นายพิสุทธิ์ ชลากรกุล ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้า กระทรวงพาณิชย์จะเปิดระบายข้าวสารจากโครงการรับจำนำปี 2547/2548 และ 2548/2549 รวมปริมาณ 9 แสนตัน โดยในจำนวนนี้เป็นข้าวในโกดังที่บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ไม่มารับมอบตามสัญญาที่ทำไว้กับ อคส ล็อตสุดท้ายจำนวน 2.6 แสนตัน
ทั้งนี้หากขายข้าวจำนวนนี้ได้ เมื่อรวมกับข้าวในส่วนที่บริษัทเพรซิเดนท์ฯ ไม่มารับมอบตามสัญญาที่ได้นำขายไปแล้วก่อนหน้านี้ปริมาณ 1.05 ล้านตัน ทาง อคส.จะสามารถคำนวณความเสียหายที่เพรซิเดนท์ฯ ต้องชดใช้ให้รัฐบาล
ส่วนเกณฑ์การคำนวณค่าเสียหาย จะพิจารณาจากค่าเก็บรักษา ค่าปรับ 0.2% ของมูลค่าข้าวที่ไม่มารับมอบ และส่วนต่างราคาข้าวที่รัฐบาลขายกับราคาที่บริษัทเพรซิเดนท์ฯ ได้ทำสัญญาไว้กับรัฐ
ทั้งนี้ หากรัฐบาลสามารถขายข้าวได้หมด ตามจำนวนที่เปิดประมูลในครั้งนี้ จะทำให้รัฐบาลมีข้าวคงเหลือในสต็อกของรัฐบาลเพียง 2 ล้านตัน จากเดิมที่มีข้าวในสต็อกของรัฐบาลจำนวน 4.4 ล้านตัน
“ขณะนี้ตลาดมีความต้องการข้าวสาร ผู้ส่งออกมีออเดอร์ส่งข้าวให้กับผู้ซื้อต่างประเทศยาวไปจนถึงเดือนม.ค.2551 เพราะประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดีย หยุดการส่งออกข้าว ส่วนข้าวที่เหลือในสต็อกของรัฐอีก 2 ล้านตัน เป็นข้าวปี 2549/2550 ซึ่งเป็นข้าวที่รับจำนำมาใหม่ ทำให้รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาแบกรับภาระสต็อกข้าวได้” นายพิสุทธิ์ กล่าว
นายพิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า สัปดาห์หน้า อคส.จะขอหารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรณีที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ให้ความร่วมมือกับ อคส. ในการยึดเงินค้ำประกันหรือแบงก์การันตี จากผู้ประกอบการโรงสีหรือโกดังข้าวที่ธนาคารพาณิชย์ออกให้ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ให้เหตุผลว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ และไม่มีคำตัดสินว่าเอกชนเป็นฝ่ายทำผิดสัญญากับ อคส. ส่งผลให้ อคส.ไม่สามารถเรียกเก็บค่าเสียหายจากเงินค้ำประกันนั้น ทำให้ไม่สามารถเรียกเก็บได้จากส่วนนี้จำนวนหลายร้อยล้านบาท เพื่อส่งคืนให้คณะกรรมการนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)
“ทุกครั้งที่ทำธุรกรรม เอกชนจะต้องวางแบงก์การันตีให้กับรัฐ แต่หาก อคส.ไม่สามารถยึดเงินส่วนนี้มาได้ กรณีที่เอกชนทำผิดสัญญาเท่ากับว่าแบงก์การันตีเป็นเพียงเศษกระดาษเท่านั้น ดังนั้นจะหารือกับ ธปท.ว่าจะให้ อคส.ปฏิบัติตัวอย่างไรในกรณีดังกล่าว” นายพิสุทธิ์ กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|