สืบเนื่องจากความต้องการข้าวเหนียวเพื่อการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าตลอดทั้งปี 2550/51 ความต้องการเพื่อบริโภคโดยตรงและความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องในตลาดต่างประเทศจะมีมากขึ้นโดยเฉพาะตลาดจีนและมีแนวโน้มว่าราคาจะพุ่งสูงทะลุ 30,000 บาทต่อตัน ขณะที่ผลผลิตมีไม่พอขาย
ราคาข้าวเหนียวพุ่งแซงหอมมะลิ
นายบู๊เฮียง รุ่งรัชกานนท์ อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย หุ้นส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีข้าวเอกไพบูลย์ จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยกับ " ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ราคาข้าวในประเทศขณะนี้ว่า มีความแปลกประหลาดแบบว่าคนในวงการค้าข้าว ทั้งเกษตรกร โรงสี ผู้ส่งออก ไม่เคยเจอมาก่อนนับตั้งแต่มีการค้าข้าว นั่นคือราคาข้าวเหนียว ทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร ราคาขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สูงกว่าราคาข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นข้าวที่มีชื่อเสียงของประเทศเสียอีก กล่าวคือ ณ เวลานี้ข้าวเหนียวซื้อขายกันสูงถึงกระสอบละ 2,500-2,600 บาท (ขนาดบรรจุ 100 กก.)หรือตกตันละ 25,000-26,000 บาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาที่มีการซื้อขายกระสอบละ ประมาณ 1,500 บาท ขณะที่ข้าวหอมมะลิซื้อขายกันอยู่ที่กระสอบละประมาณ 1,800 บาทเท่านั้น
จากความเคลื่อนไหวของราคาข้าวเหนียวดังกล่าว ส่งผลให้ข้าวเปลือกเหนียวมีราคาสูงตามขึ้นไปด้วย กล่าวคือข้าวเปลือกเหนียวซื้อขายกันที่ตันละ 12,500-13,500 บาท ขณะที่ข้าวเปลือกหอมมะลิซื้อขายกันที่ตันละ 8,900-9,200 บาท ส่วนราคาข้าวขาว ขณะนี้ราคาข้าวขาว 100% ชั้น 2 ข้าว (ใหม่) กระสอบละ 1,075-1,080 บาท ข้าวขาว 5% ( ใหม่) กระสอบละ 1,040-1,045 บาท ข้าวเปลือกนาปรังความชื้นไม่เกิน 25% ตันละ 6,200-6,400 บาท จะเห็นได้ว่าปีนี้ราคาข้าวเหนียวสูงกว่าข้าวทุกชนิด
"ภาวะราคาข้าวเหนียวที่สูงขึ้นดังกล่าว เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยราคาได้ขยับขึ้นตั้งแต่ฤดูเก็บเกี่ยวปีที่ผ่านมา ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2549 แต่ยังไม่ได้สูงขึ้นถึงขนาดนี้ สาเหตุที่สูงขึ้นเนื่องจากผู้ส่งออกได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าราคาจะยังสูงขึ้นต่อไปอีก เพราะจีนยังต้องการซื้อต่อเนื่อง เพราะปีหน้าจีนจะเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008 จึงมีการสั่งนำเข้าข้าวเหนียวเพื่อไปแปรรูปเป็นอาหารที่คาดว่าจะมีการบริโภคมากขึ้น"
นายบู๊เฮียง กล่าวอีกว่าขณะนี้ทั้งปริมาณข้าวเปลือกเหนียวและข้าวเหนียวในมือชาวนาและโรงสีต่างจังหวัดแทบจะไม่มีแล้ว เช่นที่จังหวัดอุบลราชธานี ยังต้องไปนำเข้าข้าวเหนียวจากจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย รวมถึงเชียงรายมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคจังหวัด
เชื่อแนวโน้มยังสูงต่อเนื่อง
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวเช่นเดียวกันว่าเหตุที่ข้าวเหนียวแพงเป็นประวัติการณ์ เป็นผลจากปีที่ผ่านมาจีนมีความต้องการมาก จึงมีการสั่งซื้อเข้าไปมากขณะที่การผลิตข้าวเหนียวของไทยปกติผลิตน้อยอยู่แล้ว โดยเกษตรกรจะผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือนเหลือขายเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อจีนสั่งซื้อมากจึงดันให้ราคาสูงขึ้น
