นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยว่า สมาคมได้ประเมินสถานการณ์ราคาข้าวล่าสุด พบว่าปรับตัวลดลงทั้งราคาในประเทศและต่างประเทศ โดยราคาข้าว 100% ในประเทศราคาลดลง จากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 2,700 บาทต่อ100 กิโลกรัม หรือตันละ 27,000 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ 2,600 บาทต่อ100 กิโลกรัม หรือ ตันละ 26,000 บาท ขณะที่ราคาส่งออก ( เอฟโอบี) ตันละ 894 ดอลลาร์ ลดลงมาอยู่ที่ตันละ 854 ดอลลาร์ เฉลี่ยประมาณ 40 ดอลลาร์ต่อตัน
สาเหตุที่ราคาข้าวลดลง เนื่องจากข้าวนาปรังออกสู่ตลาดปริมาณมาก และโรงสีที่มีข้าวอยู่ในมือ เริ่มปล่อยข้าวสู่ตลาดเพื่อรองรับข้าวใหม่ ขณะที่การส่งออกชะลอตัวในช่วงเดือนเม.ย. ที่ส่งออกปริมาณ 7.8 แสนตัน และคาดว่าการส่งออกเดือนพ.ค. นี้ จะอยู่ในระดับเดียวกับเดือนที่ผ่านมา หรือต่ำกว่าเล็กน้อย เพราะผู้ส่งออกไม่กล้าขายข้าวราคาสูง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเงินบาทที่อ่อนค่าลง โดยสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 31.25 บาทต่อดอลลาร์ แต่สัปดาห์นี้อยู่ที่ 31.57 บาทต่อดอลลาร์ เพราะการคำนวณราคาส่งออกจะคิดจากราคาภายในประเทศ รวมกับค่าใช้จ่ายการขนส่งและหารด้วยอัตราแลกเปลี่ยน
ผลจิตวิทยารัฐเทสต็อกทำข้าวถุง
นายชูเกียรติ กล่าวว่า ในส่วนที่รัฐออกมาทำโครงการข้าวถุงธงฟ้ามหาชน แม้ว่าจะไม่เกิดผลกระทบโดยตรงต่อราคาตลาด เพราะปริมาณข้าวที่รัฐจะนำมาร่วมโครงการไม่มากถึง 2.1 ล้านตัน ตามจำนวนสต็อกที่รัฐมีอยู่ แต่โครงการดังกล่าวจะมีผลในเชิงจิตวิทยา เพราะตลาดมองว่ารัฐออกมาแทรกแซงตลาด ซึ่งผลทางจิตวิทยาสังเกตได้จากการซื้อขายตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) ที่ราคาลดลงไป 3-6 บาทต่อกิโลกรัม ทันที่รัฐประกาศโครงการข้าวถุง
”ตอนนี้ตลาดเงียบๆ ลงไป เพราะการซื้อข้าวครั้งล่าสุดที่ฟิลิปปินส์ เสนอราคากันสูงประมาณตันละ 1,200 ดอลลาร์ แม้ว่าจะมีการเสนอขายกันในตลาดทั่วไปที่ตันละ 1,000 ดอลลาร์ แต่ก็ไม่มีการตอบรับลูกค้า ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระหว่างการเฝ้ามองสถานการณ์ แสดงว่าลูกค้าไม่ตอบรับราคาข้าวที่สูงขนาดนี้ ประกอบกับข้าวนาปรังออกมามากและเงินบาทอ่อนค่า ทั้งหมดเป็นแรงกดดันให้ราคาข้าวลดลง” นายชูเกียรติ กล่าว
ระบุปรับฐานราคาข้าวใหม่
ทั้งนี้ทิศทางราคาข้าวจะยังคงลดลงต่อเนื่อง แต่จะมากหรือน้อย ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณการส่งออกของไทยและทิศทางตลาด แต่คาดว่าจะไม่ลดลงต่ำมาก ซึ่งจากนี้ไปราคาข้าวจะมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะราคาจะค่อยปรับฐานของตัวเอง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับความต้องการและปริมาณผลผลิต
นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า กรณีที่มีข่าวว่าไนจีเรียจะซื้อข้าว 5 แสนตันจากไทยนั้น ขณะนี้ยังเป็นเพียงข่าวลือที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและหากมีความต้องการซื้อจริงต้องพิจารณาว่าเป็นการขอซื้อข้าวชนิดใด สามารถต่อรองราคาได้เท่าใด และจะเป็นการขอซื้อจากรัฐหรือเอกชน
