นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ชาวนาจะขายได้ตลอดทั้งปีนี้จะไม่ต่ำกว่า 1.2-1.4 หมื่นบาทต่อตันแน่นอน เพราะขณะนี้ต่างประเทศมีความต้องการข้าวเป็นอย่างมาก และที่ผ่านมามีหลายประเทศติดต่อขอซื้อข้าวจากไทยเป็นจำนวนมาก โดยออเดอร์ดังกล่าวมีปริมาณมากกว่าข้าวนาปรังที่ไทยจะผลิตได้ในปีนี้ หรือเรียกได้ว่ามีข้าวเท่าไรก็ไม่พอให้ขายด้วยซ้ำ
“ผมมั่นใจว่าราคาข้าวเปลือกเจ้าจะอยู่ที่ 1.2-1.4 หมื่นบาทต่อตัน เพราะทั่วโลกมีความต้องการข้าวสูงมาก และมีออเดอร์สั่งซื้อข้าวจากไทยจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้รวบรวมตัวเลขว่ามีจำนวนเท่าไร แต่อาจมีออเดอร์มากกว่าข้าวนาปรังที่ไทยจะผลิตได้ถึง 2 เท่า หรือมากกว่า 8 ล้านตันก็ได้ ดังนั้น ชาวนาไม่ต้องกลัวว่าราคาข้าวจะตกลงกว่าราคานี้ ถ้ามีใครให้ราคาต่ำกว่านี้ก็อย่าขาย เพราะยังมีคนอื่นอยากแย่งซื้อข้าวอีกมาก” นายมิ่งขวัญกล่าว
นอกจากนี้ มีบริษัทจากต่างประเทศหลายบริษัท ได้มีการติดต่อขอซื้อข้าวจากโรงสีไทยโดยตรง เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าต่างประเทศยังต้องการซื้อข้าวจากไทยอีกเป็นจำนวนมาก โดยรัฐบาลจะให้เอกชนส่งออกข้าวขายต่างประเทศตามกลไกตลาด ยังไม่มีแนวคิดที่รัฐจะเข้ามาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ แต่นโยบายนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้หากสถานการณ์เปลี่ยนไป
ส่วนกรณีที่ชาวนาขายข้าวเปลือกได้เพียง 6,000 บาทต่อตันนั้น นายมิ่งขวัญ ระบุว่า ข้าวดังกล่าวไม่ใช่ข้าวเปลือกเจ้า แต่เป็นข้าวเหนียว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สร้างความสับสนเกี่ยวกับราคาข้าว ยืนยันว่าข้าวถุงธงฟ้าที่จะออกสู่ตลาด เป็นเพียงการแทรกแซงราคาข้าวในประเทศเท่านั้น ไม่มีผลต่อราคาข้าวที่ส่งออก ส่วนราคาข้าวเปลือกที่ตกลงมานั้น สาเหตุหลักมาจากการกดราคาของพ่อค้าคนกลาง และบางส่วนเกิดจากปัญหาความชื้น
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้เชิญสมาคมชาวนาไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย ผู้ส่งออก และตัวแทนธนาคารพาณิชย์มาหารือ เพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ได้รับการร้องเรียนว่า โรงสีไม่รับซื้อข้าว หรือกดราคารับซื้อข้าวจากเกษตรกร โดยได้รับการชี้แจงจากทางโรงสีว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเพราะโรงสีขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินซื้อข้าวจากเกษตรกร และโรงสีบางแห่งสต็อกเต็ม ไม่สามารถรับซื้อข้าวเพิ่มเติมได้อีก เนื่องจากผู้ส่งออกไม่ซื้อข้าว ทำให้ระบายข้าวได้ไม่ทัน
ส่วนผู้ส่งออกให้ข้อมูลว่า ออเดอร์หรือคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศชะลอตัวลง ทำให้ผู้ส่งออกต้องชะลอการรับซื้อข้าวจากโรงสี และผู้ส่งออกเองก็มีการสต็อกข้าวไว้เป็นจำนวนมาก
นายยรรยง กล่าวว่า กรมได้แก้ปัญหา โดยขอให้ธนาคารพิจารณาปล่อยกู้ให้กับโรงสีเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งธนาคารรับจะพิจารณาให้เป็นกรณีเร่งด่วน ซึ่งโรงสียืนยันว่า หากมีสภาพคล่อง ก็พร้อมที่จะซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาตลาด โดยไม่กดราคาอย่างแน่นอน โดยราคาข้าวเปลือก 5% ขณะนี้ อยู่ที่ตันละ 1.35-1.4 หมื่นบาท ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 1.8 หมื่นบาท
ส่วนกรณีที่บางจังหวัดที่ชาวนาถูกกดราคารับซื้อ โดยอ้างว่าข้าวมีความชื้นนั้น ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว รวมทั้งได้มีการประสานให้โรงสีในจังหวัดใกล้เคียงเข้าไปรับซื้อแล้ว คาดว่าภายหลังแก้ปัญหาสภาพคล่องโรงสีได้ การรับซื้อข้าวจะกลับมาปกติอีกครั้ง
