โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาลผลิตปี 2551/52 จะต้องเริ่มเปิดรับจำนำในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปีไว้ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 15,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาด ทำให้คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท แต่ปรากฏว่าประสบปัญหายังไม่สามารถหาเงินจำนวนนี้ได้ เนื่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ในเบื้องต้นคาดว่า 4 ธนาคารที่จะเข้าร่วมปล่อยกู้ในโครงการนี้ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารทหารไทย และธนาคารนครหลวงไทย
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในกรณีนี้ว่า ได้มอบหมายให้ธนาคารกรุงไทยเป็นแกนนำไปชักชวนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด 4 แห่ง ให้มาร่วมกันปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส.วงเงินรวม 1.1 แสนล้านบาท เพื่อให้ ธ.ก.ส.นำไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ค้ำประกันเงินต้นและจัดงบประมาณมาชำระดอกเบี้ยอัตราไม่เกิน MLR-2 (MLR = 7.25%) แทน ธ.ก.ส. ถือว่าไม่มีความเสี่ยงในการปล่อยกู้ ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะต้องเป็นผู้เข้าไปทำสัญญากับธนาคารทั้ง 4 แห่ง
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อจัดสรรวงเงินกู้ว่า แต่ละธนาคารจะปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลได้ในวงเงินเท่าไร การปล่อยกู้ครั้งนี้ไม่ถือเป็นความเสี่ยงของธนาคารเพราะมีรัฐบาลเป็นผู้กู้โดยตรง ซึ่งกรุงไทยมีหน้าที่จัดหาเงินให้รัฐบาลเสมือนลูกค้าของธนาคารรายหนึ่ง การปล่อยสินเชื่อรอบนี้จะไม่ได้อยู่ที่กรุงไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่จะกระจายออกไปแบงก์อื่นๆ ด้วย จึงไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคาร การเอาเงินไปประกันราคาข้าว ก็เหมือนเอาเงินไปให้ชาวนา เมื่อชาวนามีรายได้ก็จะนำเงินมาฝากกับแบงก์ เงินมันจึงยังอยู่ในระบบ แตกต่างจากกรณีที่รัฐออกบอนด์มาดูดซับสภาพคล่องออกไป จึงไม่น่าต้องมีการระดมสภาพคล่องและดึงเงินฝากกัน
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อปล่อยสินเชื่อร่วมในครั้งนี้ เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาเพราะเป็นสินเชื่อที่ปล่อยให้รัฐบาลไม่มีความเสี่ยง แต่ต้องรอดูว่าธนาคารจะได้รับการจัดสรรให้ในสัดส่วนเท่าไร
ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดว่าธนาคารจะเข้าไปร่วมปล่อยกู้ครั้งนี้ อย่างไรก็ตามแม้จะมีธนาคารบางส่วนต้องเข้าไปปล่อยกู้ให้กับทางการจำนวนมาก คงไม่สร้างผลกระทบต่อสภาพคล่องให้ระบบ เพราะภาครัฐคงดูความเหมาะสมของการใช้จ่ายเงินเพื่อไม่ให้กระทบเงินของภาคเอกชน
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ได้สั่งการให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลยกลอต 4.3 ล้านตัน (ข้าวเก่า 2.1 ล้านตัน และข้าวใหม่ 2.3 ล้านตัน) โดยสามารถจำหน่ายภายในหรือส่งออกได้ กำหนดให้ยื่นซองเสนอราคาในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคม ผู้ส่งออกข้าวในต่างประเทศ กล่าวว่า คงมี ผู้ส่งออกรายใหญ่บางรายเท่านั้นที่สนใจเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ ส่วนรายเล็กคงเข้าร่วมได้ยาก เพราะเงื่อนไขการประมูลค่อนข้างจะเข้มงวด และมีความเสี่ยงสูง โดยราคา FOB ข้าวขาว 5% วันนี้อยู่ที่ 580 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าราคาเวียดนาม ซึ่งขายเพียง 350 เหรียญสหรัฐ อำนาจต่อรองจึงอยู่ที่ผู้ซื้อ ดังนั้นหากเข้าร่วมประมูลผู้ส่งออกน่าจะซื้อราคาต่ำ และสนใจข้าวเก่ามากกว่าข้าวนาปรังใหม่ เพราะราคาอาจจะใกล้เคียงกับตลาด หากรัฐบาลบังคับให้ซื้อระบบสัดส่วนข้าวใหม่ต่อข้าวเก่า 1:1 ความต้องการซื้อคงลดลง เพราะเมื่อเฉลี่ยราคาแล้วไม่คุ้มทุน
"รัฐบาลจะระบายข้าวได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าจะยอมขาดทุนหรือไม่ หากจะขายโดยอิงราคาจำนำ เชื่อว่าคงหาคนร่วมประมูลยาก เพราะผู้ส่งออกที่เข้าร่วมประมูล ผู้ส่งออกจะสนใจข้าวเก่ามากกว่าข้าวนาปรังใหม่ โดยราคาข้าวเก่าผู้ส่งออกจะรับได้ที่ไม่เกิน 8,000 บาท/ตัน และเมื่อรวม ค่าใช้จ่ายจนถึงส่งออก จะเท่ากับตันละ 13,000-14,000 บาท คิดเป็นเอฟโอบีได้ 520 เหรียญ ส่วนข้าวใหม่คงซื้อได้ 10,000-12,000 บาท เท่ากับ ราคาส่งออกที่ 16,000 บาท คิดเป็นเอฟโอบีได้ 580 เหรียญสหรัฐ แต่หากต้องประกันความผันผวนราคา 30 วัน ก็อาจจะต้องลดลงตันละ 1,500-2,000 บาท ทำให้ข้าวใหม่เหลือ 14,500 บาท แต่หากรัฐบาลบังคับให้ซื้อระบบสัดส่วนข้าวใหม่ต่อข้าวเก่า 1:1 ความต้องการซื้อคงลดลง เพราะเมื่อเฉลี่ยราคาแล้วไม่คุ้มทุน"
แหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า กลุ่มโรงสีคงจะเข้าร่วมประมูลข้าวครั้งนี้จำนวนไม่มากนัก เพราะจากการพิจารณาเงื่อนไขการเปิดประมูลครั้งนี้มีความผิดปกติไม่โปร่งใส อาจเกิดกรณียื่นซองแต่ไม่ใส่ราคา เพื่อรอดูราคาของรายอื่นๆ ก่อน หากรายอื่นให้ราคา 8,000 บาท คนในรายนี้ก็ใส่ราคาทีหลังเป็น 8,050 บาท แค่นี้ก็ชนะแล้ว นอกจากนี้เกณฑ์การยืนราคาไว้ 30 วัน จะเป็นการตัดโอกาสรายเล็ก เพราะผู้ส่งออกให้ข่าวทุบราคาข้าวตลอดจนราคาตก รอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาลราคาถูกหากขายตอนนี้ เท่ากับขาดทุน 6,000 บาทต่อตัน ซึ่งถึงรัฐบาลจะขายข้าวทั้งหมดก็คงได้เงินไม่พอสำหรับการรับจำนำข้าวนาปีฤดูกาลใหม่
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|