นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสาร ที่ตนเป็นประธาน จะเป็นผู้พิจารณาการประมูลข้าวสารในสต็อกรัฐบาลจำนวน 3.1 ล้านตัน ซึ่งในการพิจารณาจะมีตัวแทนจากกระทรวงการคลัง เข้าร่วมพิจารณาราคาที่เอกชนเสนอราคาซื้อข้าวด้วย โดยยืนยันถึงความโปร่งใส เพราะได้เปิดให้เอกชนทุกรายที่สนใจซื้อข้าวยื่นซอง และคณะอนุกรรมการจะพิจารณาขายให้กับเอกชนที่เสนอราคาดีสุด
"เราเปิดให้เอกชนทุกรายเข้ามาเสนอซื้อข้าว ใครเสนอราคาดีก็ได้ข้าวไป ส่วนจะยอมขายในราคาขาดทุนหรือไม่ โดยเฉพาะสต็อกข้าวนาปรังที่มีต้นทุนจำนำสูงนั้น ยังตอบไม่ได้ ต้องหารือกับคณะอนุกรรมการก่อน แต่ความตั้งใจ คือ ต้องการระบายข้าวเก่า 2.1 ล้านตัน ซึ่งรัฐบาลได้กำไรแน่นอน เพราะมีต้นทุนจำนำต่ำ" นายไชยากล่าว
นางสาวณัฐฐิรา ลิ่ววรุณพันธ์ รองผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวว่า ทาง อคส.จะรวบรวมผลการยื่นซองเสนอซื้อข้าวสต็อกรัฐบาลจำนวน 3.1 ล้านตัน ให้ทางคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสารพิจารณา เบื้องต้นมีเอกชนที่สนใจยื่นซองเข้ามาเสนอซื้อสต็อกข้าวขาว ที่กำหนดให้ส่งออกอย่างเดียว จำนวน 15 ราย และอีก 21 ราย ยื่นซองเสนอซื้อสต็อกข้าวหอมมะลิ ที่กำหนดให้ทั้งส่งออกและขายในประเทศ ซึ่งจะไม่มีการเปิดซองเสนอราคาแต่อย่างใด เพราะต้องรอคณะอนุกรรมการเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า บรรยากาศการเปิดรับซองประมูลข้าวสต็อกรัฐบาล 3.1 ล้านตันว่า เป็นไปด้วยความคึกคัก โดยมีกลุ่มผู้ส่งออกข้าว และโรงสียื่นซองประกวดราคาและหลักฐานถึง 36 ราย แยกเป็นการประมูลข้าวขาวเพื่อการส่งออกต่างประเทศเพียงอย่างเดียว 15 ราย และประมูลข้าวหอมมะลิเพื่อจำหน่ายในประเทศและหรือส่งออกต่างประเทศ 21 ราย โดยผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ได้แก่ บริษัทนครหลวงค้าข้าว บริษัทเอเชีย โกลเดนท์ไรซ์ บริษัทพงษ์ลาภ บริษัทไชยพร และบริษัทซีพี อินเตอร์เทรด รวมทั้งบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ซึ่งผู้ส่งออกข้าวรายใหม่ ที่เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ล้มเลิกบริษัทไป โดยไม่มารับมอบข้าวที่ชนะประมูลจากรัฐ และถูกกรมการค้าต่างประเทศ แจ้งความการยักยอกข้าวรัฐ จากการปรับปรุงคุณภาพข้าวส่งออกประเทศอิหร่าน ทั้งสองกรณีทำให้บริษัทเพรซิเดนท์ไม่สามารถเข้าร่วมการซื้อขายข้าวกับรัฐได้อีก
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวว่า ขณะนี้ วงการค้าข้าวต่างตั้งข้อสังเกตวิธีการประมูลข้าวที่เปลี่ยนแปลงไปในครั้งนี้ ที่อาจเกิดความไม่โปร่งใสขึ้นได้ เพราะเดิมทีการประมูลจะให้เอกชนเข้ามายื่นซองและเปิดซองเสนอราคา และเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้ทุกฝ่ายได้รับทราบ เพื่อความโปร่งใส หลังจากนั้น ทางคณะกรรมการพิจารณาจำหน่ายข้าวสาร จะเป็นผู้เรียกผู้เสนอราคาสูงสุด 5 อันดับแรก มาต่อรองราคา แต่ครั้งนี้กลับไม่มีการเปิดซอง แต่อำนาจทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการแต่เพียงอย่างเดียว
"มีการพูดกันไปถึงว่า การอนุมัติขายข้าวของคณะอนุกรรมการจะโปร่งใสและเป็นธรรมกับเอกชน ที่เสนอซื้อทุกรายได้อย่างไร เมื่อไม่มีการเปิดเผยข้อมูล อาทิเช่น หากอนุมัติขายข้าวให้ผู้ส่งออก ก. เพียงรายเดียว ก็ไม่มีทางรู้ว่าราคาที่ผู้ส่งออก ก. เสนอซื้อสูงสุดจริงหรือไม่ หรือมีเงื่อนไขพิเศษอะไรแลกกันหรือไม่"
แหล่งข่าวจากผู้เข้าร่วมประมูล กล่าวว่า รัฐบาลน่าจะระบายสต็อกข้าวได้เฉพาะข้าวเก่า 2.1 ล้านตัน ซึ่งมีต้นทุนรับจำนำต่ำ ส่วนสต็อกข้าวนาปรังที่นำมาระบาย 1 ล้านตัน รัฐบาลอาจไม่อนุมัติขาย เพราะส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะเสนอราคาใกล้เคียงกับราคาตลาด ขณะที่ต้นทุนข้าวนาปรังอยู่ที่ตันละ 1.38 หมื่นบาท หรือมีต้นทุนตกอยู่ที่ กก.ละ 24 บาท ซึ่งรัฐบาลจะขาดทุนทันที กก.ละ 8 บาท จากราคาตลาดตกอยู่ที่ กก.ละ 16 บาท
"การประมูลครั้งนี้ เป็นการแย่งซื้อสต็อกข้าวเก่า 2.1 ล้านตันมากกว่า คาดว่าผู้ส่งออก 6 รายใหญ่ของประเทศเท่านั้นที่มีสิทธิคว้าประมูล ราคาที่รัฐบาลจะอนุมัติขายน่าจะประมาณตันละ 1.5-1.6 หมื่นบาท ส่วนข้าวหอมมะลิ ที่ให้มีการซื้อขายในประเทศ จะเป็นกลุ่มของโรงสีที่เข้ามาเสนอราคาแต่ต้องจับตาข้าวขาวว่าจะมีการอนุมัติให้รายใหญ่เพียงรายเดียวหรือไม่ ที่รัฐบาลอาจแลกด้วยเงื่อนไขพิเศษ" แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|