โรงสีจี้รัฐจำนำประกันราคาข้าว
นายวัฒนา รัตนวงศ์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องหาวิธีมารองรับปัญหาราคาข้าวที่ผันผวน เพราะข้าวมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงจากราคาในปัจจุบันที่ตันละ 1.2-1.3 หมื่นบาท หากราคาข้าวหลุดจากระดับราคานี้ไป ภาครัฐควรใช้วิธีประกันราคาข้าว เพื่อช่วยเหลือชาวนาไม่ให้ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่ตกต่ำ ซึ่งอาจจะเป็นการรับจำนำหรือกำหนดเพดานราคาขึ้นมาก็ได้
นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรประกาศรับจำนำข้าวนาปรังในราคา 1.5 หมื่นบาทต่อตัน โดยดำเนินการพร้อมกับข้าวถุงธงฟ้ามหาชน ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวในตลาดไม่ลดลง ทั้งนี้ โครงการข้าวถุงธงฟ้ามหาชนของรัฐบาล ต้องการให้ราคาต่ำกว่าตลาด 20% แต่ราคาข้าวเปลือกยังราคาสูงอยู่ จึงต้องมีนโยบายด้านข้าวเปลือกมาถ่วงดุลไว้ ไม่ให้ราคาตกต่ำตามข้าวสาร หากราคาข้าวเปลือกในตลาดไม่ตก จะทำให้ไม่มีข้าวเข้าโครงการรับจำนำ รัฐบาลก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพียงแต่การรับจำนำจะใช้เป็นเครื่องมือประกันราคาไว้ ไม่ให้ข้าวเปลือกของเกษตรกรตกต่ำ
ชาวนาชี้มิ่งขวัญตัวการทุบราคา
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำในขณะนี้ เป็นผลจากความไม่ชัดเจนของคำพูดของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่ประกาศจะนำข้าวในสต็อกรัฐบาลมาทำข้าวถุงธงฟ้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาด 20% ส่งผลให้ผู้ส่งออก และโรงสีต่างชะลอการซื้อข้าว เพื่อรอให้ข้าวราคาถูกออกมา ซึ่งจะกดราคาข้าวในตลาดให้ลดลง แล้ว จึงไปซื้อตอนที่ราคาข้าวลดลง
"การที่รัฐมนตรีบอก 20% มันทำให้ทุกคนคิดว่า ราคาข้าวจะต้องลงมาอีก 20% ก็รอให้ราคามันลง แล้วค่อยไปซื้อ โรงสีก็ไม่ซื้อ ผู้ส่งออกก็ไม่ซื้อ ใครมันจะซื้อข้าวแพงแล้วขายถูก คนเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ จะพูดอะไรให้คิดก่อนทำ ไม่ใช่ทำโดยไม่คิด คำพูดมีผลต่อตลาด อยากจะทำข้าวถุงราคาถูกก็ทำไป ช่วยเหลือประชาชน แต่อย่าเล่นกับราคา ก่อนหน้านี้ ก็เคยประกาศให้ชาวนาอย่าขายข้าวเปลือก ให้รอราคา 3 หมื่นบาท พูดแล้ว ก็พูดไม่ชัด ข้าวอะไร ข้าวเปลือก ข้าวสาร ชาวนาก็รอ สุดท้ายก็บอกให้ขาย" นายประสิทธิ์กล่าว
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ กระทรวงพาณิชย์จะต้องเร่งหาวิธีแก้ไขปัญหา ที่จะทำให้เพดานราคาข้าวเปลือกไม่ต่ำไปกว่า 1.5 หมื่นบาท/ตัน ทั้งนี้ ราคาดังกล่าวหากหักค่าชื้น จะอยู่ที่ประมาณตันละ 1.2-1.3 หมื่นบาท เป็นระดับราคาที่เกษตรกรพอใจ เพราะต้นทุนการปลูกข้าวนาปรังในปัจจุบันสูงขึ้นมาอยู่ที่กว่า 5.6 พันบาทต่อไร่ จากปีก่อนต้นทุนการปลูกข้าวกว่า 4 พันบาทต่อไร่
เคาะข้าวถุงธงฟ้าราคา 120 บาท
นายธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารข้าวสารบรรจุถุง กล่าวว่า ในวันที่ 12 พ.ค.นี้ จะมีการนำข้าวถุงธงฟ้ามหาชนเป็นข้าวขาว 5% บรรจุถุงละ 5 กิโลกรัม จำหน่ายราคา 120 บาท จำนวน 1 แสนถุง โดยมีจำหน่ายใน 9 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี สงขลา ลพบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ จังหวัดละ 3 พันถุง รวม 2.7 หมื่นถุง และจำหน่ายในกรุงเทพฯ 7.3 หมื่นถุง มีจำหน่ายที่กระทรวงพาณิชย์ คลังสินค้าราษฎรบูรณะขององค์การคลังสินค้า (อคส.) กรมส่งเสริมการส่งออก และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)
