รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้ (8 ก.ย.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้มอบหมายให้นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานเรียกประชุมคณะกรรมการแทน โดยจะมีการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาการปลดบัญชีดำหรือแบล็คลิสต์โรงสีข้าวที่ผิดสัญญากับองค์การคลังสินค้า (อคส.) ให้สามารถเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวนาปี ที่กำลังออกสู่ตลาด ช่วงพ.ย.-ธ.ค.นี้ และร่วมโครงการรับจำนำข้าวตามมติคณะกรรมการอำนวยการจัดการข้าวครบวงจร ที่เห็นชอบให้เพิ่มรับจำนำข้าวอีก 1 ล้านตันข้าวเปลือก เป็น 3.5 ล้านตัน จากเดิมโครงการกำหนดเป้าหมาย 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก
นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ปฏิบัติในการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาล 2.1 ล้านตัน ด้วยวิธีการเจรจารัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และการอนุมัติวงเงินให้ทีมเจ้าหน้าที่เดินทางไปเจรจาขายข้าวในต่างประเทศ
ทั้งนี้ การประชุมกขช. เดิมกำหนดวันที่ 10 ก.ย. แต่ได้เลื่อนมาประชุมให้เร็วขึ้นเป็นวันที่ 8 ก.ย.นี้ ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานแทน
นอกจากนี้ ที่ประชุมจะมีการพิจารณาวางกรอบแนวทางการรับจำนำข้าวนาปี โดยจะต้องนำองค์ประกอบ ทั้งด้านสถานการณ์ตลาดข้าวปัจจุบัน ความต้องการตลาด ซึ่งประเด็นหลักที่จะคำนึงถึง คือ รัฐจะดำเนินการอย่างไร ในการดูแลราคาข้าวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะข้าวที่จะออกมาในฤดูกาลใหม่ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาข้าวตกลงได้ อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นหลายฝ่ายยอมรับว่าวิธีการรับจำนำข้าว เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะดูแลราคาข้าวในขณะนี้
แหล่งข่าวในวงการค้าข้าว ระบุว่า การเพิ่มปริมาณรับจำนำข้าวปรังจาก 2.5 ล้านตันเป็น 3.5 ล้านตัน นั้นไม่น่าจะถึงมือชาวนา เนื่องจากข้าวนาปรังในมือชาวนา แม้จะมีปริมาณมากกว่าปกติในปีนี้ แต่ขายออกไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้น กลุ่มโรงสีที่รับข้าวไว้น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า โดยนำข้าวที่เก็บไว้เข้าสวมโครงการรับจำนำซึ่งสูงกว่าราคาตลาดมาก น่าจะเป็นนโยบายที่หาทางช่วยเหลือโรงสีที่เก็บสต็อกข้าวไว้มากกว่าการช่วยเหลือชาวนา
ก่อนหน้านี้ นายไชยา ระบุว่า ต้องการให้กขช.พิจารณานโยบายรับจำนำข้าวนาปีที่จะเข้าสู่ตลาดในเดือนพ.ย. โดยเห็นว่าราคารับจำนำไม่ควรต่ำกว่า 1.4 หมื่นบาทสำหรับข้าวขาว ซึ่งเป็นราคาเดียวกับราคารับจำนำข้าวนาปรัง
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ เตรียมจัดงานประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวเหนียว ครั้งที่ 2 ในเดือนธ.ค.นี้ ซึ่งจะสัญจรไปจัดในภาคใต้จากเดิมที่จัดในภาคกลาง เพื่อรณรงค์การบริโภคข้าวเหนียวออกไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคใต้ที่ยังมีการบริโภคน้อยกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการช่วยพยุงราคาข้าวเหนียวให้มีเสถียรภาพ และมีการบริโภคสม่ำเสมอมากขึ้น รวมทั้งต้องการผลักดันการบริโภคข้าวเหนียวไปยังนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินเข้ามาในไทยด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |