นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ นำเจ้าหน้าที่ออกสุ่มตรวจสต็อกข้าวทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อตรวจสอบปริมาณมีครบตามที่แจ้งไว้กับกรมฯ ทุกเดือนหรือไม่ ทั้งนี้กรมฯ กำหนดให้ผู้ค้าที่มีข้าวในครอบครอง ต้องแจ้งปริมาณครอบครองให้ทราบทุกวันที่ 7 ของเดือน ซึ่งผลการตรวจสอบล่าสุดพบว่ามีสต็อกข้าวทั้งรัฐและเอกชนรวมกันทั้งสิ้นปริมาณ 4.65 ล้านตัน
เป็นข้าวในสต็อกรัฐบาล 2.14 ล้านตัน และข้าวในสต็อกของเอกชน 2.51 ล้านตัน ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นข้าวในสต็อกผู้ส่งออก 8.35 แสนตัน โรงสี 1.603 ล้านตัน และท่าข้าวรวมกับร้านค้าปลีกค้าส่ง 7.2 หมื่นตัน
"กระทรวงพาณิชย์จะตรวจสอบสต็อกข้าวอย่างเข้มงวด ทั้งของรัฐและเอกชน โดยในส่วนเอกชนทั้งโรงสีและผู้ส่งออก ให้แจ้งสต็อกข้าวไม่เกินวันที่ 7 ของทุกเดือน หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 5,000-100,000 บาท จำคุก 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ" นายยรรยง กล่าว
นอกจากนี้รัฐยังได้กำหนดมาตรการให้ผู้ส่งออกดำรงสต็อกข้าวไม่ต่ำกว่า 500 ตัน ในช่วงเวลาส่งออก คือ ไม่ว่าผู้ส่งออกจะต้องส่งข้าวปริมาณเท่าใดตามคำสั่งซื้อ ก็ต้องมีข้าวในมือไม่น้อยกว่า 500 ตัน ซึ่งเป็นหน้าที่เอกชนต้องดำเนินการตามระเบียบ ที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร แต่ภาครัฐจะมีการตรวจสอบซ้ำว่า มีปริมาณข้าวตรงตามรายงานหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่ามีข้าวในประเทศปริมาณเท่าใด
"การขาดแคลนข้าวในประเทศจะเกิดขึ้นได้ กรณีที่มีการส่งออกมากผิดปกติ ดังนั้นการให้ผู้ส่งออกและโรงสีแจ้งปริมาณข้าวที่มีอยู่ รวมกับการจับตาสถานการณ์การส่งออกอย่างใกล้ชิด ก็จะทำให้รู้ความเคลื่อนไหวโดยตลอด และหากความผิดปกติสามารถดำเนินการแก้ไขได้ทันที" นายยรรยง กล่าว
ตรวจสต็อกรัฐเน้นพื้นที่สีแดง
นายยรรยง กล่าวว่า ในส่วนการตรวจสต็อกข้าวของรัฐกำหนดให้ตรวจสอบเข้มงวดโดยในพื้นที่สีแดง คือ บริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ซึ่งมีการปลูกข้าวเป็นจำนวนมากและมีเครือข่ายระหว่างโรงสีผู้ส่งออกอยู่ กำหนดให้ตรวจสอบทุกวัน ส่วนพื้นที่อื่นๆ ให้สุ่มตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการสูญหาย นอกจากนี้กำลังพิจารณาว่าจะต้องจัดเวรยามเฝ้าโกดังข้าวของรัฐและข้าวรัฐที่ฝากเก็บไว้กับเอกชน ว่าจำเป็นหรือไม่เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีข้าวสูญหาย
”ข้าวจะขาดแคลนในกรณีการส่งออกผิดปกติ เราก็ให้ส่งรายงานสต็อกข้าวอย่างต่อเนื่องและมีการตรวจสอบซ้ำ เป็นมาตรการปกติที่ต้องทำอยู่แล้วแต่ให้เข้มขึ้นส่วนสต็อกของรัฐก็ให้เฝ้าระวังกันเข้ม ไม่ให้สูญหายโดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว อย่างเทศกาลสงกรานต์ กำลังคิดอยู่ว่าจำเป็น ต้องจ้างเวรยามมาตรวจตราเฝ้ากันหรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐก็หยุดงาน กำลังพิจารณาขอความร่วมมือจากทางทหารให้เข้าช่วยเหลือในการดูแลสต็อกหรือไม่" นายยรรยง กล่าว
พาณิชย์ยันข้าวไม่มีการขาดแคลน
กระทรวงพาณิชย์ขอยืนยันว่า ข้าวในประเทศมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ และข้าวนาปรังกำลังออกสู่ตลาดอีก 4 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งในส่วนข้าวถุงผู้ประกอบการได้ให้คำมั่นว่า สามารถส่งสินค้าป้อนตลาดได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอแล้ว
"การจัดการสต็อกของรัฐและเอกชน กรณีขาดแคลน นอกจากนำสต็อกของรัฐออกมาใช้ได้แล้ว รัฐยังสามารถซื้อข้าวในสต็อกของเอกชนได้อีกด้วย ซึ่งเป็นอำนาจที่เราทำได้" นายยรรยง กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ผลการตรวจสต็อกข้าวครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ข้าวในโกดังกลางของรัฐปริมาณ 1.964 ล้านตันโดยประมาณ ข้าวในโรงสีที่รัฐฝากเก็บ 1.45 แสนตัน ขาดหาย 1.3 หมื่นตัน คิดเป็น 0.62% ทำให้รัฐมีข้าวคงเหลือ 2.096 ล้านตัน โดยจังหวัดที่พบข้าวหายไป ได้แก่ พิจิตร พะเยา ชัยนาท และ เชียงราย
