www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ผู้ส่งออกข้าวเผยราคาข้าวเพิ่มขึ้นทันที 10 เหรียญ/ตัน หลังยกเลิกมาตรการ 30%


      นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Hard Topic ทาง Money Channel ว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ราคาข้าวได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุมาจากเวียดนามและอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก มีปัญหาภายในประเทศ จึงได้งดการส่งออกข้าว ทำให้ทุกประเทศหันมาสั่งซื้อข้าวจากไทยแทน ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2550 จนถึงปัจจุบัน ไทยส่งออกข้าวสารเดือนละกว่า 1 ล้านตัน

     อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ก็มีผลให้ราคาข้าวเมื่อแปลงเป็นเงินบาทมีราคาลดลง นอกจากนั้น การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 ก.พ.) ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปทันทีถึง 50 สตางค์ ซึ่งก็มีผลให้ราคาข้าวสารส่งออกปรับตัวขึ้นไปทันทีในราคาตันละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ

     นายชูเกียรติบอกว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกข้าวเริ่มกังวลกับการแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้ราคาส่งออกข้าวเพิ่มสูงขึ้น เพราะถ้าเมื่อใดที่เวียดนามและอินเดียเริ่มกลับมาส่งออกข้าวได้อีกครั้ง จะมีผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทยทันที เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับข้าวที่มีคุณภาพเหมือนกัน ข้าวเวียดนามจะมีราคาถูกกว่าข้าวไทยตันละ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้การที่ราคาข้าวยังไม่มีแนวโน้มที่จะทรงตัว จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ส่งออกเริ่มไม่อยากรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศแล้ว เนื่องจากผู้ส่งออกเกรงว่าราคาอาจจะปรับเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถหาซื้อข้าวมาส่งมอบให้ลูกค้าได้

     นายชูเกียรติฝากถึงรัฐบาลด้วยว่า จากความปั่นป่วนที่เกิดกับธุรกิจซื้อขายข้าว ภาครัฐควรปล่อยให้กลไกตลาดเป็นผู้แก้ไขสถานการณ์ ส่วนภาครัฐก็สามารถช่วยได้ด้วยการระบายข้าวในสต๊อกให้ออกมาสู่ท้องตลาดมากขึ้น เพื่อลดแรงกดดันด้านราคาขาย และช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถแข่งขันได้

     นายปราโมทย์ วานิชานนท์ อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรง คือ ชาวนา เพราะทุกครั้งที่มีการเก็บเกี่ยว ราคาข้าวก็ได้ปรับเพิ่มขึ้นทุกครั้ง โดยขณะนี้ข้าวนาปรังพันธุ์หอมมะลิ ราคาอยู่ที่เกวียนละ 1.3 หมื่นบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีราคาก่อนรับจำนำที่เกวียนละ 9.5 – 9.8 พันบาท ส่วนข้าวที่ปลูกในเขตนาชลประทานมีราคาเกวียนละ 9.3 – 9.4 พันบาท จากเดิมอยู่ที่เกวียนละ 7 พันบาท

     ส่วนโรงสีข้าวและผู้ส่งออกก็มีทั้งที่ได้และเสียประโยชน์จากการที่ราคาข้าวได้ปรับเพิ่มขึ้น โดยผู้ส่งออกและโรงสีข้าวที่มีสินค้าในโกดังมาก ก็จะได้ประโยชน์ ส่วนโรงสีและผู้ส่งออกที่มีการขายข้าวล่วงหน้าไปแล้ว ก็เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะต้องไปซื้อข้าวราคาแพงเพื่อนำไปขายต่อ

     นายปราโมทย์ยอมรับว่า การแข็งค่าของเงินบาท และการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จากผู้ส่งออกไปถึงโรงสีข้าว และชาวนา โดยเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลให้ราคาข้าวสูงขึ้น 15% ถ้าผู้ซื้อต่างประเทศยอมรับในระดับราคานี้ได้ ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าผู้ซื้อไม่ยอมรับราคาขายนี้ ก็จะเปลี่ยนไปสั่งซื้อข้าวจากประเทศอื่นแทน

     ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ราคาขายที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการที่โรงสีมีการกักตุนสินค้านั้น นายปราโมทย์เผยว่า โรงสีข้าวมีการเก็บวัตถุดิบตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ดังนั้น การที่ราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้น จึงไม่น่าจะเกิดจากการกักตุนสินค้าของโรงสี และในช่วงนี้โรงสีก็มีวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการขายด้วย

     อย่างไรก็ตาม นายปราโมทย์มองว่า หากโรงสีมีการกักตุนสินค้าในช่วงนี้จริง ก็ถือเป็นเรื่องปกติของผู้ที่ทำการค้า แต่ถ้าโรงสีคาดการณ์แนวโน้มราคาผิด ก็จะต้องยอมรับผลขาดทุนที่ตามมา  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเรื่องปริมาณสินค้า จึงอยากให้ภาครัฐลงทุนจัดทำฐานข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปประเมินผลได้

ที่มา Money Channel

 


©
The Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.