นายวิเชียร ธีระธนานนท์ อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทยอีสานเหนือ 5 จังหวัด ประกอบด้วย อุดรธานี สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู และ เลย กล่าวถึงสถานการณ์ข้าวเหนียวในประเทศว่า ขณะนี้ปริมาณความต้องการของข้าวเหนียวเริ่มขาดแคลน และราคาก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ราคาผลผลิตในปีที่ผ่านมา ข้าวเปลือกเหนียวเฉลี่ยตันละ 8,000 บาท ปัจจุบันราคาขยับพุ่งสูงถึงตันละ 13,500 บาท
ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ข้าวเหนียวมีราคาสูงเนื่องจากตลาดในประเทศยังคงบริโภคอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ได้นำเข้าข้าวเหนียวจากไทย เพื่อนำไปผลิตขนมขบเคี้ยว และสุรา
"จากที่ราคาข้าวเหนียวในประเทศมีราคาแพง โดยราคาขายหน้าโรงสี ข้าวสารเหนียวเฉลี่ยกิโลกรัมละ 26.50-27 บาท ส่งผลให้มีกองทัพมดลักลอบนำข้าวเหนียวจากประเทศเวียดนาม เข้าผ่านแขวงสะหวันนะเขต ส.ป.ป.ลาวเข้ามาชายแดนไทย-ลาว ด้านจังหวัดมุกดาหาร เนื่องจากมีราคาถูกกว่าข้าวเหนียวไทย เฉลี่ยกิโลกรัมละ 18-19 บาทเท่านั้น ทำให้มีกองทัพมดได้ลักลอบเข้ามาจำหน่ายในประเทศ แต่กระนั้นก็ไม่ทำให้ราคาข้าวในตลาดผันผวน เพราะเมื่อเทียบคุณภาพระหว่างข้าวเหนียวไทยกับข้าวเหนียวเวียดนามแล้ว คุณภาพข้าวเหนียวไทยจะดีกว่า ประกอบกับตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการอยู่ ทำให้ราคาไม่ตกต่ำมากนัก " นายวิเชียร กล่าว
แม้ว่าจีนจะมีความต้องการสั่งซื้อข้าวเหนียวจากไทยในปริมาณมากก็ตาม แต่เนื่องจากราคาข้าวเหนียว ที่พุ่งอย่างต่อเนื่องราคาสูงสุดอยู่ที่ตันละ 13,500 บาท ทำให้ขณะนี้จีน เริ่มชะลอการสั่งซื้อเนื่องจากสู้ราคาไม่ไหว โดยหันไปนำเข้าข้าวเหนียวจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างของประเทศพม่า และเวียดนาม แทน
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า จากตัวเลขเดือนมกราคม-มีนาคม พบว่า จีนมีการสั่งซื้อไม่จำกัดปริมาณ จนทำให้ราคาทยอยปรับตัวสูงขึ้น แต่นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ปัจจุบัน จีนชะลอการสั่งซื้อที่ลดลง แม้ว่าปริมาณความต้องการยังสูงก็ตาม ทำให้ราคาข้าวเหนียวในประเทศปรับลดลงมาจากเดิมตันละ 13,500 บาท ลดลงมาเหลือตันละ 13,300 บาท
"เชื่อว่าแนวโน้มราคาข้าวเหนียวในฤดูกาลผลิตปี 2550/2551 คงไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกแล้ว หรือราคาอาจจะลดต่ำลงมากกว่า เพราะปัจจุบันประเทศจีนเอง ก็เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวเพื่อป้อนโรงงานและลดการนำเข้า ประกอบกับไทยเองก็หันมาปลูกข้าวเหนียวในสัดส่วนที่มากกว่าข้าวหอมมะลิ เนื่องจากมองว่าในปีนี้ราคาข้าวเหนียวอยู่ในเกณฑ์ดี " นายวิเชียร กล่าว และว่าจากกรณีที่เกษตรกรหันมาปลูกข้าวเหนียวมากขึ้น จึงหวั่นเกรงว่าอาจจะเกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย หรือ ผลผลิตล้นตลาดจนทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งเป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์อุปสงค์อุปทาน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|