นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภายในสัปดาห์นี้ธ.ก.ส.จะรายงานผลการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 พร้อมปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขเพื่อเป็นแนวทางรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2551/52 ทั้งนี้ปัญหาจำนำข้าวนาปรังที่ผ่านมา อาทิ จำนวนโรงสีที่เข้าร่วมโครงการไม่เพียงพอ ทั้งที่พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังมี 20 จังหวัด ขณะที่ข้าวนาปีมี 50-60 จังหวัด จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรองรับ สาเหตุที่โรงสีไม่เพียงพอเพราะมีโรงสีจำนวนหนึ่งถูกขึ้นบัญชีดำเพราะมีการทุจริต
สำหรับโรงสีที่ถูกขึ้นบัญชีดำระดับความผิดแยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มแรกตั้งใจทุจริตกลุ่มนี้ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย กลุ่มที่สองส่งมอบข้าวที่สั่งแปรไม่ครบตามจำนวน กลุ่มที่สามเหลือข้าวอยู่ในสต๊อกรัฐไม่สั่งสีและไม่จ่ายค่าเช่าให้ แนวทางแก้ไขโรงสีกลุ่มที่สองและสามสามารถเจรจายืดหยุ่นผ่อนปรนเพื่อให้มีจำนวนโรงสีเข้าโครงการรองรับข้าวนาปีให้มากได้
นอกจากนี้ต้องมีระบบการบริหารติดตามให้ชัดเจน เช่น การตรวจวัดคุณภาพข้าว ความชื้น สิ่งเจือปน การปลอมปน บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร (เซอร์เวเยอร์) มีคณะกรรมการดูแลการสั่งแปรสภาพข้าว อัตราการแปร การคำนวณค่าจ้าง การส่งมอบข้าวสาร การสวมสิทธิ์ชาวนารวมถึงราคารับจำนำที่เหมาะสมด้วย ทั้งหมดนี้ต้องกำหนดให้โปร่งใส เพื่อความคล่องตัวและเป็นประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย
นายเอ็นนูกล่าวด้วยว่าสำหรับการรับจำนำข้าวนาปี คาดว่าหน่วยงานหลักหรือเจ้าภาพโครงการจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ โดยธ.ก.ส.จะเป็นเพียงแคชเชียร์ผู้จ่ายเงินเท่านั้น และขณะนี้จำนวนเงินที่จะนำมารับจำนำข้าวเปลือกนาปีรัฐบาลต้องเป็นผู้จัดหา เพราะธ.ก.ส.ไม่มีเงินเหลือที่จะมาเป็นสินเชื่อโครงการจำนำข้าวนาปี จากเดิมคาดว่าจะมีประมาณ 40,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากรัฐบาลได้เพิ่มปริมาณจำนำข้าวนาปรังจาก 2.5 ล้านตัน เป็น 4 ล้านตัน ทำให้ต้องใช้สินเชื่อไปกับโครงการนาปรังเป็นจำนวนกว่า 50,000 ล้านบาทแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่ 295,000 ล้านบาท จะใช้สำหรับปล่อยสินเชื่อปกติ ทั้งนี้โครงการนาปีน่าจะเริ่มได้ราววันที่ 1 พฤศจิกายน เพราะต้องรอนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายรัฐบาลให้แล้วเสร็จ และตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)ทั้งยังต้องมีกระบวนการเปิดรับโรงสีข้าวร่วมโครงการอีก
ขณะที่แหล่งข่าวในวงการค้าข้าว แนะว่าปัญหาสต๊อกข้าวของรัฐบาลซึ่งขณะนี้มีสต๊อกข้าวเก่าประมาณ 2.1 ล้านตัน และสต๊อกข้าวใหม่ (ข้าวสาร)จากการจำนำข้าวนาปรัง 2.1 ล้านตัน หรือรวมแล้วประมาณ 4.2 ล้านตัน สำหรับข้าวเก่ารัฐบาลสามารถระบายตลาดในประเทศอาจจะในรูปข้าวถุง หรือขายให้กับหน่วยงานราชการ เช่นเรือนจำ โรงพยาบาล ในราคากก.ละ 15 บาท ซึ่งราคานี้รัฐบาลได้กำไรเพราะต้นทุนอยู่ที่ประมาณกก.ละ 9.50 บาท เนื่องจากข้าวเก่าหากรัฐระบายเพื่อการส่งออกแต่ในที่สุดจะมาหมุนเวียนในประเทศ เนื่องจากผู้ส่งออกจะนำมาขายให้กับผู้ค้าข้าวถุง และผู้ค้าข้าวถุงนำมาปรับปรุงขายราคาตลาดได้กำไรกันมหาศาล ส่วนสต๊อกข้าวใหม่นำมาขายรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี)
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ |