นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมเชิญธนาคารพาณิชย์มาหารือร่วมกันในวันที่ 4 พ.ย.นี้ เพื่อหารือปัญหาสภาพคล่อง ของธุรกิจโรงสีที่ได้รับผลกระทบจากการเข้มงวดปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เริ่มระมัดระวังการปล่อยกู้มากขึ้น เพราะกังวลผลกระทบวิกฤติการเงินโลก
ทั้งนี้ ตนจะชี้แจงให้ธนาคารพาณิชย์เข้าใจวงจรธุรกิจโรงสี โดยเฉพาะโรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2551/2552 ซึ่งโรงสีเป็นกลไกสำคัญของโครงการ หากโรงสีไม่มีสภาพคล่องทางการเงินมากพอ การเข้าร่วมโครงการ จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย จึงต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า โรงสีที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐจะต้องนำเงินค้ำประกัน (แบงก์การันตี) 20% มาวางก่อนจะเปิดรับจำนำข้าวจากเกษตรกรได้ ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลได้เข้ามาประกันสินเชื่อนั้นๆ โดยอ้อมจึงมีความน่าเชื่อถือได้
นายวัฒนา รัตนาวงศ์ นายกสมาคมโรงสีไทย กล่าวว่า มีโรงสีบางแห่งที่มีสภาพคล่อง แต่เหตุผลหลักๆ มาจากปัญหาเฉพาะ เช่น การใช้เงินที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์การขอสินเชื่อ หรือการค้างชำระสินเชื่อเก่า แต่โรงสีส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาดังกล่าว แต่ในภาวะวิกฤติการเงินโลก ที่สถาบันการเงินจะเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โรงสีจะต้องมีวินัยทางการเงิน เพื่อให้มีเครดิตเป็นที่น่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ โรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำกับรัฐบาลที่ต้องวางเงินค้ำประกัน 20% ก่อนเข้าร่วมโครงการนั้น ในขั้นแรกจะต้องขอวงเงินเพื่อออกแบงก์การันตี โดยนำสต็อกค้ำประกันไว้ ถ้าโรงสีที่มีสต็อกข้าวอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหา จากนั้นเมื่อมีการสีแปรส่งมอบให้รัฐไป การค้ำประกันในวงเงินนั้นๆ ก็จะหมุนเวียนต่อไปได้จนสามารถร่วมโครงการให้เสร็จสิ้น ทั้งนี้ โรงสีเองต้องรู้จักบริหารจัดการให้เหมาะสม เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์การหมุนเวียนค้ำประกัน ให้สามารถอยู่ได้ต่อเนื่อง
นายวัฒนา กล่าวว่า ปัญหาสภาพคล่องโรงสี ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อโครงการรับจำนำฯ เพราะขณะนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นปัญหาของโรงสีส่วนใหญ่ แต่ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ความล่าช้าของหน่วยงานรัฐ ที่จนถึงขณะนี้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ยังไม่พร้อมทั้งที่เริ่มโครงการไปแล้ว เมื่อ 1 พ.ย.
"ดูจากราคาตอนนี้ไม่ดี คิดว่าข้าวน่าจะเข้าร่วมโครงการมาก แต่ตอนนี้ อคส. ที่บอกจะเปิดรับจำนำ 1 พ.ย.นี้ ยังไม่พร้อม ก็ยังรับจำนำไม่ได้ เพราะยังไม่มีการออกสัญญา ยังไม่ตรวจโกดัง ยังไม่วางเงินค้ำประกัน และคัดเลือกโรงสี ตอนนี้ถึงกำหนดแล้ว แต่ยังรับจำนำจริงไม่ได้ ไม่รู้เพราะอะไร ชาวนาก็เริ่มโวยๆ แล้ว" นายวัฒนา กล่าว
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งเข้าพบ เพื่อทราบสถานการณ์ธุรกิจส่งออกข้าวจากสมาคม คาดว่าสาเหตุที่สถาบันการเงิน เริ่มตรวจสอบสภาพธุรกิจ เนื่องจากปัญหาวิกฤติการเงินโลก และธุรกิจส่งออกข้าว ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านราคาที่ผันผวนและตลาดส่งออกที่ตึงตัว จึงคาดว่าอาจส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อในปีหน้า ทำให้ผู้ส่งออกควรเตรียมรับมือกับสถานการณ์นี้ เพราะอาจมีการทบทวนปล่อยกู้ เนื่องจากธุรกิจข้าวมีโอกาสชะลอตัว แต่สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลง เพราะสินค้าเกษตรจะมีการเปลี่ยนแปลงได้หลายปัจจัย จึงต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นรายไตรมาส
นายชูเกียรติ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณา 2 ประเด็นหลักคือ 1. เวียดนามมีข้าว 4 แสนตันจริงหรือไม่ เพราะจากที่เอกชนไทยและเวียดนามแลกเปลี่ยนข้อมูลกันพบว่า เวียดนามมีข้าวมากถึง 1 ล้านตันและจะมีข้าวรอบใหม่ออกมาอีกเร็วๆ นี้ ทำให้แนวคิดที่จะซื้อข้าวเวียดนามมาเก็บไว้เป็นเรื่องยากเพราะไม่มีปริมาณที่แน่นอนและชัดเจน และ 2. การซื้อข้าวจากต่างประเทศจะควบคุมยาก เช่น ส่งมอบไม่ได้ตามกำหนด ซึ่งเวียดนามเคยทำมาแล้ว นอกจากนี้หากปล่อยข้าวให้อยู่ที่เวียดนามการดูแลรักษาจะเสียค่าใช้จ่ายมาก
จากปัญหาทั้งหมดจึงมองว่า แนวคิดดังกล่าวมีความเสี่ยงมาก และต้องใช้เงินจำนวนมาก แม้ราคาข้าวเวียดนามจะถูก แต่ถ้าต้องรับซื้อถึง 4 แสนตันหรือมากกว่าจะต้องใช้เงินค่อนข้างมาก
"ผมว่าไม่มีผู้ส่งออกสนใจ เพราะเสี่ยงมากหลายด้าน ต่อให้รัฐดำเนินการเอง ก็ต้องใช้เงินมหาศาลและไม่รู้ว่าจะเป็นไปตามแผนหรือไม่ เพราะเราไม่รู้ว่ารัฐนำข้อมูลมาจากไหนว่าเวียดนามมีข้าวแค่ 4 แสนตัน แต่เท่าที่ได้คุยกับเอกชนเขามา ก็รู้ว่ามีอยู่เป็นล้านตัน ส่วนเรื่องให้สิทธิพิเศษด้านการลงทุน หรือผ่านบีโอไอ ผมก็นึกไม่ออกว่าผู้ส่งออกข้าว จะได้สิทธิอะไรจากบีโอไอได้" นายชูเกียรติ กล่าว
นายชูเกียรติ กล่าวว่า ในส่วนข้าวไทยคาดว่าราคาไม่น่าจะลดลงมาก เพราะไทยมีโครงการรับจำนำข้าวที่น่าจะมีข้าวเข้าร่วมโครงการเต็มตามจำนวนที่กำหนดได้ 8 ล้านตัน และอาจต้องเปิดรับจำนำเพิ่มเพราะชาวนาจะต้องเรียกร้องให้เปิดโครงการอีก
ขณะที่ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ กล่าวว่า ตนได้หารือร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TFEX) และตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) และสั่งการให้ทั้ง 3 หน่วยงานไปร่วมกันทำงาน เพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้าซื้อขายออปชั่น (Options) สินค้าเกษตรล่วงหน้าได้โดยสะดวกขึ้น โดยในสัปดาห์หน้ามีการประชุมกันเพื่อสรุปแนวทางอีกครั้ง
แนวทางเบื้องต้นนั้น จะกำหนดให้หน้าจอที่แสดงข้อมูลการซื้อขายหุ้น จะมีทั้งข้อมูลหุ้นของบริษัทจดทะเบียน และข้อมูลราคาซื้อขายออปชั่นสินค้าเกษตรล่วงหน้า ขณะที่นักลงทุนสามารถสั่งซื้อหรือสั่งขายออปชั่นสินค้าเกษตรล่วงหน้า ผ่านหน้าจอซื้อขายหุ้นตามปกติได้ด้วย ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้มีการซื้อขายออปชั่นสินค้าเกษตรล่วงหน้าเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะดำเนินการตามแนวทางนี้ได้ภายในสิ้นปีนี้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|