www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

เซียนข้าวฟันธง! ปี 2551 ปีทองข้าวไทย


     "ข้าว" นับเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ เพราะเกี่ยวพันกับชีวิตเกษตรกรไทยถึง 35 ล้านครอบครัว ภาวะราคาข้าวในแต่ละปี ย่อมสะท้อนถึงกำลังซื้อและมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย วันที่ 17 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา "ฐานเศรษฐกิจ" ได้จัดเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง "ข้าวไทยปี 2550/51 จะไปทางไหน?" โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวร่วมเป็นวิทยากร ได้แก่นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)นายปราโมทย์ วานิชานนท์ ประธานที่ปรึกษาสมาคมโรงสีข้าวไทย นางกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ เลขาธิการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ นายประสิทธิ์ บุญเฉย เลขาธิการสมาคมชาวนาไทย วิทยากรแต่ละท่านได้สะท้อนมุมมองเรื่องข้าวไว้อย่างรอบด้าน

ปีหน้าปีทองข้าวไทย:

     นางกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ เลขาธิการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ส่งออกข้าว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนมาถึงภาวะราคาข้าวในประเทศที่เกษตรกรจะขายได้ รวมถึงกำลังซื้อในประเทศด้วยว่า ปีการผลิตข้าว 2550/51 จะเป็นปีทองของข้าวไทย เพราะว่าปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า คำสั่งซื้อข้าวเข้ามายังประเทศไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวสำคัญประเทศหนึ่งปริมาณข้าวไม่พอส่งออก จนรัฐบาลต้องประกาศห้ามส่งออกข้าว ขณะเดียวกันอินเดียเป็นอีกประเทศที่รัฐบาลห้ามส่งออกข้าว ดังนั้นผู้ซื้อทุกคนจึงมุ่งตรงมาที่ประเทศไทย และเป็นปีที่ดีของชาวนาด้วย ไม่ว่าจะมีโครงการรับจำนำหรือไม่ก็ตาม เพราะว่าข้าวขายดี

     อย่างไรก็ดีเธอกล่าวว่าปัญหาที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงคือเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะข้าวเป็นสินค้าที่มีกำไรต่ำ ขณะเดียวกันอยากให้ภาครัฐช่วยเร่งจัดการระบายข้าวที่มีอยู่ในสต๊อก เพื่อให้ราคาข้าวในท้องตลาดสะท้อนความเป็นจริง รวมถึงการกำหนดมาตรฐานข้าวเปลือก ที่ผ่านมาโครงการรับจำนำมีผลต่อคุณภาพข้าว เพราะชาวนาผลิตออกมาอย่างไรก็ขายได้จึงไม่ได้พัฒนาปรับปรุง ทำให้กระทบมาถึงกระบวนการสุดท้ายคือผู้ส่งออก และมาตรฐานส่งออกก็ต้องปรับให้สอดคล้องด้วยเพราะทุกวันนี้มาตรฐานส่งออกสูงเกินไม่สอดคล้องกับคุณภาพข้าวเปลือกทำให้ผู้ส่งออกทำไม่ได้

ฝาก "ยุทธศาสตร์ข้าว"รัฐบาลใหม่:

     ด้านนายปราโมทย์ วานิชานนท์ ประธานที่ปรึกษาสมาคมโรงสีข้าวไทย มองสถานการณ์ข้าวปีหน้าว่า ตลาดข้าวยังเป็นของผู้ขาย จึงไม่วิตกกับสถานการณ์ราคาปีหน้า ทั้งการจำนำอาจจะรับจำนำได้น้อยกว่าที่ตั้งไว้ก็ได้ แต่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญคือ "ยุทธศาสตร์ข้าว" ซึ่งขณะนี้ยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศซึ่งถูกจัดทำขึ้นโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องข้าวและใช้เวลาระดมความคิดมานานกว่า 3 ปี ได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยสาระของยุทธศาสตร์ 80% น้ำหนักลงไปที่การพัฒนาภาคผลิตหรือตัวชาวนาผู้ผลิตข้าว เพราะเชื่อว่าหากยกระดับขีดความสามารถการผลิตของชาวนาได้ อนาคตจะสามารสู้กับราคาตลาดที่มีขึ้นมีลงได้ พร้อมกันนี้เขาได้ชี้ว่าเรื่องของข้าวไทยพร้อมที่จะแข่งขันได้ตลอดเวลา หากแต่ยังขาดการบริหารจัดการ ขาดเจ้าภาพที่จะจัดการ ยุทธศาสตร์ข้าวที่จัดทำขึ้นเสมือนเป็นโรดแมป รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศควรจะให้ความสำคัญและดำเนินการตามยุทธศาสตร์เพื่อข้าวไทยจะได้พัฒนาอย่างยั่งยืน

