นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในงานเสวนาโต๊ะกลมเรื่องข้าวไทยพุ่งแรง รุ่งโรจน์หรือหายนะชาวนาไทย จัดโดยกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ว่า เป็นความโชคดีของไทยที่ตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ ทำการเกษตรได้อย่างหลากหลาย แต่ภาคการเกษตรไทยอ่อนแอ ขาดเงินลงทุน ต้องขายที่ดินและหันมาเช่านาแทน
ปัจจุบันพื้นที่เกษตรของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในมือนายทุนและนายทุนเหล่านี้ พร้อมที่จะขายที่นาหากมีคนซื้อ โดยไม่สนใจว่าผู้ซื้อจะมาจากไหน หรือนอมินีของใคร โดยเฉพาะปัจจุบันกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ไม่เพียงต้องการพื้นที่เกษตรในไทยเท่านั้น แต่ต้องการกว้านซื้อที่ดินทุกประเทศในแถบนี้ด้วย
"ประเทศในกลุ่มอาหรับมีเงินจากการขายน้ำมัน แต่น้ำมันกินไม่ได้ เมื่อสถานการณ์โลกเริ่มเข้าสู่วิกฤติทางด้านอาหาร ประเทศในกลุ่มนี้จึงต้องแสวงหาความยั่งยืนในการผลิตอาหาร จึงเลือกเข้าไปซื้อที่ดินประเทศที่ขาดจิตสำนึก ซึ่งไทยก็เข้าข่าย ดังนั้นทำอย่างไรจะสกัดกั้นคนกลุ่มนี้และรักษาพื้นที่เอาไว้"
วอนสภาออก ก.ม.ป้องกันขายชาติ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ เพียงหน่วยงานเดียว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ จะเห็นได้จากการที่ตนออกมากล่าวว่า แผนการกว้านซื้อที่ดินครั้งนี้ เป็นการ "ขายชาติยังถูกรุมกินโต๊ะแทบตาย" ซึ่งเรื่องนี้น่ากลัว หากไม่ได้รับการแก้ไข จะกลายเป็นความหายนะของชาวนาไทย
อย่างไรก็ตามทางออกของปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยใช้กฎหมายที่ดินเข้ามาควบคุม ปัจจุบันกฎหมายของไทยมีมาก แต่ไม่ได้นำมาใช้ หากมีการนำมาใช้ ก็จะใช้กับเฉพาะคนบางกลุ่ม หรือยกเว้นกับคนบางกลุ่มเท่านั้น หลายครั้งที่รัฐบาลเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ดิน แต่ก็ไม่ได้รับพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นประชาชนควรจะเสนอให้สภามีการแก้ไขกฎหมายที่ดินเหล่านี้ใหม่ ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะปกป้องทรัพย์สินของชาติเอาไว้ได้ และสภาจะไม่มีสิทธิถอดถอนข้อเรียกร้องของประชาชน
ส่วนการรับจำนำข้าวที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รับไปปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องที่น่าห่วงและตนจะเขียนกลไกการทุจริตในช่วงที่ผ่านมาให้ ธ.ก.ส.รับไปพิจารณาพร้อมทั้งจะนำความเห็นต่างๆ ที่ได้จากการเสวนาในครั้งนี้ไปกำหนดเป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ และผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐบาลต่อไป
นักวิชาการชี้ราคาข้าวทรงตัวสูง 10 ปี
นายนิพนธ์ พัวพงศกร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า ราคาข้าวจะยังทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง เพราะประชากรของโลกมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนา ขณะที่การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ต้องใช้เวลาวิจัยและพัฒนามากถึง 10 ปี ส่วนการตัดต่อพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ ไม่ได้ทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น เพียงช่วยแก้ปัญหาโรคแมลงเท่านั้น
"ราคาข้าวที่แพงขึ้นเป็นความรุ่งโรจน์ของภาคเกษตรอย่างแท้จริง แต่เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาไม่ให้ผันผวน รัฐบาลควรมีนโยบายอย่างชัดเจน แยกประเภทข้าวชั้นดี เช่น หอมมะลิ แล้วโปรโมทให้มีราคาแพง แต่ปริมาณน้อย ขณะที่ข้าวอื่นให้มีราคาลดหลั่นลงไป เพื่อลดปัญหาการบริโภคในประเทศ จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง" ดร.นิพนธ์ กล่าว
อัดรัฐทำข้าวถุงธงฟ้าทุบกลไกตลาด
ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า รัฐบาลนี้บริหารจัดการข้าวผิดพลาด สร้างความเสียหาย โดยเฉพาะนโยบายข้าวถุงธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นการสร้างราคาข้าว 2 ตลาด แล้วประกาศจะแทรกแซงราคาข้าว ทำให้กลไกการตลาดเปลี่ยนแปลง อีกทั้งไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรอย่างทั่วถึง ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับชาวนาภาคกลางและเหนือตอนล่างเท่านั้น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีเกษตรกรยากจนอยู่มาก ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวเลย
นอกจากนี้การประกาศรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาด จะทำให้รัฐกลายเป็นผู้ค้ารายใหญ่เป็นการค้าแบบสังคมนิยม ที่จะส่งผลให้พ่อค้าระดับกลางและรายเล็กสูญหายไป สุดท้ายเกษตรกรจะไม่สนใจการผลิตข้าวที่มีคุณภาพและต้นทุนการผลิต เพราะรัฐบาลรับซื้อข้าวทั้งหมด
ขณะที่ ธ.ก.ส.ที่เข้ามาดำเนินโครงการรับจำนำ ไม่มีประสิทธิภาพในการเข้าไปควบคุมโกดังเก็บข้าว ซึ่งเสี่ยงต่อการขาดทุน และความน่าเชื่อถือของ ธ.ก.ส.ในฐานสถาบันการเงินจะหมดไป ซึ่ง ธ.ก.ส.ไม่ควรเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น
"เจิมศักดิ์" เตือน ธ.ก.ส.รอบคอบรับจำนำ
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว ธ.ก.ส.รับโครงการนี้มาดำเนินการ ต้องทำให้ดีที่สุด โดยตรวจสอบคุณสมบัติของชาวนา ก่อนรับเข้าโครงการและหากข้าวราคาสูงกว่าตันละ 14,000 บาท จะต้องรีบขายข้าวทันที แล้วนำเงินที่ได้รับเพิ่มขึ้น จ่ายคืนให้กับเกษตรกร แต่หาก ธ.ก.ส.เก็บข้าวเอาไว้ในโกดัง จะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก ทั้งการเปลี่ยนข้าว ข้าวหายและปัญหาข้าวเสื่อม เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เชื่อว่า ธ.ก.ส.ไม่มีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปตรวจสอบ
"การแก้ไขปัญหาข้าว ไม่ควรฝืนกลไกการตลาดและกระทรวงเกษตรฯ จะต้องเป็นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น และลดต้นทุนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด" ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว
ผู้ส่งออกปัดฮั้วกดราคาข้าว
นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ส่งออกไม่เคยมีพฤติกรรมฮั้ว เพื่อกดราคาซื้อข้าว จนทำให้ราคาตกต่ำ จะเห็นได้จากในช่วงต้นปีที่ราคาข้าวสูงถึงตันละ 16,000-17,000 บาท ถ้ามีการฮั้วจริงคงไม่ปล่อยให้ราคาสูงขึ้นขนาดนั้น
นายปราโมทย์วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นและลดลงในปัจจุบัน ถือว่าเป็นไปตามกลไกการตลาด ซึ่งรัฐบาลควรใช้วิธีการประคองราคาให้เป็นอย่างนี้ต่อไป และควรเร่งวิจัยและพัฒนาเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้นอย่างแท้จริง
นายวิเชียร พวงลำเจียก อุปนายกสมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคาข้าวที่สูงขึ้นทำให้ชาวนาขยายพื้นปลูกข้าวมากขึ้นและคาดว่าผลผลิตในปีนี้จะมีมากอย่างมหาศาล ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะตามมา เพราะหากราคาข้าวตกต่ำไม่ถึงตันละ 10,000 บาท จะทำให้เกษตรกรเดือดร้อนแน่
ธ.ก.ส.หนักใจ "เสี่ยง" โครงการรับจำนำ
นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ ธ.ก.ส.รับมาทำจะด้วยความเต็มใจหรือไม่นั้น ต้องเก็บไว้ในใจจากที่รับฟังความเห็นของหน่วยงานต่างๆ ในการเสวนาครั้งนี้ มีความรู้สึกไม่สบายใจ แต่เมื่อรับมาทำแล้ว ก็ต้องดำเนินการต่อไปอย่างรอบคอบ และต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้โครงการนี้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
โครงการนี้ไม่ใช่นโยบายการแก้ไขปัญหาข้าวอย่างยั่งยืน เป็นเพียงมาตรการฉุกเฉินใช้ช็อกราคาข้าวในตลาดในช่วงสั้นๆ ให้สูงขึ้น หากจะมีการทุจริตเกิดขึ้นก็มีคนเพียง 3 กลุ่มเท่านั้นที่ทำได้ คือ เกษตรกร โรงสี และเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคน ช่วยกันผลักดันให้โครงการนี้สำเร็จ
