นายธีระ สูตะบุตร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือด้านงานวิจัยข้าว กับนายโรเบิร์ต ซีกเลอร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ ( International Rice Research Institute: IRRI) ว่า สิ่งที่จะร่วมกันทำการวิจัยเร่งด่วน คือ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าว (Site-specific Nutrient Management) โดยเฉพาะข้าวที่จะต้องทนกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง และภาวะโรคร้อน ทั้งทนแล้ง ทนโรคแมลง และเป็นพันธุ์ที่จะลดการปล่อยก๊าซมีเทน อันเป็นสาเหตุหนึ่งในการสร้างภาวะเรือนกระจกทำให้โลกร้อน
การลงนามร่วมกันในครั้งนี้ ถือเป็นความต่อเนื่องด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวร่วมกัน ก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ หรืออีรี มาตั้งแต่ปี 2539 โดยกรมวิชาการเกษตร ดังนั้นเมื่อมีการแต่งตั้งกรม การข้าวเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ จึงถือได้ว่าการลงนามครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนางานวิจัยด้านข้าวของไทยอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนนักวิชาการร่วมกัน
นอกจากพัฒนาพันธุ์ข้าว ยังจะมีความร่วมมือกันในการฝึกอบรม และแลกเปลี่ยน พันธุกรรมข้าว ที่จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวของไทย ให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น ทนทานต่อโรคพืช ซึ่งจะส่งผลดีต่อเกษตรกร ที่จะมีรายได้ที่สูงขึ้นตามมา
นายธีระ กล่าวต่อไปว่า ภายหลังการลงนามร่วมกันกับอีรี ต่อไปหากจะมีการนำไปใช้ ก็จะต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ และเป็นการป้องกันปัญหาการนำพันธุ์ข้าวไปใช้โดยไม่ขออนุญาต เหมือนในอดีตที่เคยเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามในส่วนของประเทศไทยก็ต้องเร่งในเรื่องการวิจัยแปรรูปข้าว เพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น ตามแนวทางของกระทรวงที่ส่งเสริมการแปรรูปผลิตผลการเกษตร เช่น นำข้าวไปแปรรูปทำเป็นขนมปัง นำข้าวแปรรูปทำเครื่องสำอาง เป็นต้น สำหรับความร่วมมือระหว่างไทยกับอีรีก่อนหน้านี้ เป็นการลงนามระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับอีรี เมื่อมีการแยกตั้งเป็นกรมการข้าวจึงต้องมีการลงนามความร่วมมือกันใหม่ ซึ่งไทยถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง และได้ส่งพันธุ์ข้าวไปฝากไว้ที่อีรี เพื่อการใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวร่วมกัน
ต่อมาประเทศไทยได้นำเชื้อพันธุ์ข้าวที่ทางอีรีได้รวบรวมไว้ นำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ มาใช้ประโยชน์ สามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทย ที่ให้ผลผลิตสูงและสามารถปลูกได้ปีละมากกว่า 1 ครั้ง เช่น พันธุ์ข้าว กข 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่เกิดจากผลการปรับปรุงพันธุ์ข้าวระหว่างพันธุ์ข้าวเหลืองทองนาปรังของไทย กับข้าวพันธุ์ IR 8 ของ IRRI ซึ่งพันธุ์ข้าว กข 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวนาปรังที่มีความเหมาะสมในการเพาะปลูกในเขตชลประทานเป็นครั้งแรก รวมถึงพันธุ์ที่พัฒนาใหม่ในรอบ 10 ปี (ค.ศ.1997-2007 หรือปี พ.ศ.2540-2550) ทั้งสิ้น 12 พันธุ์อีกด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาเห็นว่า เนื่องจากการดำเนินความร่วมมือกับอีรีเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน รวมทั้ง กรมการข้าวที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินความร่วมมือมีความครอบคลุมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย จึงเห็นสมควรแก้ไขความตกลงเดิมซึ่งเป็นความตกลงระดับกรม ให้เป็นความตกลงในระดับกระทรวง โดยยังคงสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฉบับเดิม ซึ่งในชั้นต้นได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งอีรีแล้ว
ที่มา โพสต์ทูเดย์ |