รายงานข่าวแจ้งว่า นางสาวณัฐฐิรา ลิ่ววรุณพันธ์ รองผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ออกคำสั่งห้ามหัวหน้าคลังสินค้ากลาง อคส.เดินทางออกนอกพื้นที่หรือจนกว่าจะได้รับอนุญาต รวมทั้งให้เพิ่มความถี่และความเข้มงวด ในดูแลสต็อกข้าวภายในพื้นที่ ถ้าละเมิดจะมีโทษทางวินัยขั้นเด็ดขาด
ชี้ส่งออกเดือนเม.ย.ลดเหลือ 6-7 แสนตัน
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า การส่งออกข้าวเดือนเม.ย.ปริมาณการส่งออกเข้าสู่ภาวะปกติ คือ ประมาณ 6-7 แสนตันต่อเดือน จากช่วง 3 เดือนแรกที่ส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านตัน แต่ราคาเฉลี่ยส่งออกข้าวจะเพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ที่ผ่านมามาก โดยวันที่ 9 เม.ย. 2551 ราคาข้าวหอมมะลิในประเทศตันละ 34,000 บาท เพิ่มจาก 30,000 บาท ในต้นสัปดาห์ ส่วนราคาส่งออก (เอฟโอบี) ตันละ 1,130 ดอลลาร์ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ตันละ 26,000 บาท เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ตันละ 2,000 บาท ส่วนราคาส่งออก (เอฟโอบี) ตันละ 854 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภาวะตึงตัวจะผ่อนคลายลงได้ภายใน 2 เดือนนับจากนี้ เมื่อข้าวใหม่ออกสู่ตลาดและการส่งออกตามสัญญาเดิมหมดลง
ราคาซื้อขายข้าวเอฟโอบี (ส่งมอบ ณ ท่าเรือกรุงเทพ) วานนี้ (9 เม.ย.) ปรับเพิ่มสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเฉลี่ย 50-120 ดอลลาร์ต่อตัน โดยข้าวหอมมะลิราคา 1,114 ดอลลาร์ เพิ่มจาก 993 ดอลลาร์จากวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา ข้าวหอมมะลิชั้น 1 ราคา 1,130 ดอลลาร์ เพิ่มจาก 1,009 ดอลลาร์ ข้าวขาว 5% ราคา 838 ดอลลาร์ เพิ่มจาก 779 ดอลลาร์ ข้าวขาว 10% ราคา 886 ดอลลาร์ เพิ่มจาก 827 ดอลลาร์ ข้าว 15% ราคา 816 ดอลลาร์ เพิ่มจาก 761 ดอลลาร์ ข้าวขาว 100% ราคา 854 ดอลลาร์ เพิ่มจาก 795 ดอลลาร์ต่อตัน
ผู้ส่งออกยันผู้ซื้อสู้ราคาแพงพร้อมขาย
นายพงษ์ชัย เศรษฐีวรรณ กรรมการบริหาร บริษัท ไทยฟ้า (2511) จำกัด กล่าวว่า การค้าข้าวขณะนี้หากผู้ซื้อสามารถสู้ราคาตลาดที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากต้นปีที่ผ่านมาได้ ทางผู้ส่งออกจึงจะเจรจาการค้าด้วย
อย่างไรก็ตามก่อนจะรับคำสั่งซื้อ ต้องให้มั่นใจว่า มีข้าวในสต็อกก่อน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะราคาผันผวน โดยราคาข้าวสาร (5%) เอฟโอบี เดือนม.ค. 2551 ตันละ 350 ดอลลาร์ ปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 700-800 ดอลลาร์ หากราคาปรับสูงต่อเนื่องต่อไป จะส่งผลถึงการส่งออกที่ต้องชะลอตัวลงเพราะผู้ซื้อไม่สามารถสู้ราคาได้ ขณะที่ผู้ส่งออกต้องระมัดระวังการรับคำสั่งซื้อ
”ราคาข้าวที่สูงขึ้นมาจากลูกค้ายังตกใจ จากสภาพการณ์ที่ความต้องการซื้อข้าวสูงมาก แต่ยืนยันได้ว่าข้าวไม่ได้ขาดแคลน อย่าไปตกตะลึง แต่ตอนนี้สถานการณ์ราคาผันผวนมาก ปกติแต่ละปีบริษัทส่งออกข้าว 5 แสนตัน แต่ปีนี้ยังไม่กล้าคาดการณ์ ตลาดหลักอยู่ที่ฟิลิปปินส์ แอฟริกา มาเลเซีย และจีน รับคำสั่งซื้อล่วงหน้าคราวละ 1-2 เดือน ขณะนี้มีข้าวอยู่ 100,300 ตัน” นายพงษ์ชัย กล่าว
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ กำลังจะเปิดประมูลซื้อข้าว 5 แสนตันในวันที่ 17 เม.ย. นี้ กำหนดส่งมอบภายใน 3-4 เดือน บริษัทกำลังพิจารณาเพื่อดูสถานการณ์ว่าจะร่วมประมูลด้วยหรือไม่เพราะส่วนหนึ่งเป็นลูกค้าเก่าที่ต้องรักษาไว้
รัฐเล็งวางยุทธศาสตร์อาหารรับวิกฤติโลก
