รายงานข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย แจ้งว่า ขณะนี้สมาชิกสมาคมมีความแปลกใจในการออกประกาศจำหน่ายข้าวสารในสต็อกรัฐบาลขององค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นอย่างมาก เพราะหลังจากที่ออกประกาศในวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา สมาคมกลับได้รับการแจ้งถึงการออกประกาศดังกล่าวล่าช้ากว่าผู้ส่งออกบางราย ทั้งๆ ที่สมาคมควรจะได้รับการแจ้งก่อน เพื่อเป็นตัวกลางในการกระจายข่าวไปยังสมาชิกอื่นๆ
นอกจากนี้ ในการออกทีโออาร์ดังกล่าว ยังพบความผิดปกติ โดยเฉพาะการกำหนด วัน เวลา และสถานที่ยื่นซองเสนอราคา โดยระบุแต่วันยื่นซอง คือ วันที่ 5 พ.ย. เวลา 09.00-12.00 น. เท่านั้น แต่ไม่กำหนดวันเปิดซอง โดยกำหนดเพียงว่า คณะกรรมการจะรับซองเสนอราคาและจะเปิดซองเอกสารหลักฐานเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคา และรวบรวมซองใบเสนอราคาพร้อมซองเอกสารหลักฐานของผู้ผ่านการตรวจคุณสมบัติเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสารเพื่อพิจารณา
ผู้ส่งออกกังขาไม่เปิดซองประมูล
ทั้งนี้ การปฏิบัติที่ผ่านมาของกระทรวงพาณิชย์ในการเปิดประมูลข้าว จะเปิดให้ผู้ส่งออกยื่นซองและเปิดซองในวันเดียวกัน และเปิดให้สื่อมวลชนสามารถเข้าไปตรวจสอบการยื่นซองเสนอราคาได้ ทำให้ทราบได้ว่าใครเสนอราคาเท่าใด แต่การจะได้รับอนุมัติขายข้าวให้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นการดำเนินการในขั้นถัดไป แต่ในครั้งนี้ไม่เปิดซองเสนอราคาในทันที ไม่มั่นใจว่ามีความโปร่งใสเพียงพอ
"สมาชิกสมาคมมีการหารือกันว่า การไม่เปิดซองเสนอราคาในวันเดียวกัน นอกจากทำให้ไม่สามารถทราบได้ ว่า ใครเสนอราคาเท่าใด และหากมีผู้ส่งออกบางรายกรอกรายละเอียดการซื้อข้าวไว้ แต่ไม่กรอกราคา แล้วมีคนช่วยกรอกให้ภายหลัง เพื่อให้ชนะผู้ยื่นเสนอราคารายอื่น จะเป็นไปได้หรือไม่"
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบการออกทีโออาร์ประมูลข้าวของกระทรวงพาณิชย์ในครั้งนี้ พบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหลายอย่าง เริ่มจากในวันที่ 30 ต.ค. เมื่อมีการออกประกาศ 2 ฉบับ แต่กลับมีการนำรายละเอียดลงเว็บไซต์ของ อคส. เพียงฉบับเดียว และเป็นฉบับที่ประกาศประมูลข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมจังหวัด และข้าวหอมปทุมธานี เพื่อจำหน่ายในประเทศและ/หรือส่งออกต่างประเทศ
ส่วนอีกฉบับที่เป็นข้าวขาว เพื่อส่งออกต่างประเทศ ไม่มีการนำลงเว็บไซต์ และจากการสอบถามไปยังสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ก็ได้รับการยืนยันว่ายังไม่ได้รับทีโออาร์ในวันเดียวกันนี้จริง จนเมื่อมีผู้สื่อข่าวสอบถาม จึงได้ทวงถามไปยัง อคส. แล้วถึงจะได้รับทีโออาร์ดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติของ อคส. จากเดิมที่ประกาศระบายข้าว จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้สื่อข่าวทุกครั้ง แต่ครั้งนี้แจ้งผู้สื่อข่าวในวันที่ 4 พ.ย. หลังออกทีโออาร์ลงวันที่ 30 ต.ค.ไปแล้ว
พงษ์ลาภชี้ไม่โปร่งใสเปิดซอง
นายสมพงษ์ กิตติเรียงลาภ กรรมการผู้จัดการบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า ได้รับแจ้งทีโออาร์ระบายข้าวทั้ง 2 ฉบับแล้ว แต่เท่าที่ดูรายละเอียดในทีโออาร์เห็นว่าไม่ได้ระบุเงื่อนไขการเสนอซื้อที่ชัดเจน
แม้ก่อนหน้านี้ รมว.พณิชย์จะกำหนดให้เสนอซื้อข้าวสต็อกเก่าและสต็อกใหม่อย่างละครึ่ง และยังไม่มีความชัดเจนในการเปิดซองของผู้ยื่นเสนอราคาเมื่อใด ทำให้ไม่มีความโปร่งใส และยังกำหนดให้ทราบผลใน 30 วัน ถือว่าล่าช้าเกินไป เพราะเดิมแค่ 15 วัน ซึ่งทางสมาคมได้ทำหนังสือถึง รมว.พาณิชย์ เพื่อขอให้แก้ทีโออาร์ในส่วนนี้แล้ว
"ถิรชัย" ปัดวางเงื่อนไขระบายข้าว
นายถิรชัย วุฒิธรรม ประธานคณะกรรมการ อคส. กล่าวว่า ไม่ทราบเงื่อนไขการระบายข้าว เพราะเป็นเรื่องของคณะอนุกรรมการระบายข้าวที่มีนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน และไม่ได้เป็นกรรมการในที่ประชุมด้วยจึงไม่ทราบ ส่วนกรณีกระทรวงการคลัง ต้องการมีส่วนร่วมบอร์ดระบายข้าวถือเป็นเรื่องดี เพราะช่วยกลั่นกรองงานรอบคอบยิ่งขึ้น และรับรู้การทำงานได้พร้อมกัน
ส่วนการเปิดโครงการรับจำนำ ยืนยันว่ามีโรงสีเพียงพอทุกพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรโรงสีเดิม ที่เคยร่วมโครงการมาก่อน แต่ขณะนี้ติดปัญหารายละเอียดไม่ชัดเจน รวมทั้งโรงสียังเกิดสับสนว่าจะเข้าร่วมโครงการกับ อคส. หรือองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เพราะมีความแตกต่างกันที่สัญญาค้ำประกันที่ อคส. ตั้งไว้สูง ซึ่งโรงสีกำลังพิจารณาว่า หาก อ.ต.ก. ตั้งสัญญาไว้ต่ำกว่าอาจเลือกร่วมโครงการกับ อ.ต.ก. แทน แต่ อคส. ยืนยันว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะหากตั้งการค้ำประกันเสียหายต่ำ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาจะไม่คุ้มค่าได้
ส่วนการจำนำข้าวที่เข้าโครงการรับจำนำวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา มีข้าวแล้ว 600 ตัน ส่วนโรงสีเปิดได้แล้ว 20% และจะครบ 100% ในสัปดาห์หน้าซึ่งตรงกับช่วงที่ผลผลิตออกมาจำนวนมากพอดี
คลังขอเอี่ยวขายข้าวหวั่นสูญเงิน 1.6 แสนล.
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ครม.เห็นชอบแผนการจัดหาเงินกู้ 110,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ ให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จากธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 40,000 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 40,000ล้านบาท ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) 15,000 ล้านบาท และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) 15,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว และผลิตผลทางการเกษตรอีก 2 ชนิด คือโครงการรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551/2552 และโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ปี 2551/2552
นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล ที่มีอยู่ขณะนี้ประมาณ 4.3 ล้านตัน พร้อมกับให้กระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. เข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการตลาดและคณะกรรมการระบายข้าว ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ด้วย เพื่อพิจารณาภาพรวมของการระบายข้าวให้เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้กู้เงินจำนวนมากมาดำเนินโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร จึงต้องเข้าไปดูแลให้รัฐบาลได้รับผลประโยชน์
เพราะหากการระบายข้าวมีผลขาดทุนเกิดขึ้นรัฐบาลต้องรับภาระโดยสำนักงบประมาณต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อชดใช้หนี้ให้กับ ธ.ก.ส.
ขณะนี้ กระทรวงการคลังกู้เงินมาดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ทั้งข้าวนาปรัง ปี 2551 และข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2551/2552 แล้วประมาณ 150,000-160,000 ล้านบาท จึงต้องหาทางระบายข้าว เพื่อนำเงินมาชำระคืนหนี้จำนวนดังกล่าว โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องเร่งระบายข้าวที่รับจำนำเพื่อปิดบัญชีโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังสิ้นสุดการรับจำนำ
“ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกู้เงิน ทางกระทรวงการคลังจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ส่วนดอกเบี้ยที่จะจ่ายสำหรับเงินกู้ครั้งนี้ ทางสำนักงบประมาณได้ตั้งงบประมาณปี 2552 ไว้ให้แล้ว จึงมีความจำเป็นที่กระทรวงการคลังและ ธ.ก.ส.ต้องเข้าไปดูแลการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ว่าเมื่อขายข้าวได้แล้ว จะนำเงินกลับมาใช้หนี้อย่างไร ไม่เช่นนั้นเราก็ต้องหาเงินมาให้ตลอด” นายประดิษฐ์ ระบุ
จี้ ธ.ก.ส.เร่งประชาสัมพันธ์ขายข้าวล่วงหน้า
นายประดิษฐ์ กล่าวว่า ครม.ยังอนุมัติในหลักการให้ ธ.ก.ส.ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรมีทางเลือก ในการขายข้าวล่วงหน้า เฉพาะการขายข้าวหอมมะลิ ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เท่านั้น โดยเบื้องต้นเกษตรกรจะขายข้าวหอมมะลิล่วงหน้า ผ่าน ธ.ก.ส. โดยการขายสิทธิในข้าวให้ ธ.ก.ส.ในราคาที่ตั้งไว้จากนั้น ธ.ก.ส.อาจจะนำข้าวไปประมูล หรือนำไปขายในตลาดกลางซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า หากได้ราคาดีกว่าที่เกษตรกรนำมาขาย เงินส่วนเกินก็จะนำไปจ่ายให้เกษตรกรเพิ่มเติม คาดว่าจะเริ่มต้นในวันที่ 1 ธ.ค.นี้
สำหรับการดำเนินการจะต้องตั้งกองทุนขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการ ส่วนการกำหนดราคารับซื้อนั้น จะต้องหารือในรายละเอียดอีกครั้ง หากเกษตรกรสนใจสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการที่ ธ.ก.ส. ส่วนสาเหตุที่เลือกข้าวหอมมะลิมาดำเนินการก่อน เพราะข้าวหอมมะลิ ราคาไม่ผันผวนในตลาดโลก และราคามีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากข้าวหอมมะลิของไทยเป็นข้าวหอมที่มีคุณภาพดีที่สุด และในอนาคตจะขยายโครงการไปยังข้าวขาว 100% ด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|