     ประธานที่ปรึกษาสมาคมโรงสีข้าวไทย ได้ระบุด้วยว่าวันนี้โครงสร้างธุรกิจข้าวทั้งระบบอยู่ในสภาพอ่อนแอไม่ว่าจะเป็นภาคผู้ประกอบการโรงสีที่เกิดจากการแห่ขยายกิจการรองรับโครงการจำนำของรัฐบาล ภาคชาวนาที่ต้นทุนผลิตต่อไร่สูง หากยังไม่ได้พัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ กันอย่างจริงจัง ภาพของการเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกจะเป็นได้แค่ภาพ แต่ข้างในยังกลวงอยู่

พัฒนาชาวนาเพื่อความยั่งยืนชาวนาไทย:

     ขณะที่นายประสิทธิ์ บุญเฉย เลขาธิการสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า เพื่อให้ชาวนามีรายได้ที่ดีขึ้นอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องของการพัฒนาชาวนาไทยให้ควบคุมต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดแข่งขันได้ โดยเฉพาะเรื่องของราคาข้าวอยากให้รัฐบาลประกาศราคาให้ชาวนาได้รับทราบก่อนทำการผลิต เพื่อจะได้ทราบว่าราคาที่จะขายได้เป็นเท่าไร จะได้ควบคุมต้นทุนการผลิตให้สอดคล้องกับราคาที่จะขายได้

     นายกสมาคมชาวนาไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่เนื่องจากยังไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่าการรับจำนำจึงยังมีความจำเป็นต้องมีอยู่

     "ที่ผ่านมามักพูดกันว่าโครงการรับจำนำข้าวของชาวนาปีหนึ่งๆ ขาดทุนเป็นหมื่นล้าน ผมถามว่าตรงนี้ชาวนามีส่วนทำให้ขาดทุนหรือไม่ ไม่ได้ทำเลย ชาวนาเราไม่รู้เรื่อง แต่ชาวนาเป็นผู้ที่ถูกอ้างว่าทำให้โครงการรับจำนำขาดทุน ผมว่าถ้าขาดทุนปีละหมื่นล้าน เอาเงินหมื่นล้านมาพัฒนาชาวนาอย่างจริงจัง ให้ตกถึงมือชาวนาจริงๆ ไม่ต้องเปิดโครงการจำนำจะดีกว่า"

"จำนำข้าว"ควรเป็นมาตรการเสริม:

     ทั้งนี้มาตรการยกระดับราคาข้าว ที่รัฐบาลดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือ "การรับจำนำข้าว" นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่าสำหรับปีการผลิต 2550/51 มีปัจจัยหลายๆ อย่างเอื้ออำนวยในทิศทางที่ดีต่อสถานการณ์ข้าว การรับจำนำอาจไม่มีความจำเป็น แต่ก็ไม่ควรประมาททุกฝ่ายต้องมีมาตรการรองรับสถานการณ์ในวันข้างหน้า

     อย่างไรก็ดีข้าวเป็นสินค้าที่มีอนาคต จึงอยากเห็นทุกฝ่ายพัฒนาเรื่องข้าวอย่างจริงจัง พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่อยากเห็นการแก้ไขปัญหาราคาข้าวด้วยวิธีการใช้มาตรการรับจำนำเป็นมาตรการหลัก การจำนำข้าวควรเป็นเพียงมาตรการเสริมเท่านั้น ส่วนมาตรการหลักควรเร่งระดมขายทั้งรัฐและเอกชนช่วยกันขาย โดยเฉพาะปีนี้สถานการณ์โดยรวมไปได้ดี ผู้ส่งออกก็บอกว่ากลัวว่าข้าวจะไม่มีขาย แต่คณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.)กำหนดปริมาณรับจำนำข้าวไว้ถึง 8 ล้านตัน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงสำหรับปีนี้ ปริมาณตั้งรับจำนำที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านตันหรือ 10% ของผลผลิตข้าวทั้งปี (นาปี 23 ล้านตัน นาปรัง6 ล้านตัน)

    ในปีนี้ธ.ก.ส.ได้ตั้งวงเงินรับจำนำไว้ที่ประมาณ 24,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกประมาณ 3 ล้านตันข้าวเปลือก หากมากกว่านี้รัฐบาลต้องเป็นคนจัดหางบประมาณมาดำเนินการ พร้อมกันนี้ได้เสนอว่าวงเงิน 24,000 ล้านบาทให้รัฐบาลเคลียร์ให้แล้วเสร็จปีต่อปีอย่างน้อย 80%

    "ไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐ นโยบายจำนำเป็นนโยบายที่ดีแต่ต้องทำเป็นมาตรการเสริมและปริมาณที่เหมาะสม การรับจำนำในปริมาณที่มากๆ และตั้งราคาสูงกว่าท้องตลาด จนทำให้ชาวนาแห่กันมาจำนำและไม่ไถ่ถอน ทำให้รัฐต้องรับผิดชอบ วันนี้รัฐยังมีภาระต้องจ่ายธ.ก.ส.เป็นมูลค่าถึง 60,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นส่วนคงค้างของสินค้าที่รอการขายอยู่"

ทำไมต้องจำนำ 8 ล้านตัน:

     อย่างไรก็ดีจากกรณีที่หลายฝ่ายได้ให้ความเห็นตรงกันว่าสถานการณ์ราคาข้าวปีหน้ามีแนวโน้มที่ดี ทั้งยังจะเป็นปีทองข้าวไทย ปริมาณจำนำข้าวจึงไม่น่าถึง 8 ล้านตัน พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่าทำไม กขช.จึงกำหนดปริมาณข้าวที่จะรับจำนำไว้สูงถึง 8 ล้านตัน นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าปริมาณและราคาจำนำข้าวที่ตั้งไว้ปีนี้คือ 8 ล้านตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งตั้งไว้ 9 ล้านตัน ส่วนราคาสูงกว่าเฉลี่ยตันละ 300 บาท เป้าหมายหลักคือต้องการให้เกษตรกรมีรายได้เสถียรภาพ ไม่ให้ได้รับผลกระทบช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งตัวเลขที่ออกมานั้นเป็นการมองแบบราชการคือมองมุมผสมผสาน ปีที่แล้วตั้งไว้ 9 ล้านตันปีนี้ลดลงเหลือ 3 ล้านตันเกษตรกรอาจไม่พอใจ เราก็ลดลงมาเหลือ 8 ล้านตันเป็นไปตามยุทธศาสตร์

     ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ตั้งราคารับจำนำข้าวสูงกว่าปีที่ผ่านมาตันละ 300 บาท เชื่อว่าปีนี้ราคาข้าวหอมมะลิไม่ต่ำกว่าตันละ 9,000 บาทอย่างแน่นอน ส่วนข้าวเปลือกเจ้าหลังจากที่ประกาศราคาจำนำออกไปแล้วผู้ซื้อต่างประเทศตัดสินใจเข้ามาซื้อเป็นจำนวนมาก ถ้าเป็นอย่างนี้เกษตรกรมีแนวโน้มขายข้าวได้ราคาสูงขึ้น

     แนวโน้มสถานการณ์ข้าวในปีหน้า เซียนข้าวสรุปตรงกันว่าเป็นปีทองข้าวไทย พร้อมกับฝากการบ้านถึงรัฐบาลชุดใหม่ให้เข้ามาสานต่อ "ยุทธศาสตร์ข้าวไทย" เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวให้ยั่งยืน ลดการรับจำนำซึ่งเป็นมาตรการเฉพาะหน้า งบประมาณที่อัดฉีดลงไปไม่ตกถือมือเกษตรกรอย่างแท้จริง

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

 


©
The Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.