"ข้าวเหนียวไทยมีไม่พอขายประกอบกับราคาสูง ทำให้จีนต้องหันไปนำเข้าจากเวียดนาม ซึ่งมีราคาถูกกว่า คือประมาณตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ราคาข้าวเหนียวไทยเริ่มต้นขายอยู่ที่ตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นได้ขยับสูงขึ้นถึงตันละ 650 ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันมีการเสนอขายตันละ 700-720 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ผู้ส่งออกไม่สามารถหาซื้อของส่งให้ลูกค้าได้ และขณะนี้ข้าวเหนียวเวียดนามมีจำกัดด้วย เพราะฉะนั้นคิดว่าแนวโน้มราคายังดีอยู่ อาจอ่อนตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากชาวนาแห่ปลูกกันมากขึ้น"
ตันละ 30,000 บาทหาของไม่ได้
นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ กรรมการบริหาร บริษัท เอเชียโกลเดนท์ไรซ์ จำกัด กล่าวว่า ตลาดหลักส่งออกข้าวเหนียวของไทยคืออินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาผลผลิตข้าวเหนียวของจีนไม่เพียงพอจึงหันมาสั่งซื้อข้าวจากไทย ทำให้ราคาข้าวเหนียวไทยขยับสูงขึ้นมาก แม้เวลานี้จีนชะลอซื้อแต่ข้าวเหนียวของไทยยังแพงอยู่ เพราะลูกค้าจากประเทศอื่นยังมีความต้องการ หากเป็นข้าวเกรดสูง ราคาส่งออกสูงถึงตันละ 750-760 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นราคาภายในประเทศตกตันละ 30,000 บาท แต่ผู้ส่งออกหาซื้อข้าวไม่ได้ ส่วนจีนจะซื้อมากช่วงที่ข้าวใหม่ออกสู่ตลาด
"เวลานี้แทบจะหาของในตลาดไม่ได้เลย หากมีลูกค้าต้องการสั่งซื้อไม่สามารถรับคำสั่งซื้อได้ทันที ต้องไปหาของมาเก็บสต๊อกไว้ก่อน เพราะหากไม่มีของไว้ในสต๊อกมีโอกาสสูงที่จะหาข้าวให้ลูกค้าไม่ได้ เพราะเวลานี้ข้าวเหนียวหายากมาก"
นายสุเมธ เหล่าโมราพร กรรมการผู้จัดการบริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด กล่าวว่า ข้าวเหนียวไม่ได้เป็นข้าวหลักส่งออก เพราะส่วนใหญ่ผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ มีส่งออกบ้างแต่ปริมาณไม่มากปีละ 200,000-300,000 ตัน ตลาดนำเข้าสำคัญคืออินโดนีเซีย มาเลเซีย ส่วนจีนไม่สม่ำเสมอ แต่หากจีนซื้อแล้วจะซื้อจำนวนมาก เช่นเมื่อปีที่แล้วจีนต้องการมากจึงทำให้ราคาข้าวเหนียวในประเทศของไทยสูงขึ้น ส่วนตลาดอื่นๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการซื้อไปจำหน่ายเพื่อบริโภคไม่ใช่เพื่ออุตสาหกรรม
กรมข้าวผลิตพันธุ์ข้าวเหนียวเพิ่ม
ด้านแหล่งข่าวจากกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากภาวะราคาข้าวเหนียวที่ขยับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ปรากฏว่าฤดูการปลูกข้าวปีนี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ชาวนาได้หันมาปลูกข้าวเหนียวกันมาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูกกันมากจนเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมที่กระจายอยู่จังหวัดต่างๆ 23 ศูนย์ ซึ่งปีนี้ผลิตออกมาจำนวน 5,000 ตัน ไม่พอจำหน่าย มีเกษตรกรติดต่อเข้ามาขอซื้อตลอดเวลา ขณะที่พันธุ์ข้าวหอมมะลิซึ่งผลิตออกมา 25,000 ตัน ไม่สามารถจำหน่ายได้หมด กระทั่งถึงเดือนสิงหาคมบางศูนย์ยังจำหน่ายไม่หมดเลย ทั้งที่ควรจะหมดแล้วเนื่องจากล่วงเลยเวลาการเพาะปลูกมาพอสมควรแล้ว
ดังนั้นในฤดูการหน้ากรมจึงมีแผนเพิ่มการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวเป็น 10,000 ตันโดยปีนี้กรมได้จำหน่ายพันธุ์ข้าวหอมมะลิตันละ 14,000 บาท พันธุ์ข้าวเหนียวตันละ 12,000 บาท
"แหล่งที่มาของพันธุ์ข้าวนอกจากกรม โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวแต่ละศูนย์ผลิตจำหน่ายแล้ว จะมีจากศูนย์ข้าวชุมชน ซึ่งมีจำนวน 7,000 แห่งทั่วประเทศ และพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรเก็บไว้ทำพันธุ์เอง จากจำนวนเมล็ดพันธุ์ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ผลิตออกมาแล้วไม่พอจำหน่ายสะท้อนได้ว่าชาวนาหันมาปลูกข้าวเหนียวกันมากขึ้น"
