www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ผู้ส่งออก-โรงสีเจอเงินฝืด คายสต็อกฉุดราคาข้าวร่วง


นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยสถานการณ์ราคาข้าวขณะนี้ว่า ไม่น่าจะมีปัจจัยทำให้ราคาลดลง เพราะดีมานด์ยังเท่าเดิม ประชาชนยังไม่หยุดซื้อ แต่ที่มีการอ้างโครงการข้าวถุงของรัฐ และปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาด ว่าทำให้ราคาข้าวลดลง เชื่อว่าเป็นข้ออ้างให้โรงสีที่ต้องการทุบราคา

อย่างไรก็ตาม กรมจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อหาเหตุผลที่แท้จริง โดยจะตรวจสอบสต็อกข้าวทั้งโรงสีและผู้ส่งออกอย่างเข้มงวด เพื่อให้รู้ทิศทางสถานการณ์ที่แท้จริง โดยสต็อกจะบอกสถานการณ์ของผู้ค้าได้ดี

"ตอนนี้บอกได้อย่างเดียวว่ายังไม่มีเหตุอะไรให้ราคาข้าวตก ราคายังปกติ ความต้องการเท่าเดิม ข้าวถุงที่รัฐผลิตไม่กี่แสนตันไม่กระทบอะไร การส่งออกก็ยังไม่ได้ชะงักหรือให้หยุด ดังนั้นราคาข้าวลดลงน่าจะมาจากผู้ที่ต้องการซื้อข้าวจากชาวนาราคาถูกมากกว่า" นายยรรยง กล่าว

เมินเปิดจำนำยันชาวนายังได้กำไร

ส่วนกรณีที่มีผู้เสนอให้เปิดโครงการรับจำนำข้าว นายยรรยง กล่าวว่าเรื่องนี้ผู้ที่ได้ประโยชน์ทันที คือโรงสี ที่จะมีรายได้ทั้งค่าจ้างเก็บ ค่าแปรสภาพ และมีรายได้ส่วนอื่นทั้งรำและปลายข้าว

สำหรับความจำเป็นที่จะต้องเปิดโครงการรับจำนำหรือไม่ พิจารณาปัจจัย 2 ประการ คือ 1. การรับจำนำจะกระทำก็ต่อเมื่อราคากำลังจะตกอย่างรุนแรง ราคาตลาดไม่สะท้อนต้นทุนเกษตรกร แต่เมื่อเทียบราคาในขณะนี้ถือว่าชาวนายังมีกำไร เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 5,000-6,000 บาทต่อไร่ ส่วนราคาข้าวเปลือกเฉลี่ยที่ตันละ 12,000-13,000 บาท

2. รับจำนำเพื่อให้ชาวนาสามารถมีเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องก่อน เมื่อข้าวได้ราคาดีขึ้นก็สามารถหาเงินมาไถ่ถอนและมีรายได้กำไรจากส่วนต่างระหว่างราคาตลาดและราคารับจำนำ ซึ่งปัจจุบันชาวนามีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีมาก

นายกโรงสีชี้ตลาดเล่นเกมกดราคา

นายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีไทย ยอมรับว่าราคาข้าวเปลือกขณะนี้ราคาลดลงจริงเกวียนละ 1,000-1,200 บาท แต่เกิดจากหลายปัจจัย เช่น ผู้ซื้อชะลอการรับซื้อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาราคาข้าวสูงเกินไป และโรงสีที่ซื้อข้าวเข้าเก็บก่อนหน้านี้จำเป็นต้องทยอยขายข้าวออกเพื่อใช้หนี้แบงก์ ด้านผู้ส่งออกก็ต้องขายออกเหมือนกัน

ขณะเดียวกันผู้ซื้อต่างประเทศ รู้ว่าผู้ส่งออกมีข้าวเต็มโกดัง ส่วนโรงสีเองก็มีข้าวสต็อกอยู่จำนวนมาก ทำให้ผู้ส่งออกเห็นช่องว่างกดราคาลง ด้านโรงสีตกใจจำเป็นต้องทยอยขายออก

" เวลานี้เท่ากับว่าผู้ซื้อต่างประเทศ ผู้ส่งออกเริ่มจับทางได้ ทำให้โรงสีต้องเร่งทยอยขายข้าว จึงเป็นต้นเหตุทำให้ราคาข้าวเปลือกลดลงตั้งแต่กลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาแล้ว ไม่ใช่เพิ่งลดลง สถานการณ์ตอนนี้เป็นการเล่นเกมระหว่างผู้ซื้อ ผู้ส่งออก และโรงสี"

ส่วนกรณีที่มีการอ้างว่าข้าวธงฟ้า ส่งผลกระทบให้ราคาข้าวเปลือกนาปรังลดลงนั้นไม่เป็นความจริง แต่ความจริงคือก่อนหน้านี้มีพ่อค้าข้าวกักตุนไว้แล้วปั่นราคาให้สูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% เมื่อถึงจุดหนึ่งโรงสีและผู้ส่งออกกลับใช้จิตวิทยากดราคารับซื้อข้าวเปลือก ทั้งที่ปัญหาแท้จริงคือโรงสีมีข้าวอยู่ในสต็อกจำนวนมาก ผู้ส่งออกอ่านเกมได้ก็กดราคาลดลง

"ส่วนตัวยังเชื่อว่าราคาข้าวในประเทศจะปรับตัวขึ้นอีก เมื่อฟิลิปปินส์ต้องการซื้อข้าวรวมทั้งไนจีเรียที่ต้องการซื้อข้าวอีก 5 แสนตัน ขณะเดียวกันข้าวช่วงนี้เก็บเกี่ยวใกล้จะหมดแล้ว หากเป็นข้าวนาปรังรอบ 2 จะออกสู่ตลาดอีกครั้งคงเป็นช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.นี้ คาดผลผลิตจะมีอีก 3-3.5 ล้านตัน"

นายปราโมทย์ ได้อธิบายถึงรายได้ของโรงสี ว่า หากซื้อข้าวเปลือกในราคาเกวียนละ 15,000 บาท จะสีเป็นข้าวสารได้ 400 กิโลกรัม ซึ่งโรงสีขายให้ผู้ส่งออกกิโลกรัมละ 31 บาท หรือประมาณ 12,400 บาทต่อตัน ส่วนที่เหลือเป็นข้าวหัก 120 กิโลกรัมราคา 27 บาทต่อกิโลกรัม รวมเป็นเงิน 3,240 บาท ส่วนที่เหลือเป็นรำหยาบ 60 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 1.50 บาท จะได้เงิน 90 บาท

นอกจากนี้ยังได้ รำละเอียด 90 กิโลกรัมขายได้กิโลกรัมละ 10 บาท ได้เงิน 900 บาท และแกลบ 220 กิโลกรัมราคากิโลกรัมละ 1 บาท จะได้เงิน 220 บาท รวมรายได้จากการรับซื้อข้าว 1,000 กิโลกรัม โรงสีจะมีรายได้เฉลี่ย 16,850 บาท ดังนั้นจะเห็นว่าหากราคาข้าวสารหอมมะลิสูงถึงตันละ 30,000 บาท ไม่ใช่ของโรงสีแน่นอน

แนะรัฐแทรกแซงตลาดผันผวนหนัก

นายวัฒนา รัตนวงศ์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่าแนวโน้มราคาข้าวช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาลดลง และอยู่ในภาวะผันผวนหนัก สาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น เปิดโครงการข้าวถุงธงฟ้า และปริมาณข้าวนาปรังออกสู่ตลาด รวม 4 ล้านตันข้าวสาร ทยอยออกตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. ส่งผลให้ราคาซื้อขายในตลาดต่างประเทศลดลง โดยขณะนี้ราคาข้าวในประเทศลดลงตันละ 1,500 บาท ทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศไม่แน่ใจสถานการณ์ราคาจึงชะลอการซื้อ

ทั้งนี้ ผู้ขายในประเทศที่ถือคำสั่งซื้อไว้ แต่ในความเป็นจริง ยังไม่สรุปการซื้อขาย เพราะยังไม่ตกลงราคาที่แน่นอน และยังไม่เปิดแอล/ซี ทำให้การขายจริงยังไม่เกิดขึ้น อีกทั้งหลายประเทศที่ซื้อข้าวจากไทยทุกปีจนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งซื้อที่ชัดเจน ดังนั้นจะเห็นว่าทุกฝ่ายไม่แน่ใจในสถานการณ์ตลาด เป็นผลให้สถานการณ์ตลาดผันผวนมาก