นายสมพงษ์ กิติเรียงลาภ ประธานกรรมการ บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่าราคาข้าวในประเทศจะสะท้อนราคาในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ตลาดเลิกตื่นตระหนกแล้ว เชื่อว่าราคาจะค่อยๆ ลดลง และกลับมาทรงตัวในระดับที่เหมาะสม
ในส่วนของบริษัทพงษ์ลาภ มีกำหนดส่งมอบข้าวในเดือนพ.ค. ประมาณ 1 แสนตัน เป็นการส่งมอบในประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย แอฟริกา และขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับอิหร่านว่า จะมีการซื้อและขายข้าวกันหรือไม่ เนื่องจากต้องหาข้อสรุปเรื่องมาตรฐานคุณภาพวิธีการซื้อขายและราคา
ผู้ส่งออกอ้อนเวียดนามแบ่งเค้กฟิลิปปินส์
แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ในการประมูลข้าวฟิลิปปินส์ 6.5 แสนตัน วันที่ 5 พ.ค. นี้ คาดว่าผู้ส่งออกไทยไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีท่าทีชัดเจนในการรับรองให้ผู้ส่งออกตามเงื่อนไขของฟิลิปปินส์ ดังนั้นผู้ส่งออกบางรายที่ต้องการขายข้าวให้ฟิลิปปินส์รอบนี้ได้เจรจากับรัฐบาลเวียดนาม เพื่อขอส่งข้าวให้ในนามรัฐบาลเวียดนามแทน หรือให้เป็นไปในรูปแบบรัฐบาลเวียดนามซื้อข้าวจากผู้ส่งออกไทยส่งมอบให้ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิดขึ้นกับประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่ถูกมาตรการการจัดการภาครัฐกำกับไม่ให้ส่งออกได้ ทั้งที่การรับรองสามารถทำได้ไม่ยาก
ทั้งนี้ สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ รายงานราคาส่งออกข้าว (เอฟโอบี) ณ วันที่ 30 เม.ย.เปรียบเทียบ 23 เม.ย. ข้าวหอมมะลิเกรดเอ (ปี 06/07) ราคาตันละ 1,146 ดอลลาร์ จากเดิมอยู่ที่ 1,158 ดอลลาร์ ข้าวหอมมะลิ เกรดเอ (ปี 07/08) ราคาตันละ 1,162 ดอลลาร์ จากตันละ 1,174 ดอลลาร์ ข้าวขาว 100% ( เกรดบี) ตันละ 854 ดอลลาร์ จากตันละ 894 ดอลลาร์ ข้าวขาว 25% ตันละ 794 ดอลลาร์ จากตันละ 830 ดอลลาร์ ข้าวนึ่งตันละ 980 ดอลลาร์ จากตันละ 990 ดอลลาร์ ในส่วนของข้าวขาวลดลงเฉลี่ย 50 ดอลลาร์ต่อตัน หรือประมาณ 1,200 บาทต่อตัน
ขณะที่รายงานภาวะการค้าข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 29 เม.ย. นี้ ว่า ข้าวสารภาวะการค้าค่อนข้างเงียบเนื่องจากยังไม่มีคำสั่งซื้อรายใหม่ ส่งผลให้ราคาซื้อขายข้าวสารโดยทั่วไปทรงตัวโดยปริมาณข้าวส่งออกไปต่างประเทศ (ตัน) เฉพาะที่ผ่านการตรวจสอบของสภาหอการค้าไทย ( ไม่รวมปริมาณข้าวหอมมะลิและข้าวส่งออกจังหวัดชายแดน) 1 ม.ค. - 28 เม.ย. 2551 ข้าวรัฐบาล 73,400 ตัน ข้าวเอกชน 2,867,355.07 ตัน รวม 2,940,755.07 ตัน
ไนจีเรียประกาศซื้อข้าวไทย 5 แสนตัน
นายเซกุน อากากู ผู้ว่าการรัฐโอกุน ไนจีเรีย กล่าวหลังจากการประชุมร่วมกับนายอูมารู ยาร์อาดัว ประธานาธิบดีไนจีเรีย และผู้ว่าการรัฐ 36 แห่ง เมื่อวันอังคาร (29 เม.ย.) ว่า รัฐบาลไนจีเรียตัดสินใจนำเข้าข้าวไทย 5 แสนตัน เพื่อจัดจำหน่ายในราคาถูกให้แก่ประชาชน อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการระยะสั้นเพื่อรับมือวิกฤติอาหารที่ทวีความรุนแรงขึ้น และรัฐบาลยังสั่งปล่อยข้าว 11,000 ตัน ออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวในตลาด และสกัดการขึ้นราคาของอาหาร
นายอากากู กล่าวว่า การนำเข้าข้าวจากไทยมีงบประมาณขั้นต้น 684 ล้านดอลลาร์ และประธานาธิบดีไนจีเรีย มีมาตรการระยะกลาง ด้วยการจัดสรรงบส่วนกลาง 1.68% ให้แก่การพัฒนาด้านการเกษตรและการผลิตอาหารในอีก 4 ปี
ฟิลิปปินส์ยันต้องนำเข้าข้าวถึงปี 2556
ขณะเดียวกัน นางกลอเรีย อาร์โรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ฟิลิปปินส์จำเป็นต้องนำเข้าข้าวต่อเนื่อง อย่างน้อยถึงปี 2556 เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนภายในประเทศ แม้ว่ารัฐบาลมีแผนผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ
นางอาร์โรโย กล่าวหลังการร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวมาเป็นเวลานาน ปัญหาข้าวราคาแพงทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาผลิตข้าวเองเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และป้องกันเงินรั่วไหลออกนอกประเทศ แต่แผนการดังกล่าวอาจไม่บรรลุเป้าหมายอย่างน้อยจนถึงปี 2556 เพราะรัฐบาลไม่สามารถพุ่งความสนใจไปที่นโยบายระยะยาว ในขณะที่ยังมีปัญหาเฉพาะหน้าให้ต้องแก้ไข
ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก เพิ่งซื้อข้าวในราคาแพงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ภายหลังจากประเทศผู้ส่งออกข้าวบางรายสั่งควบคุมการส่งออกข้าว เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และรัฐบาลฟิลิปปินส์เตรียมยื่นประมูลข้าวครั้งต่อไปในสัปดาห์หน้า พร้อมประกาศสงครามกับผู้กักตุนข้าว รวมทั้งสัญญาจะปรับปรุงการแจกจ่ายและจะอัดฉีดงบ 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการผลิตข้าวในประเทศ
ชงยูเอ็นตั้งคลังสำรองข้าวระหว่างประเทศ
นายอาเธอร์ ยัป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ เสนอจัดตั้งคลังสำรองข้าวระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หรือธนาคารโลก อาจเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งคลังสำรองนี้ เพื่อเป็นหนทางป้องกันราคาข้าวพุ่งสูง และมีการวางระบบสิทธิพิเศษให้ประเทศใดก็ได้ สามารถเบิกข้าวจากคลังสำรอง พร้อมแนะว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่คุกคามหลายประเทศขณะนี้ ทำให้ทั่วโลกต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาข้าว
ด้านรัฐบาลสหรัฐสมทบทุน 40 ล้านดอลลาร์ เข้าร่วมโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ เพื่อจัดสรรความช่วยเหลือด้านอาหารเป็นการฉุกเฉินในภาวะวิกฤติอาหารแพงทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศยากจน โดยมอบเงินทุนดังกล่าวผ่านทางองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งอเมริกา (ยูเสด) และโครงการอาหารโลก (ดับเบิลยูเอฟพี)
นายฌากส์ ดิอูฟ ผู้อำนวยการองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เรียกร้องให้ประชาคมโลกฉวยโอกาสพัฒนาภาคการเกษตรในขณะที่ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น โดยระบุว่า ประชาคมโลกต้องผลิตอาหารให้มากขึ้นเพื่อรับมือกับผลกระทบของราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |