นางอรนุช โอสถานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกระแสข่าวที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรุ่งนี้ ( 28 ส.ค.) ทดลองเพาะปลูกพืชตัดแต่งทางพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ในพืชผลทางการเกษตรสำคัญของไทยในห้องทดลอง และอาจจะกลายเป็นการเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์อนาคตข้างหน้า ว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์ เพราะประเทศคู่ค้าจะไม่ยอมรับพืชผลทางการเกษตรที่มีการเพาะปลูกขึ้นจากการทดลองจีเอ็มโอ ดังนั้น คงจะขอฟังเหตุผลที่แท้จริงก่อนว่ากระทรวงเกษตรฯ ต้องการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร
“หากมีข่าวว่า ประเทศไทยจะทำการทดลองเพาะปลูกพืชพันธุ์จีเอ็มโอขึ้นมา จะส่งผลทางจิตวิทยาจากประเทศคู่แข่ง และประเทศคู่ค้าที่ต้องการสินค้าไทยทันที เพราะเวลานี้หลายประเทศมีการต่อต้านในเรื่องนี้สูงมาก จึงต้องการฟังเหตุผลของกระทรวงเกษตรฯ ก่อน และไม่เห็นด้วยแม้ว่าจะระบุว่าจะทดลองในห้องทดลอง แต่ก็ไม่มีใครการันตีได้ว่าการทดลองจะหลุดออกมาหรือเปล่า หากหลุดมาได้และเพาะปลูกเป็นการทั่วไปจะเกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย อีกทั้งก็ไม่เห็นด้วยที่ไทยจะดำเนินการในเรื่องนี้ในเชิงพาณิชย์ เพราะจะทำให้สินค้าภาคการเกษตรที่สำคัญของไทยเกิดความเสียหายได้” นางอรนุช กล่าว
ด้าน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่เห็นด้วยที่ภาครัฐจะทดลองเพาะปลูกพืชจีเอ็มโอในพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าว หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ก็ตาม และไม่รู้ว่าภาครัฐมีเหตุ หรือแนวคิดเรื่องนี้อย่างไร เพราะแม้จะเป็นขั้นตอนการทดลองในห้องปฏิบัติการ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ประเทศคู่ค้าที่สนใจสินค้าไทยมีความวิตกกังวลแล้ว ที่สำคัญ ไม่รู้ว่าภาครัฐจะมีการควบคุมไม่ให้การทดลองหลุดรอดออกมาภายนอกได้หรือไม่ หากหลุดออกมาและมีการเพาะปลูกแพร่หลายในทุกพื้นที่ได้จะเป็นปัญหาภาพรวมสินค้าทางการเกษตรของไทยอย่างมาก จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบและควรสอบถามผู้ประกอบการต่างๆ ก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะมีการเพาะปลูกพืชจีเอ็มโอ
นอกจากนี้ หากดูสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยในช่วงนี้ หลังจากพืชผลทางการเกษตร เช่น สินค้าข้าวที่ผู้ส่งออกข้าวได้รับผลกระทบจากปัญหาความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทางสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศปรับลดปริมาณการส่งออกข้าวปีนี้ใหม่ จากเดิมตั้งเป้าจะส่งออกข้าวได้ไม่ต่ำกว่า 8.5 ล้านตัน ได้ปรับลดเหลือเพียง 8 ล้านตันเท่านั้น โดยขณะนี้ไทยสามารถส่งออกข้าวไปตลาดต่างประเทศได้แล้วกว่า 5 ล้านตัน ที่เหลืออีก 4 เดือนที่จะส่งออกได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 600,000-700,000 ตัน ทำให้การส่งออกข้าวในปีนี้น่าจะส่งออกได้ประมาณกว่า 8 ล้านตันได้แน่นอน แต่สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้ ปริมาณข้าวค้างสตอกของรัฐบาลมีอยู่กว่า 4-5 ล้านตัน และเท่าที่ได้มีการสอบถามผู้นำเข้าข้าวจากไทยทั่วโลกต่างมองว่าปริมาณข้าวไทยปีนี้มีอยู่จำนวนมาก ทำให้มีการชะลอนำเข้าข้าวจากไทยเป็นจำนวนมากเช่นกัน และจะทำให้ราคาข้าวปีนี้จะไม่สูงเหมือนช่วงปีที่ผ่านมาได้ ดังนั้น ภาครัฐจะต้องเร่งหาหนทางระบายข้าวสตอกของรัฐบาลให้น้อยลงโดยเร็วต่อไป
ที่มา ผู้จัดการ
|