แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยสถิติ 10 บริษัทส่งออกข้าว ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 ( มกราคม-มิถุนายน) บริษัทที่ส่งออกข้าวสูงสุด 10 อันดับ มีดังนี้ 1. นครหลวงค้าข้าว 650,671 ตัน 2. เอเชียโกลด์เดนท์ ไรซ์ 634,851 ตัน 3. กลุ่มข้าวไชยพร 279,272 ตัน 4. เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง 179,938 ตัน 5. ไรซ์แลนด์อินเตอร์เนชั่นแนล174,234 ตัน 6. พงษ์ลาภ 169,730 ตัน 7. ซี.พี.อินเตอร์เทรด 167,971 ตัน 8. ไทยฟ้า (2511) 154,628 ตัน 9. กมลกิจ 154,359 ตัน และ 10. ไทยมาพรรณเทรดดิ้ง 143,672 ตัน สำหรับยอดรวมปริมาณส่งออกข้าวทั้งประเทศ ในช่วงครึ่งแรกของปีสามารถส่งออกได้ 4,407,476 ตัน คิดเป็น 48% ของเป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2550 ที่ทางสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศตั้งไว้ที่ 8.5 ล้านตัน
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ปริมาณการส่งออกข้าวในปีนี้อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยปริมาณการส่งออกน่าจะอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านตันเท่านั้น เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายปัจจัย ที่สำคัญได้แก่ ขาดแคลนเรือรับส่งสินค้า ส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจากปีหน้าประเทศจีน จะเป็นเจ้าภาพแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จีนจึงต้องใช้เรือในการขนส่งวัสดุต่างๆที่ใช้ในการเตรียมความพร้อม จึงเสนอค่าระวางเรือที่สูง ทำให้เรือบรรทุกสินค้าต่างหลั่งไหลเข้าไปในประเทศจีน
ปัจจัยลบที่สองคือราคาข้าวของไทยสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการแข็งค่าของเงินบาท โดยในขณะนี้ราคาข้าวไทยสูงกว่าข้าวจากเวียดนามประมาณ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ทำให้นี้มีออร์เดอร์ค่อนข้างน้อย เพราะลูกค้าบางส่วนหันไปนำเข้าข้าวจากเวียดนามและอินเดียแทน
"ช่วงต้นปีคาดไว้ว่าราคาข้าวปี 2550 นี้จะดี เนื่องจากความต้องการ (ดีมานด์) ยังสูงอยู่ แต่ผลผลิต (ซัพพลาย) น้อยลง แต่หลังจากประสบกับภาวะค่าเงินบาทแข็ง ข้าวที่เราส่งออกก็แพงขี้น ลูกค้าสู้ราคาไม่ไหว ทำให้ขายได้น้อยลง"
นายกสมาคมส่งข้าวออกต่างประเทศกล่าวย้ำอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องราคาข้าวเป็นหลัก ซึ่งหากมองในระยะยาวแล้วไม่เป็นผลดีต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมข้าวแต่อย่างใด จึงอยากรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น และลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ที่ในขณะนี้สูงถึง 20% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งจะเป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันประเทศไทยผลิตข้าวเปลือกประมาณ 400 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่ประเทศเวียดนามสามารถผลิตได้ 700 กิโลกรัมต่อไร่ และประเทศจีน 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ จะเห็นได้ว่าในบรรดาประเทศคู่แข่งด้วยกัน ประเทศไทยมีผลิตภาพต่ำที่สุด
หากสถานการณ์ยังคงเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อีกประมาณ 3-5 ปีประเทศเวียดนามจะสามารถแซงหน้าประเทศไทยได้ เนื่องจากทางรัฐบาลเวียดนามได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต โดยจะเห็นได้จากงบประมาณที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนา ของประเทศเวียดนามสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เปรียบเทียบกับประเทศไทยที่มีงบประมาณทางด้านนี้ไม่ถึง 100 ล้านบาท
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ |