www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

"ไชยา"เดินสายขายข้าวไม่ต้องมีTOR วิจารณ์แซดนโยบาย"ไม่เปิดประมูล"


ภายหลังคณะรัฐมนตรีชุด "สมชาย 1" เข้ามาบริหารประเทศยังไม่ถึง 1 สัปดาห์ดี นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบงานด้านข้าวกลับมาให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการแล้ว และทางกระทรวงเตรียมที่จะเปิดระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลทั้งข้าวสาร 2.1 ล้านตันในสต๊อกเก่า กับข้าวเปลือกจากโครงการรับจำนำนาปรังปี 2551 ปริมาณ 3.96 ล้านตัน ท่ามกลางความสงสัยกันว่า นายไชยามีอำนาจดังเช่นที่ว่าจริงหรือไม่ ? และทำไมต้องเร่งระบายข้าวโดยปราศจากหลักเกณฑ์ ไม่เหมือนกับการระบายข้าวครั้งที่ผ่านๆ มา แต่ที่สำคัญก็คือ จนกระทั่งบัดนี้ ครม.ยังไม่เคยมีมติให้อำนาจในการระบาย หรือขายข้าวให้กับนายไชยา รวมไปถึงยังไม่มีการยกเลิกคำสั่งที่ 146/2551 ซึ่งเป็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการข้าวครบวงจร ลงนามโดยนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยความตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2538 มาตรา 11(1) และ (6)

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นโยบายระบายข้าวในขณะนี้ "มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนและไม่เป็นไปตามวิธีปฏิบัติที่ราชการเคยกระทำมา" กล่าวคือ ไม่มีการแจ้งสมาคม ผู้ส่งออกข้าวไทย แต่กลับใช้วิธีติดต่อไปยัง ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของประเทศคือ บริษัท เอเชีย โกลเด้นท์ไรซ์ จำกัด โดยแจ้งว่ากระทรวงพาณิชย์จะเปิดระบายข้าว สต๊อกของรัฐบาลให้บริษัท ให้บริษัทเสนอราคาพร้อมปริมาณที่จะซื้อได้ที่องค์การคลังสินค้า (อคส.)

โดยมีเงื่อนไขว่า จะขายให้หากราคาเสนอซื้อเหมาะสม หรือบริษัทต้องให้ราคาที่ "ไม่ต่ำกว่า" ราคาข้าวที่รัฐกำหนดและต้องซื้อเพื่อส่งออกเท่านั้น โดยให้ซื้อข้าวเก่าผสมข้าวใหม่ในสัดส่วน 1 ต่อ 1 เท่ากับว่า ผู้ส่งออกต้องซื้อข้าวในราคาเฉลี่ย 11,000-15,000 บาท/ตัน ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับราคาซื้อขายข้าวกันในตลาดปกติ ผู้ส่งออกจึงไม่สนใจซื้อ เพราะข้าวของรัฐบาลเป็นข้าวเก่ายากกับการควบคุมคุณภาพ

ทั้งนี้แหล่งข่าวได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นที่ 1)การประกาศขายข้าวของนายไชยา ครั้งนี้ ไม่มีประกาศเงื่อนไข TOR ไม่มีการกำหนดเวลายื่นซองหรือเวลาการเปิดซอง ไม่มีเงื่อนไขหลักเกณฑ์ประกาศเป็น ลายลักษณ์อักษรให้สาธารณชนทราบ แม้ว่าการปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับการขายข้าวบางอย่างถือเป็นผลดี เพราะเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองและไม่ทำให้ราคาข้าวในตลาดตก แต่กลับมีการ "ปล่อยข่าว" การระบายข้าวแบบรายวัน กลายเป็นการทุบราคาข้าว ทำให้ผู้ซื้อชะลอการซื้อ เพราะรู้ว่าไทยอยากระบายสต๊อกข้าวที่มีอยู่เต็มที่

ประเด็นที่ 2)สาเหตุการเร่งระบายข้าวที่นายไชยาอ้างว่าต้องการเตรียมงบประมาณและเคลียร์โกดังไว้สำหรับข้าวนาปีฤดูกาลใหม่ที่จะออกมา 23 ล้านตันข้าวเปลือกใช้เงินนับแสนล้านบาทนั้น ในความเป็นจริงแล้วการระบายข้าวโดยเฉพาะ "วิธีการประมูล" ที่ผ่านมารัฐบาลจะเปิดให้ยื่นซองและเรียกเก็บค้ำประกัน โดยให้ทยอยชำระเงินค่าข้าวเป็นลอตๆ ก่อนทยอยรับมอบข้าวออกทีละลอต อย่างกรณีบางบริษัทที่ซื้อในปริมาณมากๆ เคยมีการให้เวลาขนย้ายข้าว 270 วัน และยังให้เงื่อนไขพิเศษขยายเวลารับมอบได้อีก ไม่ใช่ขายแล้วข้าวจะต้องออกไปจากโกดังรัฐบาลทันที ถึงแม้ว่าครั้งนี้รัฐบาลจะระบายเฉพาะข้าวเก่า 2.1 ล้านตันให้ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่มีกำลังการผลิตสูงสุด 1.3 ล้านตันต่อปี ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 เดือนหรือถึงปี เพราะแต่ละรายต้องหาออร์เดอร์ด้วย

ประเด็นที่ 3 นายไชยาระบุว่า หาก ผู้ส่งออกข้าวรายหนึ่งรายใดเสนอราคาซื้อให้เงื่อนไขที่ดีก็พร้อมที่จะขาย "ยกลอต" ให้ เพราะไม่ใช่เรื่องเสียหายหากรัฐบาลขายข้าวได้ราคา ในประเด็นนี้แหล่งข่าวให้ความเห็นว่า นายไชยาไม่มีเงื่อนไขใดๆ รองรับว่าจะทำอย่างไรหากเกิดเหตุการณ์กรณีของบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัดในอดีต ที่ซื้อข้าวทั้งหมดในสต๊อกคนเดียว แต่ภายหลังกลับไม่สามารถส่งออกข้าวได้ สร้างความเสียหายให้กับรัฐบาล และเป็นคดีความฟ้องร้องกันอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ใครจะรับผิดชอบกับการตัดสินใจแบบนี้ แถมยังเป็นการผูกขาดการค้าข้าวให้กับผู้ส่งออกเพียงรายเดียวอีกด้วย

"การที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายขายข้าวถูก แต่ตั้งราคารับจำนำข้าวนาปีไว้ 14,000 บาท/ตัน ซึ่งสูงกว่าราคาตลาด จะกลายเป็นกับดักของตัวเองในที่สุด เพราะข้าวทั้งหมดจะไหลเข้าโครงการรับจำนำ ผู้ส่งออกข้าวคงไม่สามารถเข้ามาซื้อข้าวแข่งกับรัฐบาลได้ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเสียงบประมาณจำนวน มากในการรับจำนำ ท้ายที่สุดยังต้องมาขายข้าวขาดทุนอีก" แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายสมพงษ์ กิตติเรียงลาภ ประธาน บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 และเป็นญาติกับนายไชยา กล่าวว่า บริษัทไม่ได้รับการติดต่อและถึงติดต่อมาก็คง "ปฏิเสธ" ที่จะซื้อข้าวจำนวนนี้เช่นเดียวกัน เพราะปริมาณข้าวที่ซื้อขายในตลาดมีมากกว่าราคาถูกกว่า และที่สำคัญรัฐบาลยังไม่ได้กำหนดเกณฑ์การระบายชัดเจน หากซื้อไปก็คงไม่สามารถหาออร์เดอร์ต่างประเทศได้ทัน เพราะเงื่อนไขในเรื่องของระยะเวลาที่จะระบายและส่งมอบทำให้ไม่สามารถติดต่อลูกค้าต่างประเทศได้ อีกทั้งขณะนี้ออร์เดอร์ส่งออกที่เหลือในช่วงไตรมาสสุดท้ายเหลือเพียงเดือนละ 10,000 ตันเท่านั้น

"หากรัฐบาลขายข้าวเก่าและใหม่ 1 : 1 เท่ากับข้าวเก่า 11,000 บาท (ต้นทุน 7-8 พันบาท) และข้าวใหม่ 23,000 บาท (จากข้าวเปลือก 14,000 บาท) เฉลี่ย 2 ส่วนออกมาเท่ากับซื้อ 17,000 บาท/ตัน ต้องบวกค่าปรับปรุงและขนส่งอีกตันละ 1,500 บาท รวม 18,500 บาทเป็นต้นทุน เมื่อคำนวณเป็นราคาส่งออกอัตราแลกเปลี่ยน 34 บาท จะได้ราคา 544 เหรียญสหรัฐ/ตัน แพงกว่าข้าวเวียดนามอีก เขาขายแค่ 500 เหรียญสหรัฐ/ตัน ยังไม่มีใครซื้อ ส่วนราคาข้าวสดในตลาดซื้อกันอยู่ที่ 20,000-23,000 นี่เป็นราคาส่งถึงที่ด้วย ผมคงไม่ไปซื้อหรอก ซื้อแล้วก็ไม่สบายใจเปล่าๆ" นายสมพงษ์ระบุ

ที่มา ประชาชาติธุูรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.