นายเกริกไกร จีระแพทย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายที่ระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล 2.1 ล้านตัน แบบรัฐต่อรัฐ หรือ “จีทูจี” ว่า การจำหน่ายข้าวในสต็อกของรัฐบาลถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะการระบายสต็อกข้าวจะทำให้สต็อกที่มีอยู่ไม่ไปกดราคาข้าวส่งออก แต่การระบายข้าวภาครัฐต้องไม่ไปแข่งขันกับผู้ส่งออกหรือเกษตรกร และไม่จำเป็นต้องขายข้าวแบบจีทูจีเท่านั้น
“การขายข้าวในสต็อกของรัฐอาจใช้วิธีให้ผู้ส่งออกมาประมูลข้าวแล้วนำไปขายก็ได้ เพราะบางทีผู้ส่งออกมีออเดอร์อยู่แล้ว แต่ไม่มีข้าวในมือ ภาครัฐก็ต้องระบายข้าวออกให้เอกชน สมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผมก็ทำโดยวิธีเปิดประมูลมาตลอด แต่ต้องไม่ใช่การประมูลที่ให้คนคนเดียวมาประมูลซื้อ ต้องให้มีการแข่งขัน เพื่อข้าวจะได้มีราคาดีและเอกชนแข่งขันในตลาดโลกได้” นายเกริกไกร กล่าว และว่า ควรทยอยประมูล
หากประมูลทีเดียว 2.1 ล้านตัน ตลาดข้าวอาจจะรับไม่ไหว และจะกดให้ราคาข้าวตกต่ำได้ จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร แม้ราคาข้าวจะสูงขึ้นต่อเนื่องก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าผู้ขายยังมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าผู้ซื้อ ไม่เหมือนกับน้ำมันที่ผู้ขายมีอำนาจต่อรองมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยที่รัฐบาลคงนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือก เพื่อพยุงราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำในบางช่วงเวลา แต่ควรเปิดรับจำนำเท่าที่จำเป็น การกำหนดราคาต้องไม่ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกราคาตลาด การกำหนดราคารับจำนำข้าวต้องคิดจากราคาเฉลี่ยย้อนหลัง และเป็นราคาที่นำหน้าตลาดเล็กน้อย และต้องไม่ไปแข่งขันราคากับผู้ส่งออก
นอกจากนี้ นายเกริกไกร ยังสนับสนุนรัฐบาลแนวคิดที่จะสร้างไซโล โดยระบุว่า ประเทศไทยไม่มีไซโลเก็บข้าวที่ได้มาตรฐานสูง ทำให้ต้องฝากข้าวให้เอกชนหรือโรงสีเป็นผู้เก็บข้าวให้ทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ แต่สิ่งที่ต้องระวังการสร้างไซโล ต้องกำหนดสถานที่ตั้งและขนาดของไซโลให้ชัดเจน เพราะการขนย้ายข้าวเข้าหรือออกจากไซโลล้วนมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|