www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ไฟเขียวเพิ่มงบฯ จำนำข้าวนาปรัง เป็น 3.1 พันล้าน


น.ส.วีรินทิรา นาทองบ่อจรัส รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 9 กันยายน ถึงโครงการรับจำนำข้าว ว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับเพิ่มปริมาณเป้าหมายการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 จากเดิม 2.5 ล้านตัน เป็น 3.5 ล้านตัน และหาก จำเป็นต้องปรับเพิ่มอีกก็สามารถนำเสนอ ครม. พิจารณาใหม่ได้ ทั้งนี้ ผลจากการเพิ่มเป้าหมายดังกล่าวส่งผลให้มีการขยายระยะเวลาโครงการจากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2551 เป็น 31 มีนาคม 2552 พร้อมอนุมัติวงเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อรองรับการดำเนินงานส่วนนี้จากเดิม 1,132.17 ล้านบาท เพิ่มอีก 2,015.54 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 3,147.71 ล้านบาท โดยจะเป็นการจัดสรรจากงบกลางของงบประมาณปี 2551 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเห็นเสนอสำนักงบประมาณต่อไป

น.ส.วีรินทิรากล่าวว่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะแยกเป็นค่าใช้จ่ายขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รวมวงเงิน 787.74 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แบ่งเป็นการบริหารโครงการเฉลี่ยตันละ 27 บาท เป็นเงิน 51.30 ล้านบาท ค่าชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร ร้อยละ 6.5 ระยะเวลา 7 เดือน นับจากเดือนกันยายน 2551-มีนาคม 2552 จากราคาจำนำตันละ 12,000 บาท เป็นเงิน 1,176.50 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,227.80 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ขยายระยะเวลาสิ้นสุดการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 จากวันที่ 30 กันยายน-31 ตุลาคม 2551 เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์การเพาะปลูกของพื้นที่ดังกล่าว

น.ส.วีรินทิรากล่าวว่า ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)ในการจัดทำโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2551/2552 คาดว่าจะมีข้าวที่รับจำนำปริมาณ 8 ล้านตันข้าวเปลือก โดยให้ อคส. และ อ.ต.ก.รับฝากและออกใบประทวนให้เกษตรกร และสถาบันเกษตรกร ส่วน ธ.ก.ส.รับจำนำยุ้งฉางเกษตรกร โดยมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2551-28 กุมภาพันธ์ 2552 ส่วนภาคใต้ เริ่มวันที่ 1 กุมภาพันธ์-31 พฤษภาคม 2552 ระยะเวลาไถ่ถอนการรับจำนำใบประทวน 3 เดือน ส่วนระยะเวลาการรับจำนำไถ่ถอน 4 เดือน

น.ส.วีรินทิรากล่าวว่า สำหรับราคารับจำนำ จะดูจากความชื้นไม่เกิน 15% โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้านาปี ตันละ 14,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว ชนิดเม็ดยาว ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียวคละ ตันละ 9,000 บาท คิดเป็นค่า ใช้จ่ายในการดำเนินโครงการนี้รวมวงเงิน 11,016.124 ล้านบาท แยกเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของ อคส. และ อ.ต.ก. วงเงิน 694.941 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายการเก็บรักษาข้าวที่แปรสภาพจากข้าวเปลือกแล้วทั้ง อคส. และ อ.ต.ก. รวมเป็นเงิน 795.743 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย ของ ธ.ก.ส.รวมเป็นเงิน 9,518.64 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองเกษตรกรให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 6.8 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า การเสนอเรื่องดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ได้ระบุว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการ และได้ระบายข้าวที่รับจำนำได้เสร็จสิ้นแล้ว กรณีมีผลกำไรให้ส่งคืนเป็นรายได้แผ่นดิน แต่หากมีผลขาดทุนจากผลต่างราคาที่รับจำนำและราคา ที่จำหน่ายได้ให้ ธ.ก.ส.ประสานกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอจัดสรรงบประมาณประจำปีชดเชยให้ ธ.ก.ส.ต่อไป

แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส.เปิดเผย "มติชน" ว่า สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในการรับจำนำข้าวทั้งในส่วนของนาปรังและนาปี เบื้องต้นมาจาก ธ.ก.ส.เป็นหลัก สำหรับในส่วนของข้าวนาปรังที่จะเพิ่มประมาณ 1 แสนตัน เบื้องต้นจะใช้งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท แต่ในส่วนของข้าวนาปีที่ตั้งไว้ประมาณ 8 ล้านตัน หากคำนวณตามราคาข้าวที่จะรับจำนำตามมติ ครม.นั้น จะใช้งบฯประมาณ 1 แสนล้านบาท

"ในส่วนของข้าวนาปรัง งบฯของ ธ.ก.ส.คงไม่มีปัญหา เพราะเตรียมไว้แล้ว แต่ในส่วนของข้าวนาปี ธ.ก.ส.คงรับไม่ไหว น่าจะมีหน่วยงานอื่นลงขันด้วย ซึ่งหลังจากนี้ ธ.ก.ส.จะหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนต่อไป" แหล่งข่าวกล่าว

