หนังสือพิมพ์"ฐานเศรษฐกิจ" ฉบับที่ 2245 วันที่19-22 สค.พาดหัวใหญ่ให้เห็นว่า "ข้าวเหนียวพุ่งแซงมะลิ" ทั้งระบุว่าข้าวเหนียว ซึ่งประชาชนชาวอีสานและภาคเหนือส่วนใหญ่บริโภคกันนั้น ราคาพุ่งมหาโหดตันละ 30,000 บาท ซึ่งปัญหานี้มิใช่จู่ๆจะมีปาฏิหาริย์ใดๆทำให้แพง และจะคิดง่ายง่ายว่า ข้าวเหนียวแพงคนปลูก (อีสาน-เหนือ) รวยแล้ว!
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น รายงานจากการติดตามราคาข้าวเหนียวตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี2549 พบว่าแพงแซงข้าวหอมมะลิไปถึงตันละ2000 บาท ทั้งระบุว่าที่ข้าวเหนียวแพง มีสาเหตุ2 ประการ 1. เกิดจากจีนนำเข้าไปทำสาเกรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น 2. เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกข้าวหอมมะลิตามยุทธศาสตร์รัฐบาลช่วงที่ข้าวหอมมะลิแพง
นายสุรพงษ์ ปรานศิลป์ อธิบดีกรมการข้าวระบุว่า ข้าวเหนียวที่ปรับสูงถึง 12,000-12,800 บาทต่อตัน ซึ่งเกิดจากการซื้อของจีนนั้น จะยาวไป1-2 ปี แต่อย่าได้นอนใจว่าคนปลูกข้าวเหนียวจะรวย เพราะจีนก็ทำท่าจะปลูกข้าวเหนียวเองบ้าง
มีรายงานจากอุตสาหกรรมจังหวัดอำนาจเจริญว่า ได้พบการลักลอบนำข้าวเหนียวจากลาวและเวียดนามมาขายในไทย เพื่อกินส่วนต่างตัดหน้าข้าวไทยที่ราคาพุ่งไมหยุด ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ที่ข้าวเหนียวราคาดี เกษตรกรภาคเหนือแถวๆกำแพงเพชร , แพร่ และอุตรดิตถ์ ก็หันปลูกข้าวเหนียวนาปีแทนข้าวจ้าวเสียอีก
คนปลูกข้าวจริงๆวันนี้ ถึงเข้าสู่ความจนสามัญ "คือข้าวไม่มีขายและซื้อกินก็แพง"
"ฐานเศรษฐกิจ"สำรวจราคาขายที่ร้านขายย่อยที่ตลาดสดเทศบาลนครอุดรธานีพบว่าราคาข้าวสารเหนียวที่ 1 ราคาชายปลีก ก.ก.ละ 30 บาท ราคาข้าวสารเหนียวบ้าน (โรงสีเล็ก) ราคา ก.ก.ละ 26 บาท ในขณะที่ราคาข้าวสารจ้าว (ข้าวหอมมะลิบ้าน) ราคา ก.ก.ละ 22 บาท ข้าวหอมมะลิเก่า ก.ก.ละ 20 บาท และหาซื้อข้าวสารจากร้านค้าใหญ่ไม่ค่อยได้ โดยทางร้านส่งจะแบ่งส่งให้ครั้งละ 2-3 กระสอบ
นอกจากนี้แล้วยังพบว่า แนวโน้มว้าในอนาคตอันใกล้นี้ราคาข้าวสารเหนียวที่ 1 (เมล็ดยาว) ก็จะขึ้นราคาเป็น ก.ก.ละ 32-34 บาท ในขณะที่ร้านค้าส้มตำ ไก่ย่าง ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี ขายข้าวเหนียวที่นึ่งแล้วในราคา ก.ก.ละ 30 บาท โดยอ้างว่าข้าวสารเหนียวที่ 1 ขึ้นราคาเป็นกระสอบละ 1400 บาท ซึ่งในตอนต้นปีราคาข้าวเหนียวนึ่งจะขายกันอยู่ที่ ก.ก.ละ 15 บาท และเขยิบราคาขึ้นมาเรื่อยๆจนถึง ก.ก.ละ 30 บาท ในวันนี้ และยังมีแนวโน้มว่าหากราคาข้าวสารขึ้นราคาไปอีก ข้าวเหนียวนึ่งก็จะต้องขึ้นราคาไปด้วย อาจจะขึ้นไปอยู่ที่ ก.ก.ละ 35 -38 บาท