เงื่อนไขในการจำหน่ายใน 9 จังหวัด มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้กำหนดเงื่อนไขในการซื้อของประชาชนเอง ส่วนในกรุงเทพฯ จะกำหนดเงื่อนไขให้ประชาชนซื้อได้ไม่เกินคนละ 3 ถุง เนื่องจากข้าวมีจำนวนจำกัด
"คาดว่าในเบื้องต้น ข้าวถุงธงฟ้ามหาชน คงจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่กำลังจะเพิ่มการผลิตอีก 2 แสนถุง คาดว่าในเดือนมิ.ย.น่าจะผลิตออกมาตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดีขึ้น โดยกำลังจะพิจารณาให้เอกชนเข้ามาช่วยนำข้าวไปบรรจุถุง เพราะลำพังการผลิตของอคส. เอง คงจะไม่เพียงพอต่อความต้องการแน่" นายธงทองกล่าว
ยันราคา 120 บาทไม่บิดเบือนตลาด
ส่วนราคาข้าวที่กำหนดไว้ถุงละ 120 บาทนั้น เป็นราคาที่ไม่ได้ทำให้กลไกการขายข้าวถุงของภาคเอกชนบิดเบือนมากนัก โดยราคาข้าวขาว 5% ขณะนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ถุงละ 150-160 บาท อคส.กำหนดออกมา 120 บาท ก็คำนึงถึงต้นทุนการซื้อข้าว ต้นทุนการบริหารจัดการที่ผ่านมา และราคาข้าวในตลาดปัจจุบัน ซึ่งราคาดังกล่าว ทำให้อคส.มีกำไรพอสมควร
ทั้งนี้ ต้นทุนข้าวถุงอยู่ที่ 83.34 บาท/ข้าว 1 ถุง โดยยืนยันว่ากำไรที่ได้จากการขายข้าวถุงในครั้งนี้ จะนำกลับไปซื้อข้าวจากเกษตรกรคืนสต็อกรัฐบาลต่อไป ซึ่งการประชุมครั้งต่อไปจะมีการพิจารณารายละเอียดในเรื่องนี้
"เรากำหนดราคาข้าวถุงที่ 120 บาท โดยดูต้นทุนต่างๆ แล้วจึงกำหนดออกมา ราคาต้องไม่ถูกมาก จนทำให้ตลาดข้าวถุงที่มีอยู่เดิมลำบาก เพราะเราทำเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งราคาล็อตต่อไป บอกไม่ได้ว่า จะยืนราคา 120 บาทอีกหรือไม่" นายธงทองกล่าว
ส.ว.อัดรัฐทำข้าวถุงทุบกลไกตลาด
นายบรรชา พงศ์อายุกูล ส.ว.พิจิตร ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการ (กมธ.) เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันนี้ (8 พ.ค.) กมธ.การเกษตรฯ จะประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงาน โดยจะมีการเสนอให้ที่ประชุมแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาปัญหาอุปสรรค แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตร ทั้งข้าว พืชไร่ พืชสวน
นายบรรชา กล่าวว่า ราคาข้าวที่เริ่มปรับตัวลดลงในขณะนี้ เป็นเพราะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ตั้งราคาต่ำ ทำให้ผู้ส่งออกรับซื้อข้าวจากโรงสีในราคาที่ลดลง ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องนำความจริงมาบอกเกษตรกรได้แล้ว ว่า จะมีโครงการรับประกันราคา หรือจะยกเลิกการรับประกันราคา เพราะหากรัฐบาลต้องการให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพ ก็ต้องมีโครงการรับประกันราคาออกมา
นายบรรชา กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลจะนำข้าวในสต็อกจำนวน 2.1 ล้านตัน มาบรรจุถุงขายราคาถูกให้กับประชาชน จะทำให้กลไกการค้าข้าวผิดปกติ เพราะตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนดไว้ เมื่อมีการนำข้าวเก่าในสต็อกของอคส.ออกมาขายแล้ว รัฐบาลก็จะซื้อข้าวใหม่ในตลาดกลับเข้าไปเพื่อรักษาสต็อกเอาไว้ ซึ่งประเด็นนี้ต้องถามว่า ผู้ส่งออกและโรงสีสามารถขายข้าวให้รัฐบาลได้หรือไม่ เพราะถ้าราคาสั่งซื้อจากต่างประเทศต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลรับซื้อ ผู้ส่งออกก็จะขายให้กับรัฐบาลแทน หรือราคาที่ผู้ส่งออกซื้อจากโรงสีต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลรับซื้อ โรงสีก็จะขายให้กับรัฐบาล ทำให้เกิดการบิดเบือน ดังนั้น รัฐบาลจึงควรปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก แล้วหันมาช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องราคาปุ๋ย และเครื่องจักรทางการเกษตรแพงมากกว่า
