www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

โรงสี ยี่ปั๊วแห่ซื้อหอมมะลิตุน เชื่อผลผลิตลดดันราคาพุ่งกลุ่มขายล่วงหน้าขาดทุน!


    วงการโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิ ปีการผลิต 2550/51 ซึ่งได้เริ่มทยอยออกสู่ตลาดบ้างแล้ว และได้เกิดปรากฎการณ์สำคัญที่มีผลต่อราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเป็นอย่างมาก นั่นคือทั้งพ่อค้าคนกลาง (ยี่ปั๊วข้าวเปลือก) และโรงสี ได้ออกมาแข่งขันกันรับซื้อข้าวเปลือก จนทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการซื้อกันสูงถึงตันละ 10,200-10,500 บาท (ข้าวเปลือกแห้ง) และ 8,000 บาท (ข้าวเปลือกสด)

     เหตุที่ทั้งพ่อค้าคนกลางและโรงสีต่างออกมาซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิเพื่อตุนไว้ในสต๊อก เนื่องจากปีนี้มีการประเมินกันว่าผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงอย่างแน่นอน เพราะชาวนาได้นำพื้นที่ที่เคยปลูกข้าวหอมมะลิไปปลูกข้าวเหนียวกันเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ราคาข้าวเหนียวปี 2549 และปี2550 ขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ หากไม่รีบซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิในช่วงต้นฤดูช่วงกลางปีอาจไม่มีข้าวเปลือกสีขายได้

     "ที่สำคัญพ่อค้าคนกลางซึ่งใกล้ชิดชาวนามากที่สุด และเป็นผู้รวบรวมข้าวเปลือกจากชาวนาเพื่อมาส่งมอบให้กับโรงสี เริ่มโก่งราคาขายให้กับโรงสี หากโรงสีใดต้องการข้าวเปลือกต้องเสนอซื้อในราคาที่สูงจึงจะได้ข้าว หากเสนอราคาต่ำพ่อค้าคนกลางจะไม่ยอมขายให้ เวลานี้กลุ่มพ่อค้าคนกลางจะเป็นกลุ่มที่มีความได้เปรียบมากที่สุด" แหล่งข่าวกล่าว

     ทั้งนี้จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นผลดีต่อเกษตรกร เพราะสามารถขายข้าวได้ราคาดี แต่คนที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในขณะนี้คือกลุ่มโรงสีที่ได้รับคำสั่งซื้อข้าวสารจากผู้ส่งออกล่วงหน้าไว้แล้ว ต้องซื้อข้าวเปลือกราคาที่แพงขึ้นทำให้โรงสีหลายแห่งประสบปัญหาขาดทุน เพราะมีโรงสีจำนวนมากที่รับออเดอร์ข้าวสารจากผู้ส่งออกเมื่อเดือนตุลาคมเพื่อส่งมอบเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม โดยรับออเดอร์ข้าวสารกระสอบละประมาณ 1,750-1,800 บาท ซึ่งราคานี้ต้องซื้อข้าวเปลือกที่ตันละ 9,500-9,700 บาท แต่เวลานี้ข้าวเปลือกขึ้นไปถึงตันละ 10,200 บาท ทั้งยังหาซื้อได้ยากอีกด้วย

     นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกสมาคมฯได้เดินทางไปสำรวจผลผลิตข้าวฤดูการผลิตปี 2550/51 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการพบว่าพื้นที่ภาคอีสานเหนือชาวนาที่เคยปลูกข้าวหอมมะลิเกือบ 90% หันไปปลูกข้าวเหนียว ส่วนภาคอีสานใต้หันไปปลูกข้าวเหนียวประมาณ 10% แต่ผลผลิตข้าวหอมมะลิค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ดีขณะนี้สมาคมฯอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขอย่างเป็นทางการว่าผลผลิตข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวปีนี้เทียบกับปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

     ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ ประธานบริษัท อุทัยโปรดิวส์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิรายใหญ่ กล่าวว่าสำหรับตลาดข้าวหอมมะลิโดยภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเช่นแอฟริกาซึ่งมีคนจีนเข้าไปอาศัยอยู่มากขึ้น ประกอบกับภูมิภาคแอฟริกามีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูง จึงทำให้มีกำลังซื้อ แต่มีความเป็นห่วงว่าการที่ข้าวหอมมะลิของไทยราคาแพงขึ้นมากๆ ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อข้าวหอมปทุมธานี 1 ทดแทนได้ ในอนาคตจะเกิดผลเสียต่อข้าวหอมมะลิได้ ซึ่งทางภาครัฐจะต้องมีนโยบายให้ชัดเจนเกี่ยวกับตลาดข้าวของไทย

     นอกจากนี้การที่ราคาข้าวเหนียวที่แพงขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2549-2550 เป็นเพราะว่าปี 2549 ผลผลิตข้าวเหนียวของจีนลดลง จึงมีความต้องการนำเข้าจำนวนมากและดันให้ราคาข้าวเหนียวของไทยแพงขึ้น แต่ปีนี้ผลผลิตข้าวเหนียวจีนเพียงพออาจจะกระทบราคาได้ เพราะข้าวเหนียวตลาดรองรับน้อย ชาวนาจะแห่ปลูกตามราคาไม่ได้ ปีนี้จึงมีความเป็นห่วงภาวะราคาข้าวเหนียว และคิดว่ารัฐบาลควรจะเร่งเจรจาขายจีทูจี ( รัฐบาลต่อรัฐบาล) กับจีน มาเลเซียและอินโดนีเซีย เพื่อระบายสินค้า เนื่องจากข้าวเหนียวเก็บไว้นานไม่ได้

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

 


©
The Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.