ในขณะที่ราคารับซื้อข้าวเปลือกนาปีประจำวันที่หน้าโรงสีในขณะนี้ขข้าวสารเหนียวเมล็ดยาวราคาอยู่ที่ตันละ/เกวียนละ 12,600-12,800 บาท ข้าวเหนียวเมล็ดสั้นตัน/เกวียนละ 11,50-11,800 บาท ข้าวหอมมะลิ ตัน/เกวียนละ 9,00-9,200 บาท
สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่นำข้าวเหนียวไปแปรรูป นั้น นางสาวกุสุมา อุดมสม ผู้จัดการบริษัท แม่จาขนมไทย จำกัด เจ้าของร้านจำหน่ายขนมไทย บอกกับ "ฐานเศรฐกิจ"ว่า ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาข้าวเหนียวอย่างมาก จากที่เคยซื้อกระสอบละ 700-800 บาท ขณะนี้ต้องซื้อในราคากระสอบละ 1,200-1,300 บาท โดยราคามีการปรับขึ้นเรื่อยๆตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเกือบเท่าตัว เนื่องจากข้าวเหนียวเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของทางร้าน มีสัดส่วนสูงถึง 50 % ส่งผลให้ขณะนี้ทางร้านมีกำไรลดลงเฉลี่ย 10-20 % แต่ก็ยังไม่สามารถปรับขึ้นราคาขายในขณะนี้ได้ กลัวขายยากเพราะขนมไทยไม่ใช่อาหารหลัก
ในอนาคตหากต้นทุนข้าวเหนียวยังขยับขึ้นเรื่อยๆ เพื่อความอยู่รอดทางร้านคงต้องลดปริมาณสินค้าลงแต่ขายในราคาเดิม และหากแบกรับภาระไม่ไหวจริงๆก็จะค่อยๆปรับราคาขายขึ้นในที่สุด เนื่องจากพวกขนมข้าวเหนียวมูล , ข้าวเหนียวแก้วใบเตยผู้บริโภคให้การตอบรับดีมาก
นายจิรวัฒน์ โอสถ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหนองหล่าย บ้านหนองหล่าย ต.เกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง ผู้ผลิตข้าวแต๋นภายใต้แบรนด์ " จิรวัฒน์ข้าวแต๋น" เปิดเผยว่า หลังการปรับราคาข้าวเหนียวซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของการผลิตข้าวแต๋น ขณะนี้กลุ่มผู้ผลิตขนม "ข้าวแต๋น" ในพื้นที่จังหวัดลำปางจำนวนกว่า 10 ราย ได้มีการประชุมเจรจาหาข้อสรุปเรื่อง การปรับราคาสินค้าในอัตราที่เหมาะสม เพราะกลุ่มผู้ผลิตข้าวแต๋นในจังหวัดลำปางมีจำนวนมาก หลายคนไม่กล้าขึ้นราคาเพราะกลัวเสียโอกาสในการแข่งขัน ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมจึงมีการเจรจาและพูดคุยในกลุ่มผู้ประกอบการในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการทั้งหมดยังยืนยันว่าไม่มีการขึ้นราคา แต่หลังจากเดือนกันยายนเป็นต้นไปผู้ประกอบการจังหวัดลำปางจะทยอยปรับราคาขายข้าวแตนขึ้นในอัตรา 10-20% ต่อ 1 แพ็ค เช่น ขนาดราคา 10 บาท เพิ่มเป็น 12 บาท ขนาดราคา 20 บาทเพิ่มเป็น 23 บาท และขนาด 60 บาทเพิ่มเป็น 65 บาท
สำหรับกลุ่มเกษตรกรหนองหล่ายเอง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนคนงานอยู่ทั้งหมด 60 คน สามารถสร้างยอดขายได้เดือนละ 600,000 บาทต่อเดือน ขณะนี้กำลังส่งตัวแทนเพื่อไปเจรจากับบริษัทเอกชนจำนวน 4 ราย ซึ่งถือเป็นลูกค้าหลัก และก็ได้มีข้อสรุปออกมาว่า กลุ่มเกษตรหนองหล่าย จะสามารถขึ้นราคาสินค้าได้ไม่เกิน 10% หรืออาจเลือกที่จะใช้วิธีลดปริมาณสินค้า อย่างเช่น จากที่เคยบรรจุ 50 กรัม ก็ลดจำนวนลงเหลือ 45 กรัม แต่ทั้งนี้ก็มีเงื่อนไขอยู่ว่าจะต้องปรับราคาสินค้าหลังเดือนธันวาคม