ชาวนากาฬสินธุ์ปิดถนนประท้วง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (7 พ.ค.) มีชาวนากาฬสินธุ์กว่า 100 คน นำโดยนายสำรอง โพธิ์ซก ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตยคนอีสาน ทำการปิดถนน บริเวณหน้าตลาดแตงโม ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด โดยใช้เต็นท์และรถขวางเส้นทางการจราจรสายอำเภอยางตลาด-กาฬสินธุ์ ส่งผลให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก พร้อมกันนี้ ชาวนายังได้เทข้าวเปลือกลงพื้นถนน มีเป้าหมายเพื่อประจานโรงสีที่กดราคาข้าวเปลือก และเขียนป้ายโจมตีโรงสี รวมถึงการทำงานของการค้าภายในจังหวัด และมีข้อความเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
นายสำรอง กล่าวว่า พฤติกรรมการรับซื้อข้าวเปลือกของโรงสีใหญ่ และตลาดกลาง มีพฤติกรรมในการฮั้วราคาอย่างแน่นอน จึงต้องการให้กรมการค้าภายในเข้าตรวจสอบ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และให้มีการประกันราคาข้าวเปลือกเหนียวนาปรังในราคาตันละ 9,000 บาท
นายพงษ์ศักดิ์ นาคประดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เจรจากับกลุ่มผู้ประท้วง พร้อมกับกล่าวว่า ได้รับการยืนยันจากกระทรวงพาณิชย์ ว่า จะส่งผู้บริหารระดับรองอธิบดีกรมการค้าภายใน มารับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนการเอาผิดกับโรงสีที่กดราคานั้น ทางจังหวัดจะดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวน หากพบว่ามีพฤติกรรมฮั้วราคาข้าวเปลือกจริง ก็จะต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย"
เชียงรายรวมตัวร้องผู้ว่าฯ ช่วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงราย มีกลุ่มชาวบ้านจากพื้นที่ ต.เมืองชุม ต.เวียงชัย และ ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย จำนวนกว่า 100 คน นำเครื่องขยายเสียง พร้อมชูป้ายเรียกร้องให้นายไตรสิทธิ์ สินสมบูรณ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หาวิธีช่วยเหลือในการพยุงราคาข้าวเปลือกนาปรัง หลังจากราคาที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
นายรักเกียรติ จับใจนาย เกษตรกร ต.เมืองชุม หนึ่งในแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม กล่าวว่า ขณะนี้ เป็นช่วงที่จะเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังออกขาย แต่ปรากฏว่าราคาข้าวที่ทางพ่อค้าคนกลางในพื้นที่ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4-5 ราย ซื้อจากเกษตรกรลดลงอย่างมาก โดยข้าวเหนียวราคาเหลือเพียงกิโลกรัมละ 6.5 บาท หรือประมาณตันละ 6,500 บาท ส่วนข้าวเจ้าเพียงกิโลกรัมละ 10 บาท หรือตันละ 10,000 บาทเท่านั้น ซึ่งลดลงจากการเก็บเกี่ยวในการปลูกที่ผ่านมาถึงตันละ 2,000 บาท จากก่อนหน้านี้ ข้าวเจ้าราคาตันละ 12,000 บาท และข้าวเหนียวตันละ 8,500 บาท
นายบัญญัติ ทองดีนอก เกษตรกร ต.เวียงชัย กล่าวว่า กลุ่มพ่อค้าคนกลางได้ใช้ทุกวิถีทางที่จะกดราคาจากชาวนา ทั้งการอ้างคุณภาพข้าวและความชื้นของข้าว โดยเงื่อนไขทั้งหมดกลุ่มพ่อค้ากำหนดกันเอง นอกจากนี้ ยังพบว่าพ่อค้าคนกลางทั้งหมดเป็นเครือญาติเดียวกัน
นายชนะ นาคสุริยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวชี้แจงกับผู้ชุมนุม ว่า การที่เกษตรกรจะให้จังหวัดประกันราคาข้าวเหนียวเกี่ยวสดกิโลกรัมละ 7,000-8,000 บาทนั้น ทางจังหวัดไม่สามารถทำได้ แต่จะส่งตัวแทนจำนวน 3 คน เข้าร่วมคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) ระดับจังหวัด เพื่อหาทางออกร่วมกัน ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |