาน ประกอบกับถ้าจะตากให้แห้งก็ต้องเสียค่าเช่าโรงตาก ไม่อย่างนั้นก็ต้องตากตามข้างถนน ซึ่งอาจโดนลมพายุหรือมีปัญหาทำให้ข้าวที่ตากไว้เสียหายได้” นายสุธนต์ กล่าว
นายสุธนต์ยังกล่าวอีกว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะให้ราคารับจำนาปีนี้เท่าไหร่ก็อาจไม่มีความหมาย เพราะข้าวที่ชาวนาเกี่ยวได้มีสภาพไม่สมบูรณ์ และบางส่วนก็เสียหายจากการถูกน้ำท่วม หากเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือทางอื่นควบคู่ไปด้วย
ด้าน กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดยุทธศาสตร์ใหม่ฉบับล่าสุด ปี 2550 -2554 โดยเน้นพันธกิจหลัก 4 ด้านคือ 1. จัดระบบการผลิตและส่งเสริมชาวนา 2. จัดระบบตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ 3. การผลักดันการส่งออก และ 4. การจัดระบบกระจายสินค้าให้มีต้นทุนต่ำและรวดเร็วขึ้น โดยมีกลยุทธ์หลักคือ
1. กลยุทธ์เพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ร้อยละ 20 และเพิ่มผลผลิตข้าวรวมร้อยละ 13.5 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้รายได้ของชาวนาเพิ่มขึ้นประมาณ 28,000 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณในการนี้กว่าพันล้านบาท
2. กลยุทธ์พัฒนาชาวนาตัวอย่าง 1 ล้านคนในปี 2554 โดยการจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้ของชาวนาไม่น้อยกว่า 500 แห่ง ส่งเสริมสวัสดิการและพัฒนาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ รวมถึงการตั้งธนาคารข้าว ใช้งบประมาณในการนี้อีกเกือบพันล้านบาท
3. กลยุทธ์เพิ่มปริมาณการซื้อขายข้าวในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกในปี 2554 ใช้งบประมาณในการนี้ 700 ล้านบาท และ
4. กลยุทธ์บริหารจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ใช้งบยุทธศาสตร์จำนวน 15 ล้านบาท รวมงบประมาณเบ็ดเสร็จที่กรมการข้าวใช้ทั้งหมดประมาณ 3 พันล้านบาท
ขณะที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศได้โละสต็อกข้าวสารในโกดังรัฐบาลครั้งล่าสุดอีก 8.2 ล้านตัน โดยการประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจเสนอราคาซื้อข้าวขาวชนิด 5% และข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 เพื่อจำหน่ายในประเทศและ/หรือส่งออกไปต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 820,615 ตัน โดยแยกเป็นข้าวขาว 5% ตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2547/48 และปี 2548/49 รวม 443,714 ตัน และข้าวหอมมะลิ ปีการผลิต 2547/48 และปี 2548/49 รวม 376,900 ตัน ปรากฏว่ามีผู้สนใจยื่นเสนอราคาซื้อข้าว จำนวน 68 ราย แยกเป็นข้าวขาว 5% เพื่อจำหน่ายในประเทศ จำนวน 7 ราย ราคาระหว่าง 8,300 - 9,030 บาท เพื่อส่งออกต่างประเทศ จำนวน 16 ราย ราคาระหว่าง 8,200-9,531 บาท ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 เพื่อจำหน่ายในประเทศและ/หรือส่งออกไปต่างประเทศ จำนวน 25 ราย ราคาระหว่าง 9,000-13,950 บาท เพื่อส่งออกต่างประเทศ จำนวน 20 ราย ราคาระหว่าง 12,000 -15,850 บาท โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความเห็นชอบให้จำหน่ายข้าวตามที่ได้มีผู้เสนอราคาดังกล่าวแล้ว
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยเพิ่มเติมว่าการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกรัฐบาลครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันและความต้องการข้าวในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งส่งผลดีต่อราชการหลายประการ คือ (1) สามารถกระจายการจำหน่ายให้กับผู้ซื้อหลายราย ไม่กระจุกตัวเฉพาะผู้ซื้อรายใดรายหนึ่ง (2) สามารถ ต่อรองราคาเพิ่มขึ้นจากราคาที่เสนอครั้งแรกมีมูลค่าถึง 409.33 ล้านบาท (3) การจำหน่ายครั้งนี้มีมูลค่าทั้งสิ้น 8,851.20 ล้านบาท และรัฐบาลสามารถลดภาระการเก็บรักษาข้าวได้ประมาณปีละ 258 ล้านบาท
การส่งออกข้าวตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ย.50 ปริมาณ 6.44 ล้านตัน มูลค่า 79,467 ล้านบาท โดยเฉพาะเดือน ก.ย. 50 สามารถส่งออกได้ถึง 8.2 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค.50 เป็นปริมาณเกือบ 2 แสนตัน หรือร้อยละ 31.54 ซึ่งหากในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.50 สามารถส่งออกได้ในระดับเดียว กับเดือนก.ย.50 และปัญหาการขาดแคลนเรือบรรทุกบรรเทาลงคาดว่าการส่งออกจะเป็นไปตาม เป้าหมายหรือใกล้เคียงกับปริมาณที่ตั้งไว้ 8.5 ล้านตันแน่นอน
ที่มา สยามธุรกิจ
|