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่นายจอห์น โฮล์มส์ รองเลขาธิการใหญ่ฝ่ายกิจการมนุษยธรรม และผู้ประสานงานด้านการบรรเทาภาวะฉุกเฉินแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แสดงความเป็นห่วงวิกฤติด้านอาหาร และราคาเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น จะกลายเป็นภัยคุกคาม ทำให้เกิดความวุ่นวายทางสังคม และภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองทั่วโลก ว่า ในวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่เป็นครัวของโลก หากเราสามารถวางยุทธศาสตร์ให้เป็นผู้นำด้านการเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรได้ก็จะเป็นโอกาสที่ดีของประเทศ
ขณะเดียวกันหากความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น การลงทุนระบบชลประทาน และนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการเพาะปลูกมากขึ้น ก็จะช่วยสร้างโอกาสให้กับสินค้าเกษตรของไทยมากขึ้นด้วย ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอยู่ โดยหลังเทศกาลสงกรานต์ จะมีการประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องการเกษตรให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่าราคาอาหารและน้ำมันที่สูงขึ้น จนส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับ 5% จะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริโภค และเชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 5-6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
น.พ.สุรพงษ์ มองว่า อัตราเงินเฟ้อในระดับดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจมากเกินไป เพราะก่อนหน้านี้ไทยเองก็เคยเผชิญกับเงินเฟ้อในระดับนี้มาก่อน อีกทั้งเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นก็มาจากปัจจัยเกี่ยวกับราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งทุกครั้งที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น รายได้ของประชาชนอาจจะปรับตัวได้ไม่ทันในช่วงแรก แต่ระยะยาวก็น่าจะปรับตัวได้ เพราะเงินเฟ้อของไทยยังไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 10%
นอกจากนั้น รายได้ภาคเกษตรในช่วงที่ผ่านมาก็ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้เกษตรกรมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย เพราะโดยปกติหากชาวนามีการใช้จ่ายก็จะทำให้เกิดกระแสหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้หลายรอบ ประกอบกับรัฐบาลได้มีนโยบายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก จึงเชื่อว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพียังอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้
ผู้ค้าข้าวถุงรอห้างยักษ์เคาะส่วนลด
นายสมฤกษ์ ตั้งพิรุฬห์ธรรม นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวถึงการที่ห้างค้าปลีกยอมที่จะปรับลดกำไรหลังร้าน (แบ็ค มาร์จิน) ให้กับผู้ผลิตข้าวถุงลง 3-10% เพื่อให้ราคาขายข้าวถุงลดลงในช่วง 2 เดือนนี้นั้น ผู้ค้ากำลังรอตัวเลขจากห้างค้าปลีก ว่า จะยอมปรับลดการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ผลิตในส่วนใดลงบ้าง ซึ่งห้างบิ๊กซีน่าจะทราบผลเร็ว แต่ เทสโก้ โลตัส และ คาร์ฟูร์ จะแจ้งผลให้ทราบในอีก 1 สัปดาห์ ซึ่งการที่ห้างยอมปรับลดกำไรหลังร้านลง ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ซึ่งผู้ผลิตข้าวถุงเรียกร้องมานานแล้ว และให้กรมการค้าภายในช่วยเจรจา แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จนกรมฯต้องยกร่างสัญญามาตรฐานสำหรับห้างค้าปลีกกับผู้ผลิตข้าวถุง เพื่อไม่ให้ผู้ผลิตถูกห้างเอารัดเอาเปรียบ
“การลดกำไรหลังร้าน และการลดระยะเวลาชำระค่าข้าวให้กับผู้ผลิตเร็วขึ้นเป็น 30 วันนั้น ห้างจะดำเนินการเพียงในช่วง 2 เดือนนี้ คือ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 พ.ค. นี้เท่านั้น ส่วนหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการเจรจา สมาคมอยากให้สัญญามาตรฐานที่ยกร่างไว้แล้ว มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ” นายสมฤกษ์ กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |