กรมการค้าต่างประเทศ(คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลไทยได้ทำสัญญาซื้อขาย จำนวน 200,000 ตัน(ข้าวขาว 15%) ให้กับองค์การสำรองอาหารแห่งอินโดนีเซีย(บูล็อก)เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 กำหนดส่งมอบเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2550 โดยการส่งมอบข้าวงวดแรกจำนวน 25,000 ตันบริษัท พงษ์ลาภ และบริษัท เอเซียโกลเด้นไรซ์ชนะการประมูลปรับปรุงคุณภาพข้าวและได้ทำการส่งมอบไปแล้ว ส่วนอีก 175,000 ตันที่เหลือมี 9 บริษัทชนะการประมูลปรับปรุงคุณภาพข้าวในงวดที่ 2 ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยส่งมอบข้าวไปแล้วรวมประมาณ 110,000 ตัน ยังเหลืออีกประมาณ 65,000 ตันที่ทางอินโดนีเซียได้ขยายเวลาส่งมอบถึงเดือนกรกฎาคมเพราะปัญหาขาดแคลนเรือที่จะมารับข้าว
อย่างไรก็ตามล่าสุดได้มีปัญหาเกิดขึ้นอีก เมื่อทางอินโดนีเซียได้แจ้งมายังกรมว่า ข้าวที่ไทยส่งไปผิดสเปกจากที่ตกลงกันไว้โดยมีปริมาณข้าวเมล็ดหักปลอมปนเกินปริมาณที่กำหนด และยังระบุอีกว่าข้าวไทยมีแมลงเจือปน ซึ่งทางอินโดนีเซียได้แสดงท่าทีที่จะไม่รับมอบข้าวจากไทยในส่วนที่เหลือหากไม่มีการปรับปรุงคุณภาพให้ดี
"ในการเจรจาซื้อขายข้าวกับบูล็อกเราได้ตกลงกันไว้ว่า จะใช้เกณฑ์มาตรฐานข้าวขาว 15% ของไทยคือมีข้าวเมล็ดหัก ปนได้ไม่เกิน 17% ขณะที่มาตรฐานอินโดฯมีข้าวหักปนได้ไม่เกิน 15% บางล็อตที่เราส่งไปดีกว่ามาตรฐานมากคือปนแค่ 14.6% เขาก็ยังโวยมาว่ารับไม่ได้ของเขาต้อง 15% เท่านั้น เรามองว่าเขาสับสนเอง ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้อินโดฯไม่ซื้อข้าวจีทูจีเรามานานแล้ว เพราะการซื้อข้าวจีทูจีมีนอกมีในลำบาก การตำหนิเราครั้งนี้มองว่าอาจมีวาระซ่อนเร้น"
ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในวันที่ 25-26 มิถุนายนนี้จะเดินทางไปอินโดนีเซียเพื่อพบและทำความรู้จักกับประธานบูล็อกคนใหม่ นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายหลักในการเปิดเจรจาขายข้าวให้อินโดนีเซียในล็อตใหม่ ส่วนปัญหาการส่งมอบข้าวหากทางอินโดนีเซียสงสัยก็พร้อมที่จะชี้แจงทำความเข้าใจว่าข้าวไทยที่ส่งมอบถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนดทุกประการ และได้ผ่านการตรวจรับรองจากบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) อย่างเข้มงวด
แหล่งข่าวจาก คต. เปิดเผยอีกว่า นอกจากการเจรจาขายข้าวจีทูจีให้กับอินโดนีเซียเพิ่มแล้ว ล่าสุดทางรัฐบาลอิหร่านได้ติดต่อทางโทรศัพท์กับอธิบดี คต.เพื่อขอซื้อข้าวขาว 100% ชั้น 2 จากรัฐบาลไทยในเบื้องต้นอีก 130,000 ตัน ในเร็วนี้ๆ ทางอิหร่านจะเดินทางมาเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ ก่อนหน้านี้อิหร่านได้เซ็นสัญญาซื้อข้าวไทยไปแล้ว 2 งวดรวมทั้งสิ้น 380,000 ตัน และอยู่ระหว่างการส่งมอบให้ครบตามสัญญา
อนึ่ง จากกรณีที่ ดร.พิสุทธิ์ ชลากรกุล ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาระบุว่า ได้เกิดกรณียักยอกข้าวเปลือกโครงการรับจำนำของรัฐบาลจำนวน 3,956 ตัน และข้าวสารจำนวน 590 ตัน รวมมูลค่าประมาณ 31 ล้านของโรงสีกิจเจริญพาณิชย์ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี โดยข้าวจำนวนดังกล่าวได้นำมาสีและขายให้กับผู้ส่งออกรายใหญ่ 7-8 บริษัทมีรายละเอียดหมายเลขรถบรรทุก วันที่ และสถานที่จัดส่ง รวมถึงรายชื่อบริษัทรับข้าวปลายทางอย่างชัดเจน โดย อคส.อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานส่งดำเนินคดีกับโรงสีในข้อหายักยอกทรัพย์ และผู้ส่งออกในข้อหารับซื้อของโจรต่อไป
ต่อเรื่องดังกล่าวนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ข้อกล่าวหารับซื้อของโจรมองว่ารุนแรงเกินไป และอาจส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของผู้ส่งออกมากทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุด ( 21 มิ.ย.)สมาคมได้ส่งจดหมาย 2 ฉบับถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้อำนวยการ อคส.เพื่อชี้แจงว่าผู้ส่งออกไม่ได้มีส่วนรู้เห็น การกระทำของโรงสีรายดังกล่าวเพราะทุกรายซื้อข้าวผ่านนายหน้า (หยง) โดยซื้อในราคาตลาด และที่ผ่านมาทาง อคส.ก็ไม่เคยแจ้งข้อมูลว่าโรงสีรายมีปัญหาอย่าไปซื้อ ซึ่งหากได้รับโอกาสทางสมาคมพร้อมที่จะชี้แจงทำความเข้าใจ
ขณะที่นายสมพงษ์ กิตติเรียงลาภ ประธานบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด หนึ่งในบริษัทส่งออกข้าวรายใหญ่ กล่าวว่า ปกติตามโกดังข้าวโครงการรับจำนำ จะมีหัวหน้าหน่วย และเจ้าหน้าที่ดูแลตรวจสอบการเข้าออกข้าวโครงการรับจำนำอยู่เป็นประจำ การยักยอกข้าวดังกล่าวเป็นไปไม่ได้หากเจ้าหน้าที่ อคส.ไม่ร่วมด้วย ดังนั้นการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ อคส.กับโรงสีจึงจะถูกต้อง เพราะผู้ส่งออกไม่มีส่วนรู้เห็น
ด้านดร.พิสุทธิ์ ชลากรกุล ผู้อำนวยการ อคส. กล่าวว่า พร้อมที่จะรับฟังคำชี้แจงจากผู้ส่งออก อย่างไรก็ดีมีหลักฐานอย่างชัดเจนเกี่ยวกับใบหักภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่โรงสีกิจเจริญฯออกให้กับผู้ส่งออกข้าว ดังนั้นขอให้ผู้ส่งออกได้เตรียมไปให้ปากคำกับตำรวจจะดีกว่า ในเรื่องนี้ทาง อคส.ได้คุยกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)แล้ว ซึ่งทุกฝ่ายได้ไฟเขียวให้ อคส.ดำเนินการเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้มีพฤติกรรมเลียนแบบที่ก่อให้ความเสียหายแก่รัฐเกิดขึ้นอีก
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ |