สศช.สงสัยเฮดจ์ฟันด์ปั่นราคาข้าว
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ว่า ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ สศช.ไปศึกษาราคาการซื้อขายพืชพลังงาน รวมถึงการซื้อขายข้าวเปลือกในตลาดล่วงหน้า (Trade Paper Future) ที่ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นพิเศษว่าเป็นการสั่งซื้อที่เกิดจากความต้องการบริโภคข้าวที่แท้จริงในปี 2551 หรือเกิดจากความต้องการสั่งซื้อข้าวมาเก็บไว้เป็นสต๊อคข้าวของประเทศ เพราะกังวลว่าอาจจะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารในโลก ซึ่ง สศช.เกรงว่าราคาที่สูงขึ้นอาจมาจากการเก็งกำไรของเฮดจ์ฟันด์ ( กองทุนบริหารความเสี่ยง) จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ที่ผ่านมา สศช.ยังไม่มีตัวเลขจริงๆ ของการซื้อขายข้าวในตลาดโลกว่าที่ราคาพุ่งสูงขึ้น เพราะอะไร หากเกิดจากความต้องการบริโภคจริงในปีนี้ที่ผลผลิตข้าวประเทศอื่นไม่พอก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้าการสั่งซื้อข้าวที่สูงขึ้นมากๆ เกิดจากเฮดจ์ฟันด์เป็นผู้ปั่นราคาและสถานการณ์ ให้คนตื่นตระหนกว่าข้าวจะแพงกลัวว่าจะไม่มีข้าวกิน เลยสั่งซื้อข้าวเพิ่มขึ้นเก็บเป็นสต๊อค ตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์จะทำให้เกิดผลกระทบกับข้าวในปี 2552 ที่เมื่อสต๊อคข้าวที่ซื้อเก็บไว้ถูกระบายออกมา ข้าวในฤดูกาลผลิตปกติอาจได้รับผลกระทบ
จี้เร่งสร้างหลักประกันรับขาลง
นายอำพนกล่าวว่า นอกจากนี้ สศช.ยังมองว่ารัฐบาลควรเร่งสร้างหลักประกันความเสี่ยงพืชผลให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งเร่งรัดกำกับดูแลการเพาะปลูกข้าวของเกษตรกรให้อยู่ในปริมาณที่พอดีกับความต้องการ เนื่องจากตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์และประสบการณ์ที่ผ่านมา เมื่อสินค้าเกษตรชนิดใดมีราคาดีและคนหันไปปลูกเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวที่คนหวังว่าราคาจะสูงกว่านี้ หากทุกประเทศคิดแบบเดียวกัน โอกาสที่ปริมาณข้าวจะเพิ่มขึ้นมาก และต้องระวังว่าเวลาขาลงมักจะลงรุนแรง เนื่องจากสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่อ่อนไหวและราคาขึ้นอยู่กับความต้องการเป็นหลัก
"ผมคิดว่าเราต้องไม่กระดี๊กระด๊ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะมองดูแล้วไม่น่าจะมาจากความต้องการสินค้าที่แท้จริงทั้งหมด และต้องยอมรับว่าสินค้าเกษตรมีการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าได้ ทำให้ยิ่งต้องระมัดระวังทั้งการขาย การปลูก ถ้าผลผลิตมากกว่าความต้องการเมื่อใด เกษตรกรกระทบแน่ เพราะขาลงจะลงเยอะมาก เรียกว่าตกแรงจริงๆ แต่ยังเชื่อว่าราคาข้าวจะไม่ลดลงไปเท่าเดิมอีก เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลง ช่วยหนุนให้ราคายังพอไปได้บ้าง" เลขาธิการ สศช.กล่าว
กก.ชาวนาเผยทุกข์หนักเจอ2 ปัญหา
นายวิเชียร พวงลำเจียก กรรมการสมาคมชาวนาไทย และเป็นประธานเครือข่ายเกษตรกร จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวนาอยุธยาได้ขึ้นสวรรค์จากการขายข้าวเปลือกได้กำไรไม่ทันไร ก็ต้องมาตายตกนรก เนื่องจากประสบปัญหา 1. คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้นำข้าวในสต๊อคกลาง 2.1 ล้านตัน มาบรรจุเป็นข้าวถุงขายราคาถูก ทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดลดลง โดยราคาข้าวเปลือกนาปรังจากสูงสุด 14,500 บาท/ตัน ลดลงเหลือ 11,000 บาท/ตัน เพียงระยะเวลาไม่กี่วัน ล่าสุด วันนี้โรงสีทุกแห่งในอยุธยา ปฏิเสธรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาที่เก็บเกี่ยวข้าวเปลือกนาปรัง ไปขายที่โรงสีข้าวแล้ว โดยให้เหตุผลว่าพื้นที่โกดังเก็บทุกแห่งเต็ม ชาวนาต้องหาทางออกไปติดต่อเร่งขายให้โรงสีในเขต อ.โพธิ์ทอง, อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง หากมีการกดราคาต่ำลงกว่านี้ ก็ต้องจำใจขาย เพราะไม่มียุ้งฉางเก็บ 2. พายุนาร์กีสพัดกระหน่ำส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลาง โดยข้าวเปลือกหากไม่ขายจะถูกฝน เพราะชาวนาไม่มียุ้งฉาง ทำให้เกิดความชื้นมากขายไม่ได้ราคา เมื่อราคาข้าวไม่ดีหรือขายไม่ออก ชาวนาต้องชะลอการเกี่ยวข้าวนาปรังออกไป ซึ่งก็จะถูกพายุฝนตกทุกวันและตกหนัก ทำให้ต้นข้าวที่ออกรวงสุกเต็มที่จมน้ำตายเมล็ดข้าวเน่าเสียอีก ถือว่าขณะนี้ชาวนาประสบปัญหาร้ายแรง เพราะเกี่ยวข้าวมาแล้วไม่รู้จะขายใคร แต่หากไม่เกี่ยวต้นข้าวก็จะจมน้ำฝน
กาฬสินธุ์โวยโรงสีกดราคารับซื้อ
นายสำรอง โพธิ์ซก ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตยคนอีสาน แถลงที่ จ.กาฬสินธุ์ ว่า จะเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบปัญหาราคาการรับซื้อข้าวเปลือกที่มีราคาตกต่ำลง โดยที่ จ.กาฬสินธุ์ โรงสีและตลาดกลางข้าว รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรเพียงตันละ 6,000 บาท ทั้งๆ ที่รัฐบาลตั้งราคาสูงถึงตันละ 17,000 บาท โดยกลุ่มโรงสีอ้างปัญหาด้านความชื้น ล่าสุด มีใบสั่งจากกลุ่มนายทุนให้โรงสีรายย่อยรับซื้อข้าวเปลือกเกษตรกรเพียงตันละ 5,000 บาทเท่านั้น หากเปรียบเทียบกับจังหวัดใกล้เคียงพบว่า รับซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 7,500-8,500 บาท ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรกาฬสินธุ์ขาดทุนรายละ 3,500-4,000 บาท การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเอาเปรียบชาวนา จึงต้องการให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบ โดยวันที่ 6 พฤษภาคม สมาพันธ์ประชาธิปไตยพร้อมตัวแทนเกษตรกรและกลุ่มสหกรณ์ในจังหวัดจะรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาและเอาผิดกับปัญหาการปั่นราคาข้าวด้วย
ประดิษฐ์ รังสฤษฏ์กุล สมาชิกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า อยากให้นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงกับทางสมาคมฯ กรณีที่นำข้าวสารราคาถูกมาจำหน่าย เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับราคาข้าวเปลือก เนื่องจากจะเป็นการทำให้ฉุดราคาข้าวเปลือกให้ตกต่ำลงได้
ปธ.โรงสีอ้างเหตุผลปฏิเสธ"ซื้อ"
นายประเสริฐ บำรุงผล ประธานชมรมโรงสีข้าว จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สาเหตุที่โรงสีหลายแห่งปฏิเสธการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนานั้น เป็นเพราะช่วงนี้ฝนตกมาก ทำให้ความชื้นในข้าวสูงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อนำมาตากที่ลานตากข้าวของโรงสีจะใช้เวลาหลายวัน และไม่สามารถรับซื้อข้าวจากรายอื่นได้ นอกจากนี้โรงสีหลายแห่งกำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากข้าวมีปริมาณมากแต่เงินที่จะจ่ายให้เกษตรกรทันทีนั้นมีไม่เพียงพอ โรงสีบางแห่งต้องใช้วิธีผัดผ่อนการจ่ายเงิน
"ขอให้รัฐบาลชี้แจงโรงสีข้าวให้ชัดเจน เรื่องการจัดทำข้าวถุง เนื่องจากที่ผ่านมา มีการสั่งการให้โรงสีนำข้าวมาแบ่งใส่ถุง แต่ไม่มีการพูดคุยเรื่องการจ้างให้ชัดเจน ทำให้โรงสีหลายแห่งชะลอการจัดทำข้าวถุงตามที่รัฐบาลต้องการจนกว่าจะมีการพูดคุยรายละเอียดมากกว่านี้" นายประเสริฐกล่าว
นายสุวพรรณ มลิลา พาณิชย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ในวันที่ 6 พฤษภาคม จะเข้าหารือกับประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัด เพื่อขอร้องให้ทุกโรงสีรับซื้อข้าวจากเกษตรกรไปก่อน เพราะเชื่อว่าเดือนหน้าจะมีปริมาณข้าวเปลือกออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น
ร้านไทยในสหรัฐ-ญี่ปุ่นขอพณ.ช่วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในสหรัฐและญี่ปุ่น ติดต่อขอซื้อข้าวหอมมะลิและข้าวขาวจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) เนื่องจากขาดแคลนข้าวและราคาจำหน่ายในต่างประเทศสูงขึ้นหลายเท่า จนกระทบต่อการทำธุรกิจ บางรายต้องลดเวลาเปิดร้านหรือหยุดประกอบการสัปดาห์ละ 1-2 วัน
ก่อนหน้านี้มีผู้ประกอบการร้านอาหารไทยและผู้บริโภค ร้องเรียนผ่านสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศถึงปริมาณข้าวที่ลดลงกว่าครึ่ง หาซื้อในท้องตลาดได้ยากขึ้น และมีราคาสูงกว่าเท่าตัวจนกระทบต่อการครองชีพและยอดขายของธุรกิจ และเสนอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ เพราะห่วงว่าจะกระทบต่อการทำธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศ และกระทบต่อโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกของกระทรวงพาณิชย์ ที่มีเป้าหมายต้องการเพิ่มร้านอาหารไทยในต่างประเทศปีละ 500-1,000 แห่ง จากปัจจุบันมีเกือบ 3,000 แห่ง และภาพพจน์ของร้านอาหารไทยที่ต้องหันใช้วัตถุดิบข้าวชนิดอื่นแทนหรือต้องพึ่งพาข้าวจากประเทศคู่แข่งของไทย เช่น เวียดนาม กัมพูชา และอินเดีย และเป็นการเสียเปล่าที่กระทรวงพาณิชย์จะโปรโมตการบริโภคข้าวหอมมะลิไทยและร้านอาหารไทยขณะที่ขาดแคลนวัตถุดิบ
พาณิชย์เข็นข้าวถุงอินทรีย์ขายอีก
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ได้รับทราบปัญหาข้าวไทยขาดแคลนในต่างประเทศมาบ้างแล้ว ยอมรับว่าข้าวที่มีราคาแพงขึ้นจะกระทบต่อร้านอาหารไทยในต่างประเทศ เชื่อว่ากระทรวงพาณิชย์คงหาทางแก้ไขในเรื่องนี้
แหล่งข่าวจาก อคส.กล่าวว่า ยังไม่มีนโยบายที่จะจัดส่งออกข้าวไปจำหน่ายโดยตรงให้กับร้านอาหารไทยในต่างประเทศ แม้ได้รับการร้องเรียนมาแล้วหลายรายก็ตาม ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ในส่วนของ อคส. เตรียมจัดทำข้าวถุงอินทรีย์ตรา "อคส." ออกจำหน่าย เพิ่มเติมจากที่จัดทำข้าวถุงหอมมะลิและจำหน่ายในราคาถุงบรรจุ 5 กิโลกรัม (กก.) 170 บาท ข้าวอินทรีย์จะมีทั้งข้าวหอมมะลิผสม และข้าวขาวผสมชนิดพิเศษ กำหนดจะเปิดตัวในงานแสดงสินค้าและอาหารไทย (ไทยเฟกซ์) ที่กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพ กลางเดือนพฤษภาคมนี้
เล็งซื้อปุ๋ยยูเครนขายราคาพิเศษ
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแนวโน้มสูงที่กระทรวง จะสั่งซื้อปุ๋ยยูเรียจากประเทศยูเครนมาจำหน่ายให้เกษตรกรในราคาพิเศษ เนื่องจากภายหลังการประสานงานกับประเทศต่างๆ พบว่า ประเทศยูเครนเสนอราคาต่ำที่สุด โดยเบื้องต้นราคา GIF 9,400 บาท เมื่อรวมค่าดำเนินการ เชื่อว่าจะมีราคาต่ำกว่าท้องตลาดตันละประมาณ 4,000 บาท ขณะนี้กรมวิชาการการเกษตรอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของปุ๋ยจากยูเครน โดยคาดว่าจะสรุปเป็นรายงานเสนอกลับมาวันที่ 6 พฤษภาคมนี้
มาเลย์เล็งห้ามนำข้าวออกอีกปท.
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานความคืบหน้าของกรณีที่ทางการไทยนำเสนอแนวความคิดการจัดตั้ง " กลุ่มประเทศผู้ส่งข้าวเป็นสินค้าออก" หรือ "โอเรค" ตามแนวความคิดของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมประจำปีธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ก่อนหน้านี้ และไม่ได้รับการตอบรับมากเท่าที่ควรว่า สมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ออกมาแสดงการสนับสนุนการรวมตัวกันของ 5 ชาติ คือ ไทย, พม่า, ลาว, เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อจัดตั้งโอเรคขึ้นดังกล่าวว่า เป็นการดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ไม่ใช่ความพยายามที่จะครอบงำตลาด กักตุน หรือขึ้นราคาข้าว ไม่ใช่ความเคลื่อนไหวเพื่อบีบคอประเทศที่ไม่มีข้าวแต่อย่างใดทั้งสิ้น
นายชารีร์ อับดุล ซามัด รัฐมนตรีการค้าภายในและกิจการผู้บริโภคของมาเลเซีย เผยว่า มาเลเซียอาจห้ามนำข้าวออกนอกประเทศ สืบเนื่องจากความแตกต่างด้านราคาระหว่างข้าวในมาเลเซียกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งไทย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ทำให้อาจมีปัญหาลักลอบนำข้าวผ่านชายแดนได้ ทั้งนี้กรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจำเป็นเท่าใดนัก แต่เป็นความเคลื่อนไหวที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคภายในประเทศเท่านั้น
ที่มา มติชน |