นายรุ่งโรจน์ เหมันต์สุทธิกุล ประธานบริษัท โกลเด้นดรากอน จำกัด บริษัทจำหน่ายสินค้าเกษตรไทยในจีน และที่ปรึกษาองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ( อ.ต.ก.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัท โกลเด้นดรากอนฯ ได้เจรจากับนายเฉิน กัง ผู้จัดการทั่วไปเขตภาคเหนือ บริษัท เซินเจิ้น กังชู ซีเรียลส์ จำกัด บริษัทจำหน่ายข้าวสารรายใหญ่รายหนึ่งของจีน เพื่อร่วมกันทำตลาดข้าวหอมมะลิไทยในจีน โดยที่ผ่านมาบริษัท เซินเจิ้น กังชูฯ จำหน่ายข้าวหอมมะลิของไทยอยู่แล้ว แต่การร่วมกันทำธุรกิจครั้งนี้จะทำตลาดข้าวหอมมะลิพรีเมียมจับกลุ่มลูกค้าระดับบน
"ผลการหารือเบื้องต้น บริษัท เซินเจิ้น กังชูฯ พร้อมที่จะรับซื้อข้าวหอมมะลิคุณภาพเกรดพรีเมียมจากประเทศไทย ในราคาสูงถึงตันละประมาณ 40,000 บาท เพื่อไปจำหน่ายในจีนในราคาตันละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท เนื่องจากต้องมีกระบวนการบรรจุหีบห่อที่สวยงาม เพื่อจับกลุ่มลูกค้าระดับบนเป็นการเฉพาะ ส่วนข้าวหอมมะลิที่ผลิตจากประเทศไทย เพื่อป้อนให้กับบริษัท เซินเจิ้น กังชูฯนอกจากคุณภาพของข้าวแล้ว ผู้จัดหาวัตถุดิบจะต้องจัดทำข้อมมูลที่ถ่ายทอดกระบวนการผลิตข้าว คุณค่าความสำคัญของข้าวหอมมะลิไทย อธิบายความเป็นมาให้ผู้ซื้อเห็นคุณค่าข้าวหอมมะลิไทย หรือการยกระดับมูลค่าสินค้าให้เป็นสินค้าพรีเมียม (Value Creation) อย่างแท้จริง"นายรุ่งโรจน์กล่าวและว่า
อย่างไรก็ดีขณะนี้พบว่าการทำตลาดข้าวพรีเมียมในจีน ซึ่งพ่อค้าจีนได้นำข้าวหอมมะลิของจีนมาทำตลาด ขายกันคิดเป็นเงินไทยสูงถึงตันละ 150,000 บาท เพราะฉะนั้นหากข้าวไทยจะไปขายตันละ 100,000 บาท ไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถ ทั้งนี้ในส่วนของการจัดหารวัตถุดิบคือข้าวหอมมะลิ ได้หารือกับ อ.ต.ก. โดยอ.ต.ก.จะเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบ และจัดทำเรื่องราวความเป็นมาของข้าวหอมมะลิไทย เพื่อนำเสนอให้กับลูกค้าทั้งหมด โดยมีความตั้งใจที่จะนำข้าวหอมมะลิล๊อตจแรกประมาณ 200 ตัน เข้าไปจำหน่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีหน้า สำหรับกลุ่มลูกค้าซึ่งจะเป็นลูกค้าระดับบนที่มีกำลังซื้อสูงแล้ว ลักษณะของสินค้าจะมุ่งเน้นไปในลักษณะเป็นของขวัญของชำร่วย ที่กลุ่มระดับบนมักจะซื้อของขวัญมีมูลค่าให้กันและกัน
ด้านนายโอวาท อภิบาลภูวนารถ รองผู้อำนวยการอ.ต.ก.กล่าวว่ามีความมั่นใจว่าจะสามารถจัดหาข้าวหอมมะลิคุณภาพ พร้อมกับจัดทำเรื่องราวถ่ายทอดกระบวนการผลิต วัฒนธรรมความเป็นมาของข้าว ทันส่งมอบให้กับลูกค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีหน้าอย่างแน่นอน โดยขณะนี้ได้ประสานไปยังกรมการข้าว เพื่อควบคุมกระบวนการผลิตแล้ว ซึ่งข้าวหอมมะลิจะนำมาจากทุ่งกุลาร้องไห้ แหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงของประเทศ
"ราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิฤดู อ.ต.ก.สามารถที่จะไปรวบรวมข้าวได้ในช่วงนั้น และทำกระบวนการถ่ายทอดเรื่องราวไปพร้อมๆ กัน และพร้อมที่จะส่งมอบถึงมือลูกค้าทันเศรษฐกาลตรุษจีนปีหน้า"
นายรุ่งโรจน์ เปิดเผยเพิ่มเติมถึงแผนการตลาดข้าวหอมมะลิไทยในจีน ว่าหลังจากที่อ.ต.ก.ทำแบรนด์พรีเมียมประสบความสำเร็จแล้ว ต่อไปอนาคตสร้างแบรนด์ระดับรองลงมา ซึ่งราคาอาจถูกกว่าแบรนด์หลัก แต่ยังเป็นราคาที่สูงอยู่โดยอาจจะกระจายช่องทางการตลาดให้กว้างขึ้นกว่าเดิม
แหล่งข่าวจากวงการโรงสีข้าวเปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาข้าวหอมมะลิที่ผู้ส่งออกรับซื้อตันละประมาณ 18,000 ตัน คิดเป็นข้าวเปลือกตันละ 9,500 บาท ภาวะตลาดค่อนข้างซบเซา เนื่องจากผู้ส่งออกหันไปนำข้าวหอมปทุมธานี1 ซึ่งมีราคาถูกกว่าคือตันละประมาณ 12,000 ตัน ไปส่งออกแทน สำหรับข้าวหอมมะลิที่จะส่งจำหน่ายจีนตันละ 40,000 บาท ซึ่งจีนจะนำไปทำตลาดเป็นข้าวพรีเมียมตันละ 100,000 บาท คิดเป็นข้าวเปลือกจะขายได้สูงถึงตันละ 20,000 บาท หากสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวหอมมะลิได้ถึงขั้นนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสารและคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวเปลือก ที่ประชุมได้มีการหารือถึงแนวทางการระบายข้าว ซึ่งมีมติจะระบายข้าวสารจำนวนหนึ่ง เนื่องจากขณะนี้มีสต๊อกข้าวจำนวนมาก เพราะบริษัท เพรซิเดนท์ฯไม่มารับมอบข้าวที่ประมูลได้
อย่างไรก็ดีเนื่องจากมีการยุบคณะกรรมการนโยบายข้าว ( กนข.)และตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ( กขช.)และได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตลาดขึ้นมาแล้ว แต่คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสารและระบายข้าวเปลือกยังไม่แต่งตั้ง ถึงแม้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสารและระบายข้าวเปลือก ทำให้ต้องรอการอนุมัติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯอย่างเป็นทางการก่อน จึงประกาศประมูลระบายข้าวสารได้ แต่คาดว่าจะมีการประมูลเร็วๆ นี้
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|