"ราคาจำนำ 14,000 บาทต่อตัน สูงกว่าตลาด 2 พันบาท ซึ่งผมไม่สบายใจและไม่อยากรับความเสี่ยงเอาไว้เอง เพราะจะทำให้ ธ.ก.ส.เสียหาย จึงเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ ส่วนต่างของราคานี้ด้วย โดยการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด โดยจะรับผิดชอบเรื่องการรับข้าวเปลือก ต้องเลือกโรงสีที่มีเครื่องอบลดความชื้นเท่านั้น การส่งแปรสภาพเป็นข้าวสาร และการจำหน่าย ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องร่วมมือกัน" นายธีรพงษ์ กล่าว
อคส.พร้อมช่วยงานรับจำนำข้าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้ขอความร่วมมือ องค์การคลังสินค้า (อคส.) เพื่อช่วยบริหารจัดการเปิดรับจำนำข้าว เนื่องจาก ธ.ก.ส.แจ้งว่า ไม่พร้อมทั้งบุคลากรและวิธีบริหารจัดการ ซึ่ง อคส.พร้อมร่วมมือบางขั้นตอนในฐานะผู้รับจ้าง โดยจ่ายค่าตอบแทนเป็นกรณีๆ ไป หากเกิดการทุจริตก็จะได้ชัดเจนว่าเกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดใด
"อ.ค.ส.จะตรวจสอบรายละเอียดสัญญาขั้นตอนกิจกรรมให้ดี ก่อนเข้าร่วมเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อน เช่น การวัดความชื้นก็มีความเสี่ยงสูง ที่จะเกิดการเสียหายและกลายเป็นเรื่องทุจริตได้ รวมทั้งการติดต่อโรงสีต้องดูให้ดี ว่าหากข้าวชาวนาออกมาพร้อมกันจำนวนมาก จะเปิดรับจำนำทันหรือไม่ อคส.ไม่ควรเห็นแก่ค่าจ้างที่ได้รับ แต่ต้องไปแบกภาระหรือความรับผิดชอบเกินไป" แหล่งข่าว กล่าว
บอร์ด ธ.ก.ส.ไฟเขียวรับจำนำ
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.วานนี้ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานในการจำนำจากรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือก โดยแจ้งกับที่ประชุมถึงหลักในการรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งต้องมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (10 มิ.ย.)
หลักการในการจำนำข้าวเปลือก คือ 1. อคส.และ ธ.ก.ส.จะร่วมกันพิจารณารับขึ้นทะเบียนโรงสี เพื่อทำหน้าที่สีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร และรับขึ้นทะเบียนโกดังกลางเพื่อเก็บรักษาข้าวเปลือก
2. อคส.ทำหน้าที่รับฝากข้าวเปลือกจากเกษตรกรและออกใบประทวนสินค้า 3. ธ.ก.ส.ทำหน้าที่รับจำนำใบประทวนสินค้าจากเกษตรกร ที่นำข้าวเปลือกไปฝากไว้กับ อคส. และ 4. ธ.ก.ส.และ อคส.ร่วมกันกำกับดูแลประจำจุดรับฝาก การดำเนินงานทั้งหมดดูแลโดยคณะทำงาน 3 ชุดประกอบด้วย คณะกรรมการกำกับการรับจำนำ, คณะทำงานพิจารณาสีแปรสภาพ และคณะทำงานพิจารณาจำหน่ายข้าวสาร
"การรับจำนำข้าวเปลือกในส่วนเกษตรจะต้องได้รับการรับรองโดยกระทรวงเกษตร เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นหลักฐานในการจำนำ เพราะฉะนั้นข้อห่วงใยว่าจะเป็นเกษตรกรตัวจริงหรือไม่ก็หมดไป และจะมีการตรวจสอบว่าไม่มีการสวมสิทธิ เพราะฉะนั้นเมื่อโรงสีได้รับข้าวก็ออกใบประทวนให้เกษตรกร และเกษตรกรก็นำมาขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส."
สำหรับเป้าหมายการรับจำนำข้าวเปลือกอยู่ที่ 2.5 ล้านตัน โดย อคส.จะรับฝากและออกใบประทวนตั้งแต่ 15 มิ.ย. ถึง 30 ก.ย. และสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 ธ.ค.2551 กำหนดราคาการจำนำที่ความชื้นของข้าวไม่เกิน 15% ในราคา 1.4 หมื่นบาทต่อตัน ถ้าความชื้นมีมากขึ้นราคาก็ลดหลั่นกันไป
เสนอ ครม.วันนี้ตั้งงบจำนำ
น.พ.สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า วันนี้จะเสนอขออนุมัติงบประมาณในการใช้จ่ายดำเนินงาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ทั้งในเรื่องของการเช่าที่ การเก็บข้าว การแปรสภาพ ออกใบรับรองเกษตรกร รวมทั้งค่าชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.ด้วย ทั้งนี้ในส่วนของการชดเชยอัตราดอกเบี้ย หากเกษตรกรมาไถ่ถอนคิดอัตราดอกเบี้ย 3% แต่หากเกษตรกรไม่มาไถ่ถอนรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย 6.5% รวมถึงข้อเสนอของ ธ.ก.ส.ที่ให้รับขาดทุนจากราคารับจำนำด้วย
สำหรับค่าใช้จ่ายโรงสีสำหรับการเก็บข้าว ค่าประกันภัย การรักษาคุณภาพซึ่งให้ อคส.ดูแล จะคิดประมาณตันละ 216 บาท ทั้งนี้ในการรับจำนำจะมีการติดตั้งซีซีทีวีในการรับฝากด้วย
ั้ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|