ราคาข้าวหอมมะลิในตลาดโลกเคยพุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงต้นปี 2551 ถึง 1,200-1,300 เหรียญสหรัฐต่อตัน เช่นเดียวกับราคาข้าวขาวที่เคยแตะถึงระดับตันละ 1,000 เหรียญสหรัฐ แต่วันนี้ราคาข้าวในตลาดโลกกลับลดลงอย่างมาก โดยราคาข้าวหอมมะลิของไทยอยู่ในระดับ 850 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนราคาข้าวขาว 700-750 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากสาเหตุสำคัญ คือ เวียดนามผู้ส่งออกอันดับ 2 ที่ประสบปัญหาขาดแคลนข้าวในประเทศจนต้องหยุดส่งออกไปในช่วงครึ่งปีแรก หันกลับมาส่งออกอีกครั้ง ในราคาที่ต่ำกว่าราคาข้าวไทยเกือบ 100 เหรียญสหรัฐ
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคม ผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ตลาด ส่งออกข้าวลดความร้อนแรงลงมาก โดยครึ่งปีหลังคาดว่าปริมาณการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนจะเริ่มปรับลดอย่างรุนแรงในเดือนสิงหาคมนี้ จากเดือนกรกฎาคมที่ส่งออกได้ประมาณ 9.4 แสนตัน เพราะจนถึงขณะนี้ ผู้ส่งออกยังไม่ได้รับคำสั่งซื้อใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ มีเพียงข้าวนึ่งไปตลาดแอฟริกาที่ยังสามารถส่งออกได้ ในราคาประมาณ 830 เหรียญสหรัฐ/ตัน
สาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกตกลงอย่างมาก เนื่องจากเวียดนามเริ่มกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้ง
ล่าสุดทราบว่าปริมาณผลผลิตที่ออกในช่วง 2-3 เดือนนี้สูงถึง 11 ล้านตันข้าวเปลือก ทำให้เวียดนามต้องเร่งขาย เพราะไม่มีโกดังเก็บ และอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ด่องอ่อนค่าลงมาก รวมทั้งอัตราแลก เปลี่ยนอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 18,000 ด่อง/เหรียญสหรัฐ แต่ในตลาดมืดอ่อนค่าถึง 25,000 ด่อง/เหรียญสหรัฐ ทำให้เอกชนแข่งกันขายในราคาต่ำ เพราะต้องการได้เงินเหรียญสหรัฐ ขณะที่ซื้อข้าวในประเทศเป็นเงินด่อง
แม้ว่าทาง Vietnam Southern Food Corp (วีนาฟู้ด) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ และ ผู้ส่งออกรายใหญ่ของเวียดนาม จะไม่พอใจที่เอกชนกำหนดราคาถูก จนต้องออกมาตรการกำหนดกำแพงภาษีส่งออก กรณีที่ขายต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ คือ 600 เหรียญสหรัฐ แต่เอกชนเวียดนามยังขายข้าวในระดับต่ำกว่าตันละ 600 เหรียญสหรัฐ ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกตกลงเรื่อยๆ ทางสมาคมพยายามจะหารือกับเวียดนาม แต่เวียดนามแจ้งว่ายังไม่พร้อมเจรจา
"ขณะนี้เอกชนรอดูนโยบายการบริหารจัดการสต๊อกข้าว และการดูแลราคาข้าวในช่วงครึ่งปีหลังของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ เพราะตลาดกลายเป็นตลาดผู้ซื้อ จากที่เคยเป็นของผู้ขายในช่วงครึ่งปีแรก ผู้ส่งออกไทยเสียเปรียบคู่แข่ง เพราะต้องซื้อข้าวจากราคาจำนำข้าวของรัฐบาลที่กำหนดไว้ 14,000 บาทต่อตัน เมื่อคำนวณเป็นราคาส่งออกสูงถึง 750 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงกว่าราคาข้าวของเวียดนาม 100-200 เหรียญสหรัฐต่อตัน" นาย ชูเกียรติกล่าว
ในด้านตลาดส่งออก ผู้ส่งออกไทยกำลังอยู่ระหว่างส่งมอบข้าวให้รัฐบาลมาเลเซีย 200,000 ตัน แต่หลังจากนี้คาดว่ามาเลเซียจะหันไปสั่งซื้อจากเวียดนามอีก 300,000 ตัน หรือปรับเป็นนโยบายสนับสนุนลดราคาข้าวในประเทศแทน ส่วนตลาดอินโดนีเซียซึ่งคาดว่าจะมีออร์เดอร์นำเข้า 3 แสนตันในปีนี้ ก็ต้องแข่งขันกับเวียดนาม โดยขณะนี้มีเพียงข้าวนึ่งเท่านั้นที่มีการส่งออก โดยปริมาณการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 20% สูงรองลงมาจากข้าวขาว
แหล่งข่าวผู้ส่งออกข้าวเปิดเผยถึงตลาดข้าวของไทยว่า ขณะนี้รัฐบาลมาเลเซียน่าจะไปซื้อข้าวจากเวียดนามอีก 3 แสนตันที่เหลือ เพราะเวียดนามสามารถขายให้ได้ในราคาตันละ 580 เหรียญสหรัฐ ถูกกว่าไทยที่ต้องขายในราคาอย่างต่ำตันละ 720-750 เหรียญสหรัฐ
สำหรับการรับมอบข้าวที่ซื้อจากไทย 200,000 ตันเกือบเสร็จสิ้นแล้ว โดยผู้ส่งออกรายใหญ่ๆ ที่ได้โควตา เช่น บริษัทนครหลวงค้าข้าว ปริมาณ 50,000 ตันเศษ, เอเชียโกลเด้นท์ไรซ์ 30,000 ตันเศษ, พงษ์ลาภ 12,000-13,000 ตัน, ไชยพรค้าข้าว 10,000 ตัน และไทยฟ้า, กมลกิจ และไรซ์แลนด์ อีกรายละ 7,000-8,000 ตัน เป็นต้น
ล่าสุดอิหร่านติดต่อมาที่กระทรวงพาณิชย์สนใจจะซื้อข้าวจากไทยอีก 2.5-3 แสนตันในเดือน ต.ค.-ก.ย.นี้ ซึ่งไทย เสนอขายในราคา 800 เหรียญสหรัฐ แต่อิหร่านยังไม่ตอบตกลงอ้างว่า ราคาสูงเกินไป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|