สำหรับคนกรุงเทพฯที่นิยมบริโภคส้มตำไก่ย่าง ซึ่งพระเอกในเรื่องขาด"ข้าวเหนียว"ไม่ได้ เมื่อสอบถามไปยังร้านค้าย่อยที่จำหน่ายส้มตำไก่ย่างในเขตกทม. พบว่าค่อนข้างเดือดร้อนกับต้นทุนข้าวเหนียวที่พุ่งสูงขึ้น จากต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาราคาจำหน่ายต่อถัง (ซึ่งมี 15 กิโลกรัม) จำหน่ายถังละ 320 บาท พอกลางเดือนปรับขึ้นมาเป็น 350 บาท ปัจจุบันต้องซื้อข้าวเหนียวในราคาถังละ 420 บาท ซึ่งเกรดข้าวเหนียวค่อนข้างต่ำหรือบางครั้งก็มีการเอาข้าวเหนียวเวียดนามมาผสมกับของไทยเพื่อลดต้นทุน จากต้นทุนที่พุ่งทำให้ต้องปรับลดปริมาณสินค้าลงเกือบครึ่งโดยตีให้แบนๆเพื่อจะได้ดูว่ายังมีปริมาณเยอะแต่ขายราคาเดิม เนื่องจากไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้เพราะกลัวลูกค้าหนี
แม่ค้าจำหน่ายไก่ปิ้งหมูปิ้งรายหนึ่งหน้าศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันข้าวเหนียวมีราคาแพงขึ้นมาก จากเดิมลูกละ 900 บาท ก็ขึ้นราคาเป็นลูกละ 1,600 บาท ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการขาดทุน จึงต้องลดปริมาณข้าวเหนียวลง เพื่อสามารถจำหน่ายในราคาถุงละ 5 บาทได้ตามเดิม ลูกค้าจึงอาจได้รับผลกระทบบ้าง และอาจรู้สึกไม่อิ่มเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ก็ยังแม่ค้าบางรายใช้วีธีการปนข้าวเจ้าที่มีราคาถูกกว่าผสมในข้าวเหนียวนึ่ง ให้ให้มีปริมาณใกล้เคียงของเดิม แต่ลูกค้าบางรายที่ทานเป็นประจำจะรู้เพราะว่าข้าว"แข็ง"กว่าเดิม
ด้านผู้ประกอบการขนมขบเคี้ยวนายบุญชัย พัวพัฒนขจร รองประธาน บริษัท ไซแมค รีเทล ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์แปรรูป ขนมขบเคี้ยวยี่ห้อ "aki-ko" ( อากิโกะ) กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาของข้าวเหนียว ยังไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผลิตมากนัก ทำให้ยังไม่มีการปรับขึ้นราคาสินค้าในขณะนี้
สำหรับหวัดเชียงใหม่ เมื่อลงสำรวจร้านขายข้าวเหนียวในตลาดสดต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่ และร้านขายข้าวเหนียวทั่วไป ซึ่งขายเป็นกิโลกรัม ราคาจำหน่ายแต่ละตลาดก็จะไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับค่าเช่าแผง มีราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 20 -35 บาท
ซึ่งแม่ค้าขายเหนียวในตลาดธานินทร์ ย่านมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ หลายๆรายบอกว่า ที่ตลาดนี้จะขายข้าวเหนียวราคากิโลกรัมละ 30 บาท ราคาข้าวเหนียวดิบที่ซื้อมานึ่งนั้นขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้ราคาข้าวเหนียวสุกจากเดิมกิโลกรัมละ 18 บาท ขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 22, 25 และ 30 บาท ตามลำดับ
ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันราคาข้าวเหนียวดิบขึ้นราคามาถึงกระสอบละ 1,150 บาท (45 กิโลกรัมและว่าขายข้าวเหนียวในปัจจุบันนี้ไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน จากเมื่อก่อนเคยขายวันละ 8 ถัง ลดลงไปประมาณ 3 ถัง เพราะที่ตลาดนี้เน้นคุณภาพ ข้าวที่นำมานึ่งจะเป็นข้าวคัดพิเศษ จึงขายราคาถูกไม่ได้ ส่วนยอดขายที่ลดลงเนื่องจากข้าวเหนียวดิบราคาแพงขึ้น คนก็ประหยัดลงซื้อน้อยลง บางคนก็ไปเลือกซื้อที่ราคาถูก และพอกินได้ บางครอบครัวอยู่กันหลายๆคนก็นึ่งกินเอง ดังนั้นเราก็ต้องประหยัดและมานั่งขายเอง ไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้
ส่วนร้านขายข้าวเหนียวหน้าวัดดาวดึงส์ บอกว่าเปิดร้านขายข้าวเหนียวที่นี้มาประมาณ 7-8 ปีแล้ว เมื่อปีที่แล้วข้าวเหนียวราคากระสอบละ 500 บาท(45 กิโลกรัม)นึงขายกิโลกรัมละ 12 บาท ปัจจุบันกระสอบละ 1,100 บาท ขายกิโลกรัมละ 22 บาท ค้าขายเดียวนี้ไม่คอยดี จากเคยขายวันละประมาณ 8 กระสอบ ลดลงเหลือ 4 กระสอบ เนื่องจากร้านอยู่ในซอยถ้าขายแพงกว่านี้ เขาก็ไปซื้อร้านอื่น เพราะเดียวนี้คนที่เคยเป็นลูกค้าเรา เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีก็หันมาขายข้าวเหนียวกัน คนที่เคยซื้อก็ซื้อน้อยลง ลูกค้าก็ลดลงไปมากกว่า 50% ที่อยู่ได้อาศัยขายในปริมาณที่มากและไม่ต้องเสียค่าเช่าแพง
ทัพมดข้าวเหนียวข้ามโขง
กองทัพมดข้าวเหนียวเวียดนาม สบช่องข้าวเหนียวไทยขาดแถมราคาแพง ขนเข้ามาขายคนไทยภาคอีสานราคาถูก ฟันกำไรส่วนต่างอื้อ วงการโรงสีแฉมีทั้งส่งตรงถึงโรงสีและพ่อค้าขายส่งขายปลีกหิ้วจากชายแดนเข้ามาขายกันเองเกือบทั่วทุกจังหวัดภาคอีสาน ชี้คุณภาพต่างจากข้าวไทยทั้งดำทั้งป่น นึ่งแล้วยังแข็งโป๊ก บางล๊อตต้องตีกลับ บางล๊อตพอขายได้แก้ขัดขาดแคลน
จากกรณี "ฐานเศรษฐกิจ" นำเสนอข่าวในประเด็น ข้าวเหนียวขาดแคลนและราคาพุ่งแซงข้าวหอมมะลิ พ่อค้าข้าวโอดตันละ 30,000 บาทยังหาซื้อไม่ได้ ฉบับที่2245 ระหว่างวันที่ 19-22 สิงหาคม 2550 นั้น
ล่าสุดแหล่งข่าวในวงการโรงสีข้าวรายหนึ่งในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าปรากฏการณ์ขาดแคลนข้าวเหนียวและราคาพุ่งนั้น ขณะนี้ได้มีกลุ่มพ่อค้าข้าวหัวใส ใช้โอกาสนี้ขนข้าวเหนียวจากเวียดนามเข้ามาขายในประเทศไทย เพราะข้าวเหนียวเวียดนามราคาถูกกว่าไทยมาก ซึ่งรับทราบว่ามีการซื้อมาเพียงกิโลกรัมละ 10 บาทเท่านั้น แต่นำมาขาย 17-19 บาทต่อกิโลกรัม ฟันกำไรส่วนต่างอื้อซ่า ขณะที่ข้าวเหนียวไทยเกรดที่ผู้บริโภคชาวบ้านรับประทานกันจะอยู่ที่ประมาณกก.ละ 24 บาท ซึ่งแพงกว่าเดิมที่เคยซื้อรับประทานกันอยู่ที่กก.ละประมาณ 15 บาท เมื่อมีข้าวเหนียวจากเวียดนามข้าวมาและแพงกว่าราคาเดิมไม่มากแต่ถูกกว่าราคา ณ ปัจจุบัน ข้าวเหนียวเวียดนามจึงเป็นทางเลือกที่ดีให้กับผู้บริโภค
สำหรับเส้นทางการลำเลียงข้าวเหนียวจากเวียดนามของกองทัพมดนั้น แหล่งข่าวคนดังกล่าว เปิดเผยว่า จะขนกันมาโดยทางเรือล่องมาตามแม่น้ำโขงแล้วขนขึ้นฝั่งในจุดที่ลำเลียงได้สะดวกเช่นในเขตจังหวัดมุกดาหาร เป็นต้น จากนั้นจะมีพ่อค้าทั้งขายส่งและขายปลีกรับช่วงต่อ
เพื่อนำมาขายในแต่ละจังหวัดทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสนนราคาขายแตกต่างกันตามระยะทางแต่ส่วนใหญ่อยู่ที่กิโลกกรัมละ 17-19 บาท นอกจากนี้ยังมีจุดพักของข้าวเหนียวเวียดนามที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี
ด้านนายพยงค์ พงษ์วศิน เจ้าของโรงสีพยงค์พืชผล ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า มีข้าวเหนียวจากประเทศเวียดนามเข้ามาขายในประเทศไทยในลักษณะกองทัพมดจริง โดยในส่วนของโรงสีพยงค์พืชผลได้รับการติดต่อเสนอให้ซื้อข้าวเหนียว โดยมีผู้โทรศัพท์ติดต่อมาถามว่าโรงสีต้องการข้าวเหนียวเวียดนามไปจำหน่ายหรือไม่ พร้อมที่จะขนส่งทางรถไปให้ถึงโรงสีได้ แต่โรงสีพยงค์พืชผลไม่ได้ซื้อไว้ ส่วนที่มุกดาหารจะเป็นลักษณะที่มีพ่อค้าแม่ค้าทั้งขายส่งขายปลีกรายย่อยไปขนมาขายกันเอง
"เวลานี้ข้าวเหนียวของเวียดนามที่เข้ามาขายในไทย ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยเพราะว่าเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว ข้าวไม่ได้อยู่ในมือเกษตรกร โดยข้าวฤดูใหม่จะเก็บเกี่ยวปลายเดือนตุลาคม ศกนี้เป็นต้นไป หากถึงช่วงนั้นยังมีข้าวลักษณะกองทัพมดเข้ามาอาจทำให้ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ตกต่ำได้ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและสกัดไม่ให้มีข้าวจากต่างประเทศเข้ามา"
ขณะที่แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งจากโรงสีข้าวจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวยอมรับว่า โรงสีผมได้ซื้อข้าวเหนียวเวียาดนามไว้จำนวนหนึ่ง และเชื่อว่าเป็นข้าวเวียดนามจริง เพราะว่าประเทศที่ผลิตข้าวเหนียว ที่เพียงไทย ลาว และเวียดนาม แต่เวลานี้ข้าวเหนียวลาวไม่มีขายแล้ว ประกอบกับลักษณะของข้าวเป็นข้าวคุณภาพต่ำ สีคล้ำ เหมือนกับข้าวขาวของไทยที่สีจากข้าวเปลือกที่แช่น้ำ จึงเชื่อว่าเป็นข้าวเวียดนามเนื่องจากข้าวเวียดนามเจอฝน ขณะเดียวกันคนที่มาเสนอขายก็ยืนยันว่าเป็นข้าวจากเวียดนาม เมื่อนำมาหุงแล้วจะแข็งมากมีคนไทยของเราที่ซื้อไปหุงแล้วทานไม่ได้นำมาส่งคืนก็มี แต่ข้าวบางล๊อตพอหุงทานได้ไม่แข็งและไม่ดำมาก
