www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

พาณิชย์ปลื้มลดปัญหาข้าวหอมไม่ได้มาตรฐาน


     อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศระบุมีมาตรการเข้มงวดในการติดตามคุณภาพมาตรฐานข้าวที่ส่งออกอย่างสม่ำเสมอ โดยตรวจพบผู้ประกอบการบางรายทำการปลอมปนข้าว ตั้งแต่ปี 2546 เกิดวิกฤตการณ์ปลอมปนข้าวหอมมะลิไทย โดยนำข้าวพันธุ์อื่น เช่น ข้าวปทุมธานี 1 ข้าวหอมพิษณุโลก และข้าวหอมสุพรรณบุรี ซึ่งมีคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิไทย ผสมหรือปนเข้าไป แล้วขายในชื่อของข้าวหอมมะลิไทย สามารถป้องกันลดปัญหาปลอมปนข้าวน้อยลงและดีขึ้นมากแล้ว

     นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งออกเป็นสินค้ามาตรฐานตาม พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 ซึ่งกำหนดความบริสุทธิ์ หรือเปอร์เซ็นต์ข้าวของข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข. 15 ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 92 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2545 ที่ผ่านมา โดยมีมาตรการการกำกับดูแลและการตรวจสอบที่เข้มงวด ตลอดจนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด (promotion) อย่างต่อเนื่องตลอดมา ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนกำหนดมาตรฐาน

     ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการเข้มงวดในการติดตามคุณภาพมาตรฐานข้าวที่ส่งออกอย่างสม่ำเสมอ โดยตรวจพบผู้ประกอบการบางรายทำการปลอมปนข้าว โดยเฉพาะในปี 2546 เกิดวิกฤตการณ์ปลอมปนข้าวหอมมะลิไทย โดยนำข้าวพันธุ์อื่น เช่น ข้าวปทุมธานี 1 ข้าวหอมพิษณุโลก และข้าวหอมสุพรรณบุรี ซึ่งมีคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิไทย ผสมหรือปนเข้าไป แล้วขายในชื่อของข้าวหอมมะลิไทย ประกอบกับกระบวนการตรวจสอบเบื้องต้น โดยการตรวจความสุกในเมล็ดข้าวที่ต้มในน้ำเดือด เป็นเวลา 17 นาที หรือวิธีการตรวจหาปริมาณข้าวหอมมะลิไทยทางเคมี (หาค่าระดับการสลายเมล็ดข้าวในด่าง) ไม่สามารถตรวจสอบสายพันธุ์ หรือแยกข้าวหอมมะลิไทยออกจากข้าวพันธุ์อื่น ๆ ได้ แต่วิธีการตรวจสอบวิเคราะห์เอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) สามารถที่จะตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวได้อย่างแม่นยำและชัดเจน

     อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวจะสร้างความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเน้นคุณภาพข้าวที่ส่งออกต้องเป็นข้าวหอมมะลิไทยจริงไม่ให้มีการปลอมปน กระทรวงพาณิชย์ได้นำวิธีการนี้มาใช้ในการสุ่มสอบทานการปลอมปน โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้า กรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดส่งตัวอย่างในการตรวจวิเคราะห์ หากปรากฏผลการวิเคราะห์ข้าวส่งออกในจำนวน หรือล็อตนั้น ๆ มีคุณภาพไม่ถูกต้อง จะถูกระงับการส่งออก และผู้ส่งออกต้องนำข้าวมาปรับปรุงคุณภาพให้ถูกต้องตามมาตรฐานก่อน จึงจะอนุญาตให้ส่งออกต่อไป วิธีนี้เป็นการป้องกัน และป้องปรามผู้ส่งออกจากการปลอมปน เนื่องจากผลการวิเคราะห์เป็นข้อบ่งชี้ชัดทางวิทยาศาสตร์และเป็นที่ยอมรับกันในสากล

     พร้อมกันนี้ก็มีกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อผู้เกี่ยวข้องซึ่งทำการผลิตและการค้าข้าวหอมมะลิไทยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2547 ที่ผ่านมาได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างข้าวในขั้นตรวจสอบมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยในขณะส่งออก ซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อจัดส่งตรวจเอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) เป็น จำนวน 65 319 330 และ 149 ตัวอย่าง ตามลำดับ

     โดยผลการตรวจวิเคราะห์เอกลักษณ์พันธุกรรมในภาพรวม พบว่า กลุ่มตัวอย่างข้าวส่งออกมีคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยถูกต้องตามมาตรฐานกำหนด มีอัตราแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นร้อยละ 80.0 94.7 94.5 และ 97.3 ขณะเดียวกัน ในกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณภาพไม่ถูกต้องมีแนวโน้มลดต่ำลง โดยเป็นร้อยละ 20.0 5.3 5.5 และ 2.7 เช่นเดียวกับกลุ่มข้าวผสม (80:20) ลดลง เป็นร้อยละ 7.7 6.6 6.0 และ 2.7 ตามลำดับในช่วงเวลาดังกล่าว

     ทั้งนี้ จากการเปรียบเทียบกับ ในช่วงปี 2546 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะนำวิธีการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรม(DNA) มากำหนดใช้ในการตรวจทานได้ พบกลุ่มตัวอย่างข้าวหอมมะลิไทยส่งออกคุณภาพถูกต้องเพียงร้อยละ 53 และกลุ่มตัวอย่างคุณภาพไม่ถูกต้องร้อยละ 47 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปลอมปนหรือกลุ่มตัวอย่างข้าวที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานกำหนดได้ลดน้อยถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เกิดความตระหนัก (awareness) ให้ความสำคัญในการรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้าส่งออกข้าวหอมมะลิไทยเพิ่มมากขึ้น

ที่มา สำนักข่าวไทย

 


©
The Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.