นายสมพงษ์ กิตติเรียงลาภ ประธานกรรมการ บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ชนะการประมูลข้าวจากสต๊อกรัฐบาลสูงสุดในครั้งนี้ ที่ปริมาณ 334,000 ตัน กล่าวว่า หลังจากการประมูลข้าวสต๊อกรัฐบาลทั้ง 2 ครั้ง ทางบริษัทจะมีสต๊อกข้าวรวม 453,000 ตัน แบ่งเป็นข้าวจากการประมูลลอตแรก 119,000 ตัน กับลอตที่สอง 334,000 ตัน (ข้าวขาว 5% และ 25%) แต่ยอมรับว่ายังไม่มีออร์เดอร์จาก ต่างประเทศรองรับ เพราะช่วงปลายปีคาดว่าบริษัทจะส่งออกข้าวได้เพียง 10,000 ตันเท่านั้น จึงจำเป็นต้องเก็บสต๊อกข้าวดังกล่าวไว้และจะยังไม่ซื้อข้าวจากท้องตลาดเพิ่ม แต่สาเหตุที่ตัดสินใจซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาลช่วงที่มีความเสี่ยงสูง ก็เพื่อรอจังหวะราคาก่อนที่จะส่งออกในช่วงต้นปี 2552 ไปยังตลาดแอฟริกา ซึ่งนิยมซื้อข้าวขาวคุณภาพดี จากไทย
"ตอนนี้ทำสัญญาข้าวลอตแรกกับ กระทรวงพาณิชย์ไปแล้ว 1 ฉบับ และจะต้องมารับมอบข้าวแบบขั้นบันไดทุกเดือน อาจจะเริ่มจากเดือนแรก 20,000 ตัน และทยอยรับเพิ่มขึ้นจนครบกำหนดภายใน 6 เดือน ตามเงื่อนไขขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ส่วนเงินค้ำประกัน 5% ของมูลค่าข้าวที่กำหนด สามารถแยกชำระเป็นงวดตามชนิดและโกดังข้าวได้ แต่ขณะนี้ต้อง สต๊อกไว้เพื่อไม่ให้ข้าวราคาตกในช่วงข้าวนาปีเริ่มออก แต่ยังต้องติดประเมินช่วงต้นปีว่าจะมีผลผลิตข้าวจากอินเดีย ปากีสถาน พม่า และกัมพูชา ออกมามากหรือไม่"
อย่างไรก็ตาม รู้สึกเป็นห่วงตลาดข้าว เพราะผู้นำเข้าต่างประเทศแม้ว่าจะรู้ว่าไทยเปิดระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลออกมามากถึง 2.7 ล้านตัน แต่กลับไปเจรจาซื้อข้าวจากเวียดนาม โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ซึ่งกำลังเจรจาซื้อข้าวจากเวียดนาม 660,000 ตัน เพราะราคาข้าวสดของเวียดนามต่ำกว่าไทย ส่วนต้นทุนข้าวไทยสูงกว่า เช่น ข้าว 5% ซื้อจากรัฐบาลเฉลี่ยตันละ 16,300 บาท รวมค่าปรับปรุงอีก 1,300 บาท เป็นต้นทุน 17,600 บาท หากส่งออกที่อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาท/เหรียญสหรัฐ จะมีต้นทุนเป็นราคา FOB ประมาณ 503 เหรียญสหรัฐ/ตัน สูงกว่าเวียดนามที่ตั้งราคาขายไว้เพียง 400 เหรียญสหรัฐ/ตันเศษเท่านั้น ส่วนข้าว 25% ได้ซื้อจากรัฐบาลราคา 8,300 บาท รวมค่าปรับปรุงเช่นเดียวกันก็จะเท่ากับต้นทุนที่ 9,800 บาท หรือคิดเป็นต้นทุนราคา FOB 280 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเท่ากับราคาข้าวฤดูกาลปัจจุบันของเวียดนาม
ด้านแหล่งข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่า ผลจากการที่รัฐบาลได้ระบายข้าวในสต๊อก 2 ครั้ง (1.5 และ 1.2 ล้านตัน) น่าจะทำให้สต๊อกข้าวของรัฐบาลเหลืออยู่เพียง 1.7 ล้านตัน จากเดิม 4.4 ล้านตัน แต่ตลาดซื้อขายภายในประเทศหยุดชะงักชั่วคราว เพราะผู้ส่งออกรายใหญ่ต่างได้ข้าวจากรัฐบาล เช่น บริษัทสยามอินดิก้า 601,000 ตัน รองลงมาคือ บริษัทข้าวไชยพรฯ 485,000 ตัน, บริษัทพงษ์ลาภ 453,000 ตัน, บริษัทนครหลวง 246,000 ตัน, บริษัทเอเชีย โกลเด้นท์ฯ 371,000 ตัน และบริษัท ซี.พี.ฯ 355,000 ตัน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือนในการระบายข้าวที่ยังไม่มีออร์เดอร์จากต่างประเทศขณะนี้ ดังนั้นผู้ส่งออกข้าวกลุ่มนี้อาจจะชะลอการซื้อข้าวในตลาด ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับ ข้าวนาปีที่กำลังออกสู่ตลาด ทำให้เกษตรกรต้องหันมาจำนำข้าวในโครงการรับจำนำนาปี 2551/2552 แทน
สำหรับผลการจำหน่ายข้าวครั้งนี้ ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิและข้าวหอมปทุมธานี เพื่อจำหน่ายในประเทศและ/หรือส่งออก กับข้าวขาว 5%, 10%, 15% และ 25% อนุมัติขายให้กับผู้ส่งออกหลายราย เช่น บริษัทพงษ์ลาภ 334,000 ตัน, ไชยพรไรซ์แอนด์ฟู๊ด 291,000 ตัน, เอเชียโกล เด้นท์ไรซ์ 247,000 ตัน, แคปปิตัลซีเรียลล์ (เครือนครหลวงค้าข้าว) 130,000 ตัน, เจียเม้ง 24,000 ตัน, ไทยมาพรรณ เทรดดิ้ง 4,847 ตัน และบริษัทสยามอินดิก้า รวม 26,000 ตัน มีเพียงบริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรดเท่านั้นที่ไม่ได้ข้าวในครั้งนี้ โดยราคาที่ต่อรองได้สูงขึ้นทุกชนิดรวม 1,911 ล้านบาท อาทิ ข้าว 25% ต่อรองได้ถึง 8,100-9,800 บาท จากเดิมเสนอซื้อต่ำกว่า 7,000 บาท, ข้าวปทุมธานี ต่อรองได้ 15,000-18,000 บาท ส่วนข้าวขาว 5% ต่อรองได้เป็น 15,500-18,000 บาท แม้ว่าจะเป็นราคาใกล้เคียงราคาตลาด เช่น ข้าว 5% ที่ 16,000-17,000 บาท แต่รัฐบาลยังขาดทุนจากราคาจำนำข้าว ซึ่งมีต้นทุนสูงถึงตันละ 27,000 บาท หรือขาดทุนไม่ต่ำกว่าตันละ 10,000 บาท
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|