นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่าวันที่ 17 ต.ค.นี้ นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะมอบนโยบายผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปยังหัวหน้าคลังสินค้าจังหวัดทั่วประเทศ โดยจะชี้แจงเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูการผลิต 2550/2551 เริ่มเปิดรับจำนำวันที่ 1 พ.ย.2550 -28 ก.พ. 2551
โดยมีเป้าหมายรับจำนำ 8 ล้านตันข้าวเปลือก เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งระดับเจ้าหน้าที่และกลุ่มโรงสีข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการ ปีนี้กระทรวงพาณิชย์จะพยายามเร่งรัดให้ทุกโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำสามารถเปิดรับจำนำข้าวเปลือกกับเกษตรกรทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. เป็นต้นไป ที่ผ่านมา กว่าโรงสีจะเปิดรับจำนำจากเกษตรกรอาจต้องใช้เวลาเกิน 15 วัน และทำให้เกษตรกรจำนำข้าวไม่ได้ราคาดี จึงพยายามให้ทุกส่วนงานเริ่มเปิดรับจำนำจากเกษตรกรตามกำหนดเวลา
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้อนุมัติเป้าหมายการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาลผลิต 2550/2551 จำนวน 8 ล้านตันข้าวเปลือก โดยราคารับจำนำเฉลี่ยจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับฤดูกาลที่แล้ว 200-300 บาทต่อตัน แบ่งเป็นข้าวเปลือกเจ้าราคาเฉลี่ย 6,100-6,700 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ย 9,000-9,300 บาทต่อตัน ข้าวหอมจังหวัดเฉลี่ย 7,500-7,800 บาทต่อตัน ซึ่งต้นฤดูจะมีข้าวออกสู่ตลาดค่อนข้างมาก ทุกฝ่ายจึงต้องเตรียมความพร้อมในการเปิดรับจำนำ
ที่สำคัญเพื่อป้องกันปัญหาข้าวสูญหาย หรือเวียนเทียนข้าว การเปิดรับจำนำข้าวเปลือกจึงได้กำหนดร่างสัญญาการเข้าร่วมโครงการของโรงสีข้าวทั่วประเทศจะต้องติดกล้องวงจรปิดอย่างน้อย 1 จุด และอัดเทปในการทำธุรกรรม เช่น การขนถ่ายการรับจำนำ เพื่อรับรู้ว่ามีการกระทำอะไรบ้าง ในแต่ละวัน ขณะเดียวกันได้มีการเพิ่มสัดส่วนการวางหลักค้ำประกันของโรงสีที่เห็นว่าจะขาดสภาพคล่อง โดยต้องวางหลักประกันที่ธนาคารพาณิชย์การันตี 70% ของมูลค่าการรับจำนำ ซึ่งจะป้องกันกรณีโรงสีขาดสภาพคล่องและปัญหาข้าวสูญหาย
ส่วนกรณีกลุ่มโรงสีข้าว 56 แห่งที่ถูกขึ้นบัญชีดำ นายยรรยง กล่าวว่า มีการตรวจสอบแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทุจริตมีจำนวนไม่กี่ราย และกลุ่มผิดเงื่อนไขธรรมดา โดยกลุ่มที่ผิดเงื่อนไขธรรมดาอาจจะไม่ตั้งใจก็อาจอนุโลมให้เข้าร่วมโครงการกับภาครัฐได้ ซึ่งราคารับจำนำปีนี้ถือว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ข้าวในปัจจุบัน แต่คงไม่สามารถปรับตามสมาคมชาวนาไทยต้องการให้ข้าวหอมมะลิไปอยู่ระดับ 11,000 บาทต่อตัน เหมือนในอดีต เพราะเป็นอัตราที่สูงเกินไปอาจทำให้กลไกการตลาดบิดเบือน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|