นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ได้ข้อยุติแล้วว่าจะให้มีมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยเพียงมาตรฐานเดียว คือ ข้าวที่จะเรียกว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทยได้นั้น จะต้องมีเนื้อข้าวหอมมะลิ 92% มีข้าวชนิดอื่นปนได้เพียง 8% เช่นเดิม และจะใช้เป็นมาตรฐานบังคับต่อไป โดยจะ ไม่มีการปรับเปลี่ยนตามที่สมาคม ผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศและกลุ่ม ผู้ส่งออกร้องขอมา เพราะเห็นว่าการมีมาตรฐานเดียวจะเป็นประโยชน์ต่อข้าวหอมมะลิไทยมากกว่า
“ยืนยันว่าข้าวหอมมะลิไทยต้องมีมาตรฐานเดียว และเป็นมาตรฐานบังคับ ผู้ส่งออกที่จะส่งออกข้าวหอมมะลิไทยก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าไม่ใช่มาตรฐานนี้ จะเรียกว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทยไม่ได้ เพราะหากมีหลายมาตรฐาน จะส่งผลเสียต่อชื่อเสียงข้าวไทยที่ขณะนี้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกแล้ว” นางอภิรดี กล่าว
สำหรับเงื่อนไขในการขอใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยนั้น ต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่ได้รับอนุญาต ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิ ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขมีเนื้อข้าวหอมมะลิ 92% และจะอนุญาตให้ใช้ได้ปีต่อปี โดยในปีแรก จะอนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค.ของปีที่ขอเครื่องหมายรับรองที่ได้
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่พบว่า คุณภาพข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ก็จะสั่งให้ผู้ส่งออกทำการปรับปรุงและจะตรวจสอบคุณภาพซ้ำ จนกว่าสินค้าจะได้คุณภาพตามที่มาตรฐานกำหนด จึงจะทำการตรวจปล่อยต่อไป และยังมีมาตรการทางกฎหมายที่จะลงโทษตั้งแต่ขั้นตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้และเพิกถอนใบทะเบียน
ทั้งนี้ ในส่วนของเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย ถ้าหากมีการทำผิดเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง จะมีการดำเนินการ คือ ครั้งที่ 1 ภาคทัณฑ์ ครั้งที่ 2 ระงับการใช้เครื่องหมายรับรอง 3 เดือน ครั้งที่ 3 ระงับการใช้เครื่องหมายรับรอง 1 ปี และครั้งที่ 4 เพิกถอนการอนุญาตใช้เครื่องหมายรับรอง และจะไม่พิจารณาให้ใช้เครื่องหมายรับรองอีก ส่วนผู้ลักลอบใช้เครื่องหมาย หรือผู้ที่ถูกสั่งเพิกถอนแล้ว จะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย
ที่มา โพสต์ทูเดย์ |