เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่สำนักงานเกษตรอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร มีชาวนาหลายคนเดินทางไปยื่นขอใบรับรองเกษตรกร เพื่อนำข้าวที่เก็บเกี่ยวไปจำนำกับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลปี 2551/52 แต่ต้องผิดหวัง เนื่องจากยังไม่มีคำสั่งอย่างเป็นทางการว่าให้ จำนำข้าวเปลือกนาปี 2551/52 กับทางโรงสีได้ โดยจังหวัดพิจิตรให้เกษตรอำเภอต่างๆ ออกใบรับรองเกษตรกร แต่ยังไม่มีรายชื่อโรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการ
นายพลวัตร นาควิสูตร อายุ 43 ปี บ้านเลขที่ 154/1 ต.ดงเสือเหลือง อ.โพธิ์ประทับช้าง กล่าวว่า ตนกับเพื่อนชาวนา 150 คนยังไม่กล้านำข้าวที่เก็บเกี่ยวไปจำนำกับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเกิดความสับสนกับการรับจำนำข้าว ซึ่งตนและพวกได้ขอใบรับรองเกษตรกรจากเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอโพธิ์ประทับช้างได้ แต่ไม่รับรองว่าจะมีโรงสีใดบ้างที่ผ่านการรับรองให้เข้าร่วมโครงการกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) เนื่องจากจากยังไม่มีหนังสือสั่งการลงมา ทำให้ชาวนาผิดหวัง และข้องใจว่าเหตุใดรัฐบาลจึงประกาศว่ารับจำนำข้าวแล้ว
วันเดียวกัน ที่โรงสีสิงห์ไรซ์อินเตอร์เทรด จำกัด อ.โพธิ์ประทับช้าง มีชาวนาเริ่มนำข้าวที่เก็บเกี่ยวเมื่อหลายวันที่ผ่านมาใส่รถบรรทุกไปจำนำข้าวหลายราย เนื่องจากหากขายให้โรงสีเพื่อรับเงินสดจะมีราคาแตกต่างกันตันละเกือบ 4,000 บาท ขณะที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ เจ้าหน้าที่ อคส. มาคอยออกใบประทวนให้ชาวนาที่นำข้าวมาจำนำเลย
นายวิรัตน์ ลิ่มทองสมใจ กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงสีสิงโตทองไรซ์อินเตอร์เทรด จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้สามารถเปิดรับจำนำข้าวได้แล้วเป็นวันแรก และโรงสีมีความพร้อมรับจำนำข้าวแล้ว เนื่องจากได้เตรียมการมานานกว่า 3 สัปดาห์ โดยโรงสีได้เซ็นสัญญากับ อคส.แล้ว ส่วนที่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่มาออกใบประทวนเพราะเป็นวันแรกของการรับจำนำ เจ้าหน้าที่เกิดความสับสนและต้องการคำสั่งอย่างเป็นทางการ แต่ยืนยันว่าชาวนาสามารถนำข้าวมาเข้าร่วมโครงการได้แล้ว
ที่ จ.ตราด นายมานพ ทองศรีสมบูรณ์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาตราด กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาตกต่ำส่งผลกระทบต่อเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกร จ.ตราด ที่ส่งสินค้าเกษตรไปขายในสหรัฐลดลง เช่น ข้าวสาร มันสำปะหลัง และข้าวโพด รวมทั้งข้าว โดยข้าวเปลือกมีราคาลดต่ำกว่า 10,000 บาท/ตัน ทำให้ปีนี้เกษตรกรสนใจร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกมากขึ้น
"จากการเดินทางไปพบเกษตรกรเพื่อประเมินความต้องการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล พบว่ามีเกษตรกรต้องการจำนำจำนวนมาก ผิดกับฤดูการผลิตปี 2551 ที่ราคาข้าวเปลือกสูงกว่า 10,000 บาท/ตัน ทำให้เกษตรกรพอใจและขายให้พ่อค้าที่มารับซื้อมาก ปีที่ผ่านมา จึงมีเกษตรกรนำข้าวมาจำนำกับ ธ.ก.ส.ตราด เพียง 12 ราย จำนวน 75.7 ตัน เชื่อว่าปีนี้มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกมากกว่าฤดูการผลิตปี 2551 ถึง 2 เท่าตัว แต่ยังไม่สามารถระบุราคาได้ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ได้กำหนด อย่างไรก็ตาม ขอให้เกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ ปรับปรุงยุ้งฉางให้ดี ให้มีความแข็งแรงและสามารถเก็บข้าวเปลือกในช่วงระยะเวลา 4 เดือนที่เป็นช่วงของการรับจำนำข้าวเปลือก" นายมานพกล่าว
ที่โรงสี บริษัท กันทรลักษ์รุ่งเรือง จำกัด อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กลุ่มชาวนาในเขต อ.กันทรลักษ์ นำรถบรรทุก 6 ล้อบรรทุกข้าวเปลือกเพื่อขายให้โรงสีตามโครงการรับจำนำข้าว แต่โรงสีไม่รับจำนำ เนื่องจากข้าวเปลือกมีความชื้นสูงมาก
นางฐิติมา อ่ำประเสริฐ ชาวนาในพื้นที่ ต.เวียงเหนือ อ.กันทรลักษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกิดฝนตกอย่างหนัก ทำให้ต้นข้าวถูกน้ำท่วม จึงเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นจากน้ำและนำไปตากให้แห้งก่อนไปขายให้โรงสีตามโครงการรับจำนำข้าว แต่โรงสีไม่รับจำนำ อ้างว่าข้าวมีความชื้นสูงมาก และโรงสีไม่มีเครื่องอบลดความชื้น ทำให้เดือดร้อนมาก หากไม่สามารถจำนำข้าวได้ ข้าวเปลือกต้องเน่าเสียหายและสิ้นเนื้อประดาตัวอย่างแน่นอน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาโดยจัดหาโรงสีที่มีเครื่องอบลดความชื้นมาเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในเขต อ.กันทรลักษ์ ด่วน
นายนิตย์ บูรพา ตัวแทนชาวนา ต.บึงมะลู อ.กันทรลักษ์ กล่าวว่า ในพื้นที่มีโรงสีค่อนข้างน้อย และไม่มีโรงสีที่มีเครื่องอบลดความชื้น จึงเป็นช่องทางให้โรงสีเอาเปรียบชาวนา จึงเสนอให้จัดโรงสีที่มีเครื่องอบลดความชื้นจากพื้นที่อำเภอใกล้เคียงเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เกิดการแข่งขันและเป็นประโยชน์ต่อชาวนา
นายศักดิ์ณภัทร สุขวัฒนลาภ ผู้จัดการโรงสี บริษัท กันทรลักษ์รุ่งเรือง จำกัด กล่าวว่า ในเขต อ.กันทรลักษ์มีโรงสี 3 แห่ง คือ โรงสีกันทรลักษ์รุ่งเรือง โรงสีตั้งไพบูลย์ โรงสีแสงเจริญรุ่งเรือง ทุกโรงสีไม่มีเครื่องอบลดความชื้น เมื่อชาวนานำเอาข้าวเปลือกที่มีความชื้นสูงมาจำนำ อีกทั้งไม่มีพื้นที่ตากข้าวเปลือก จึงไม่สามารถรับจำนำได้ รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้โรงสีที่มีเครื่องอบลดความชื้นที่อยู่นอกพื้นที่เข้าร่วมรับจำนำข้าวเปลือกในเขต อ.กันทรลักษ์ได้ เพื่อช่วยเหลือชาวนา
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการดำเนินโครงการรับประกันราคาพืชผลการเกษตร ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ว่า จากการหารือร่วมกับธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารทหารไทย และธนาคารนครหลวงไทย ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าธนาคารทั้ง 4 แห่ง พร้อมให้ความร่วมมือกับนโยบายรัฐบาล เพื่อดูแลเกษตรกรให้ช่วยเหลือตัวเองได้ โดยมีสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 4 พฤศจิกายน นอกจากนี้ จะขอให้ ครม.อนุมัติให้กระทรวงการคลังสามารถรับรู้การจำหน่ายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ด้วยได้ เพื่อจะได้จัดสรรโครงการได้อย่างเหมาะสม
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สัดส่วนการปล่อยกู้ 1.1 แสนล้านบาท จะแบ่งเป็น ธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน แห่งละ 4 หมื่นล้านบาท ธนาคารทหารไทยและธนาคารนครหลวงไทย แห่งละ 1.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ภายในปี 2551 ประมาณ 70% ที่เหลือจะเบิกจ่ายได้ภายในปี 2552
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รักษาการ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2551/52 รัฐบาลคงจะต้องขาดทุนแน่นอน เนื่องจากราคารับจำนำอยู่ที่ตันละ 12,000 บาท ขณะที่ราคาข้าวในตลาดโลกอยู่ที่ตันละ 9,000-10,000 บาท ส่วนจะขาดทุนมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านการขายสินค้าว่าจะได้กำไรหรือขาดทุนอย่างไร ส่วนการกู้เงิน 1.1 แสนล้านบาท ธ.ก.ส.ไม่หนักใจ เนื่องจาก สบน. และกระทรวงการคลังรับปากว่าจะแยกเงินกู้ดังกล่าวให้เป็นบัญชีธุรกรรมการดำเนินงานตามนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังได้รับค่าบริหารจัดการการจำนำในขั้นตอนใบประทวน 3% และขั้นตอนยุ้งฉาง 4%
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า กระทรวงการคลัง สบน. และ ธ.ก.ส. ตกลงกันแล้วว่า ธ.ก.ส.จะเป็นผู้กู้เงิน 1.1 แสนล้านบาท มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน ระยะเวลากู้ 1 ปี อัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) ลบ 2% และจะทยอยกู้และเบิกจ่ายได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระการเบิกจ่ายงบประมาณและไม่เป็นภาระกับหนี้สาธารณะ
นอกจากนี้ สบน.ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวจะดำเนินการด้วยความโปร่งใส เนื่องจาก สบน.จะต้องรายงานผลการดำเนินงานและการใช้งบประมาณกับสภาผู้แทนราษฎรในช่วงสิ้นปีงบประมาณด้วย รวมทั้งจะไม่กระทบต่อสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากไม่ได้กู้ผ่านตลาดตราสารหนี้ และหากเกิดผลขาดทุนจะไม่ส่งผลกระทบต่อ ธ.ก.ส. เนื่องจาก ธ.ก.ส.มีหน้าที่เพียงรับบริหารโครงการเท่านั้น
ที่มา มติชน
|