นายวัฒนา กล่าวว่า การเปิดรับจำนำข้าว รัฐสามารถกำหนดราคาให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด หรือหากประเมินราคาสูง ก็จะเป็นประโยชน์กับชาวนาเอง เมื่อรัฐส่งสัญญาณจะเปิดรับจำนำที่จะมีผลต่อราคา ทำให้ผู้ซื้อต่างประเทศ รีบกลับเข้ามาซื้อข้าวในไทย โดยราคาที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับรัฐเป็นผู้กำหนด

สำหรับราคาข้าวเปลือกในประเทศที่ปรับลดลงในช่วงนี้ประมาณ 1,500 บาทต่อตัน เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ทุกฝ่ายตกใจ ทั้งผู้ส่งออก โรงสี และชาวนา โดยเกิดจากหลายสาเหตุทั้งราคาตลาดรับซื้อล่วงหน้าที่ชิคาโก สหรัฐ ลดลง ส่วนหนึ่งคาดว่าราคาข้าวของไทยจะลดลง เป็นผลมาจากกรณีรัฐบาลนำข้าวในสต็อกรัฐบาล 2.1 ล้านตัน ออกมาทำข้าวถุงขายให้ผู้บริโภคราคาลดลง 20%

นอกจากนี้ การที่ชาวนาเร่งขายข้าวออกช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวนาปรัง มีฝนตกหลายพื้นที่ทำให้มีความชื้นสูงราคาก็ลดลง หากความชื้นสูงเกิน 15% จะถูกกดราคาลดลง โดยความชื้นที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1% จะถูกกดราคาลง 200 บาท ดังนั้นหากข้าวมีความชื้นสูงถึง 30% จะถูกหักความชื้นเป็นเงินถึง 3,000 บาทต่อตัน

"หากรัฐไม่ดำเนินการใดๆ ปล่อยให้ตลาดผันผวนเช่นนี้ต่อไป ตลาดซื้อขายหยุดนิ่ง จะทำให้ราคาข้าวลดลง รวมทั้งชาวนาที่ปลูกข้าวนาปีที่ออกปลายปีนี้ก็จะไม่ได้รับประโยชน์"

นายวัฒนา กล่าวว่าสต็อกข้าวของโรงสี ขณะนี้มีเพียงพอกับความต้องการ ทั้งในส่วนของการส่งออกและการบริโภคภายใน เพราะโรงสีได้ปรับวิธีการทำธุรกิจจากเดิมที่ตกลงซื้อข้าวจากชาวนาล่วงหน้า หรือตกลงขายข้าวล่วงหน้า โดยต้องมีข้าวก่อน จึงขายเพื่อให้แน่ใจว่าต้นทุนที่แท้จริงอยู่ที่เท่าใด และกำหนดราคาให้เหมาะสม

พลาดโอกาสไม่ร่วมประมูลข้าวฟิลิปปินส์

ส่วนกรณี การประมูลข้าวของฟิลิปปินส์ว่าที่มีการขอให้รัฐบาลผู้ส่งออกรับรอง แต่รัฐบาลไทยติดข้อกฎหมายที่ห้ามไม่ให้รัฐบาลค้ำประกันเอกชน ส่งผลให้ประเทศไทยเสียโอกาสจากการประมูลข้าวฟิลิปปินส์ 5 แสนตันวานนี้ (5 พ.ค.) ซึ่งความจริงรัฐบาลควรให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เข้าร่วมประมูลข้าว เพราะมีบัตรส่งออกข้าวอยู่แล้ว และอคส.เป็นหน่วยงานของรัฐบาล สามารถค้ำประกันให้ได้

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่าในขณะนี้ราคาข้าวเปลือกปรับตัวลดลงจากช่วงสัปดาห์ก่อนที่ตันละ 14,000 บาท เหลือตันละ 13,000 บาท เป็นผลมาจากที่โรงสีที่กักตุนข้าวเอาไว้มากก่อนหน้านี้ ได้ทยอยนำข้าวออกมาขาย

"ราคาข้าวขณะนี้มีตัวแปรที่สำคัญ คือกลุ่มโรงสี และหยง ที่เก็บข้าวสต็อกไว้เก็งกำไรมากจนเกินไป หากไม่ระบายข้าวออกเลย จะทำให้ไม่สามารถรับซื้อผลผลิตข้าวนาปรังรอบ 2 ได้อีก"

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.