"คนอีสานบ้านเรามีความเคยชินกับการรับประทานข้าวเหนียว ให้มาทานข้าวเจ้า บางคนคงทานไม่ได้ แต่เมื่อราคาข้าวเหนียวแพงมากก็ซื้อไม่ไหว เมื่อมีข้าวเวียดนามเข้ามาและราคาถูกหากไม่แข็งหรือดำมากเกินไป ชาวบ้านก็ซื้อรับประทาน" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว
นายวิเชียร ธีระธนานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท โรงสีข้าวไทยอุดร จำกัด และประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่ามีข้าวเหนียวจากเวียดนามและสปป.ลาว ทะลักเข้ามาจากแขวงสะหวันเขต เข้ามาทางจังหวัดมุกดาหาร ทั้งในรูปที่เสียภาษีและลักลอบขายกระสอบละ 1,800 บาท หรือขายปลีกกก.ละ 22 บาท ขณะที่ข้าวเหนียวของไทยขายปลีกกก.ละ25-28 บาท
ประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่าจากการที่ข้าวเปลือกเหนียวมีปริมาณน้อยแต่ตลาดมีความต้องการมาก ทำให้โรงสีแต่ละแห่งแย่งกันซื้อข้าวเปลือกป้อนโรงสีของตนเอง เมื่อตลาดต้องการมากก็เร่งสีจนทำให้ข้าวเปลือกหมดเร็ว เวลานี้โรงสีแทบไม่มีข้าวเปลือกเหลือให้สีกันแล้วจนต้องหยุดทำการในช่วงวันจันทร์ถึงวันศุกร์ คนที่มีข้าวอยู่ในมือใช้วิธีสีข้าวตั้งแต่เย็นวันศุกร์ วันเสาร์และวันอาทิตย์แทน เนื่องจากได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
"โรงสีในจังหวัดอุดรธานีที่ไม่ได้หยุดสีข้าว ต้องหาซื้อข้าวเปลือกเหนียวในราคาสูงและหาซื้อยากมาก เพราะชาวนาขายข้าวกันไปเกือบหมดแล้ว บางครั้งต้องซื้อข้าวเปลือกเหนียวจากต่างพื้นที่เช่นจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม อย่างไรก็ดีเมื่อแปรรูปแล้วขายที่กระสอบละ 2,500-2,550 บาท ถือว่ายังขาดทุนเมื่อเทียบกับราคาข้าวเปลือกที่ซื้อมาตันละ 13,500 บาท ซึ่งข้าวเปลือกราคานี้โรงสีควรจะขายข้าวสารได้กระสอบละ 2,600 บาทขึ้นไป"
ประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดอุดรธานี ยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ราคาข้าวเปลือกเหนียวที่ค่อนข้างสูงในปีนี้ ยังทำให้เกิดปรากฎการณ์ใหม่อีกคือชาวนาพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างได้แก่จังหวัดกำแพงเพชร แพร่ อุตรดิตถ์ ซึ่งปกติจะปลูกเฉพาะข้าวเจ้านาปรัง ได้หันมาปลูกข้าวเหนียวนาปรัง โดยฤดูที่ผ่านมาข้าวเหนียวนาปรังจากภาคเหนือตอนล่างได้ออกตลาดตีกับข้าวเหนียวภาคอีสาน โดยข้าวเปลือกเหนียวนาปรังขายเพียงตันละ 11,000 บาท และข้าวสารขายเพียงกระสอบละ 2,200 บาท
"ค่อนข้างเป็นห่วงสถานการณ์ราคาข้าวเหนียวฤดูการเก็บเกี่ยวที่จะถึงราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เพราะมีหลายปัจจัยได้แก่ข้าวเปลือกเหนียวนาปรัง ข้าวเหนียวจากลาว เวียดนาม ปัจจัยเหล่านี้อาจะเป็นฉุดให้ราคาข้าวเหนียวอ่อนตัวลงได้"
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|