นางสำลี บุญญาวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว เปิดเผยว่า ปี 2551 กรมการข้าวจะนำผลงานวิจัยพันธุ์ข้าวลูกผสมใหม่ ให้เกษตรกรปลูก 2 สายพันธุ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการดำเนินธุรกิจ เพื่อแข่งขันกับการจำหน่ายพันธุ์ข้าวของเอกชน ที่มีการวิจัยและผลิตจำหน่ายก่อนกรมการข้าว แต่ราคาพันธุ์ข้าวของกรมจะขายต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไป เนื่องจากเป็นข้อจำกัดทางราชการ
“ความเป็นราชการทำให้การเปิดช่องทางธุรกิจจำหน่ายพันธุ์ข้าวยังติดขัดในข้อกฎหมาย ไม่สามารถขายได้โดยตรง ดังนั้นกรมจะขอทุนสนับสนุนทางวิชาการจากสำนักงานพัฒนาการการเกษตร (สวก.) เพื่อใช้ลิขสิทธิ์ร่วมกัน จากนั้นก็จะแบ่งปันผลประโยชน์ภายหลัง ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือ“ นางสำลี กล่าว
สำหรับพันธุ์ข้าวลูกผสมของกรมมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับ "พันธุ์ข้าวปทุมธานี" มีความนุ่ม แต่อาจจะด้อยกว่าพันธุ์ปทุมธานีเล็กน้อย คือไม่มีความหอมมั่นใจว่าให้ผลผลิตต่อไร่สูงมากไม่ต่ำกว่า 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่พันธุ์ข้าวทั่วไปให้ผลผลิต 700-800 กิโลกรัมต่อไร่
“พันธุ์ข้าวที่จะออกสู่ตลาดครั้งนี้ กรมใช้เวลาวิจัยมา 20-30 ปี จนได้พันธุ์ที่นิ่ง เมื่อเทียบกับของเอกชน พบว่าแม้เชิงปริมาณจะให้ผลผลิตมาก แต่ในเชิงคุณภาพยังทำได้ไม่ดีนัก ส่วนใหญ่นำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มากกว่า ไม่เหมาะสำหรับรับประทาน" นางสำลี กล่าว
นางสาวอรพิน วัฒเนสก์ นักวิชาการเกษตร 8 ว. ระบุว่าถ้าเปรียบเทียบกับภาคเอกชนอย่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ( ซีพี) เตรียมออกจำหน่ายในปี 2551 เช่นเดียวกัน 2 พันธุ์ ซึ่งพันธุ์ของซีพีใกล้เคียงกับพันธุ์ชัยนาท 1 ขณะนี้ปลูกทดลองอยู่ที่ จ.กำแพงเพชร ซึ่งพันธุ์ข้าวลูกผสมของกรม รับประกันให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ปกติไม่ต่ำกว่า 20% แน่นอน
ส่วนราคาขายทราบว่าทางซีพีจะขายราคากิโลกรัมละ 100 บาท แต่ของกรมอาจขายให้เกษตรกรเพื่อนำไปเพาะปลูกในราคากิโลกรัมละกว่า 50 บาท ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด หากผลิตได้มากต้นทุนก็จะยิ่งต่ำ สามารถขายให้เกษตรกรในราคาถูกได้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|