แหล่งข่าวจากศูนย์วิจัยข้าวกาฬสินธุ์ กล่าวว่าฤดูการปลูกข้าวปีนี้ ทางศูนย์ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียว (กข. 6) จำนวน 600 ตัน จำหน่ายตันละ 12,000 บาท เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 1,800 ตัน จำหน่ายตันละ 14,000 บาท ปรากฏว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวจำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร เพราะหลังจากที่จำหน่ายออกไปหมดแล้วยังคงมีเกษตรกรจำนวนมากติดต่อเข้ามาขอซื้อ ส่วนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิจำหน่ายหมดแล้วแต่ว่าไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเกษตรกรเท่าที่ควร เพราะกว่าจะหมดเกือบหมดฤดูปลูกแล้ว
"การทำเมล็ดพันธุ์ข้าว ศูนย์ต้องร่วมกับเกษตรกรเพื่อปลูกข้าวในแปลงปลูกของเกษตรกร มีนักวิชาการไปให้ความรู้ ควบคุมการผลิตเพื่อจะได้เมล็ดข้าวพันธุ์ดีมีคุณภาพ หลังจากนั้นจะรับซื้อจากเกษตรกรนำมาปรับปรุงเป็นเมล็ดพันธุ์จำหน่าย จากการที่ราคาข้าวเหนียวขยับสูงขึ้น ทำให้ศูนย์ต้องซื้อข้าวเปลือกเพื่อมาทำพันธุ์จากเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย ปีที่ผ่านมาซื้อข้าวเปลือกมาทำพันธุ์ตันละ 10,000 บาท จำหน่ายให้กับเกษตรกรตันละ 12,000 บาท ซึ่งราคาดังกล่าวเมื่อรวมค่าปรับปรุง ค่าคนงานแล้วขาดทุน หากไม่ใช่หน่วยงานราชการไม่ทำได้เลย ดังนั้นฤดูการหน้าได้ปรับราคาจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวเพิ่มเป็นตันละ 14,000 บาท"
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ ระบุปริมาณการส่งออกข้าวเหนียวของไทย ปี 2545 ปริมาณส่งออก 215,662 ตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 282 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาภายในกระสอบละ 1,178 บาท ปี 2546 ปริมาณส่งออก 281,314 ตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 320 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาภายในกระสอบละ 1,300 บาท ปี 2547 ปริมาณส่งออก 202,083 ตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 335 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาภายในกระสอบละ 1,300 บาท ปี 2548 ปริมาณส่งออก 268,209 ตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 318 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาภายในกระสอบละ 1,216 บาท ปี 2549 ปริมาณส่งออก 269,667 ตัน เฉลี่ยตันละ 458 ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับปริมาณการส่งออกข้าวทั้งประเทศ ปี 2547 ปริมาณ 10,140,224 ตัน มูลค่า 110,376 ล้านบาท ปี 2548 ปริมาณ 7,304,346 ตัน มูลค่า 90,874 ล้านบาท ปี 2549 ปริมาณ 7,420,656 ตัน มูลค่า 97,349 ล้านบาท ปี 2550 ( มกราคม-มิถุนายน)ปริมาณ 4,074,472 ตัน มูลค่า 52,984 ล้านบาท
จับตาข้าวเหนียวเถื่อนทะลัก
ก่อนหน้านี้ นายธานินทร์ มุกดาประกร ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ราคาข้าวเหนียวทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวัตถุดิบเริ่มขาดแคลน เนื่องมาจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลหันมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออก ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวหอมมะลิมากกว่าข้าวเหนียว แต่เมื่อตลาดต่างประเทศต้องการสั่งซื้อข้าวเหนียวมากขึ้น ราคาก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาด
นายพยงค์ พงษ์วศิน ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ จ.อำนาจเจริญ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการลักลอบนำเอาข้าวเหนียว ทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารเข้ามาปลอมปนแล้วจำหน่ายใน จ.อำนาจเจริญ มุกดาหาร และอุบลราชธานี เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในลักษณะกองทัพมด
"หากยังปล่อยให้กองทัพมดทะลักนำเข้าเหนียวอย่างต่อเนื่องจะทำให้ราคาข้าวเหนียวที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าราคาตกต่ำกว่าที่น่าจะเป็น เพราะราคาข้าวเหนียวที่ลักลอบเข้ามามีราคาถูกมาก"
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|