นายบรรจง ตั้งจิตวัฒนากูล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวแห่งประเทศไทย และประธานชมรมโรงสีข้าว จ.พิจิตร กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวกำลังเป็นโอกาสทองของชาวนา เพราะราคาข้าวเกี่ยวสดซื้อขายกันอยู่ที่ตันละ 10,000 บาทแล้ว แต่ผู้ประกอบการค้าข้าวภายในประเทศและผู้ส่งออก รวมไปถึงนักธุรกิจที่จะสั่งซื้อข้าวจากประเทศไทยกำลังไม่ไว้วางใจในเสถียรภาพของรัฐสภาและรัฐบาล คาดว่าเสร็จโครงการรับจำนำข้าวสิ้นเดือนกันยายนนี้ สถานการณ์ราคาข้าวจะสร้างแรงกดดันให้ชาวนาออกมากดดันรัฐบาล จะกลายเป็นศึก 2 ด้านในเร็ววันนี้อีกด้วย

"ดังนั้น จึงอยากฝากเตือนรัฐบาลควรใช้สภาที่มีอยู่ในขณะนี้ เขียนร่างนโยบายข้าวให้เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติ เพราะคาดว่าในเร็ววันนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ และถ้ามีรัฐบาลรักษาการ การกำหนดนโยบายจะยิ่งปั่นป่วนไปกันใหญ่ มิฉะนั้น เมื่อข้าวนาปีเริ่มเกี่ยวแล้วไม่มีโครงการรับจำนำข้าวรองรับ นอกจากรัฐบาลจะรับศึกจากพันธมิตรแล้วยังจะมีกลุ่มชาวนาหลายสิบล้านคนออกมากดดันรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก" นายบรรจงกล่าว

ด้านนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าคณะกรรมการ กขช.ดังกล่าวนั้น จะมีการกำหนดให้นายกสมาคมชาวนาไทย เป็นคณะอนุกรรมการ กขช. เพื่อร่วมวางกรอบนโยบายในการจำนำข้าว ที่เกิดจากความต้องการจากชาวนาอย่างแท้จริง แต่ในข้อเท็จจริงแล้วสมาคมชาวนาไทยไม่เคยได้เข้าร่วมประชุมวางกรอบสักครั้งเดียว รัฐบาลเพียงต้องการให้เกิดภาพพจน์ที่ดีทางสังคม ในเมื่อตั้งไปแล้วเป็นเพียงหุ่นไล่กาไม่มีบทบาทอะไร ก็สมควรที่จะปลดออกเสีย เพื่อจะไม่ต้องใช้เป็นข้ออ้างกรณีเกิดข้อผิดพลาดจากการทำงานว่า ส่วนหนึ่งมาจากความคิดของชาวนาเอง

นายประสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาลในการเตรียมการรับจำนำข้าวครั้งใหม่นี้นั้น จะต้องเร่งระบายข้าวที่อยู่ในโครงการปัจจุบันออกให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความคล่อง โดยเฉพาะการเร่งแปรสภาพข้าวในโรงสีไม่ให้ค้างคา เป็นการทำงานแต่เนิ่นๆ เพราะเมื่อถึงเวลาจำนำจริงแล้ว ทุกอย่างสามารถเดินไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพทันที

นายประสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีการพิจารณาปลดล็อคโรงสีที่ถูกขึ้นบัญชีดำ เพราะเกิดปัญหาจำนำข้าวที่ผ่านมานั้น ทราบกันดีว่าการทุจริตของโรงสีแต่ละครั้งนั้น เป็นข้อได้เสียผลประโยชน์มหาศาล แต่บทลงโทษไม่รุนแรง เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วผู้ฉ้อฉลจึงกล้าที่จะเสี่ยงกระทำผิด เพราะมันคุ้มค่า ขณะเดียวกัน ยิ่ง จะมีการลดหย่อนผ่อนโทษกันอีก คิดว่าต่อไป คนทำผิดจะไม่เกรงกลัวกฎหมาย อยากให้ กขช. พิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่เช่นนั้นปัญหาการจำนำข้าวจะเกิดขึ้นไม่รู้จบแบบวัว พันหลัก

วันเดียวกัน เวลา 13.30 น. ที่หน้าสำนักงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ.เชียงใหม่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวประมาณ 100 คน นำโดยนายชัยศิลป์ รินแก้ว และนายจำรัส ลุมมา รวมตัวชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินค่าข้าวให้กับเกษตรกรอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง หลังทราบว่าจะมีการโอนเงินให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อ.แม่อาย และ อ.ฝาง ก่อนอำเภออื่นที่เหลืออีก 14 อำเภอ

นายชัยศิลป์กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีเกษตรกรจำนวน 853 ราย ยังไม่ได้รับเงินค่าข้าวเปลือกเหนียวที่ขายให้กับรัฐผ่านโรงสีศิริภิญโญ รวมเป็นเงิน 38,232,104 บาท แต่ล่าสุดทราบว่ากระทรวงการคลังได้อนุมัติเงินจำนวนกว่า 23 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะโอนเงินจำนวน 12 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรใน อ.แม่อาย และ อ.ฝาง ตามบัญชีรายชื่อตามมติคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เหลือ เพราะจำนวนเงินไม่เพียงพอ จึงอยากขอร้องให้ ธ.ก.ส.เฉลี่ยจำนวนเงินให้เกษตรกรทุกอำเภอร้อยละ 60

ต่อมาเวลา 16.35 น. หลังได้รับคำชี้แจงจาก ธ.ก.ส.ว่า ได้โอนเงินจำนวนกว่า 12 ล้าน ให้กับ ธ.ก.ส.แม่อาย เพื่อจ่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อ.แม่อาย และ อ.ฝางแล้ว กลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันอยู่ต่างไม่พอใจ ได้นำเชือกและรถกระบะมาปิดทางเข้าออกของสำนักงาน ธ.ก.ส.เชียงใหม่ทันที สร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก จากนั้น เวลา 19.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมสลายตัวและประกาศจะกลับมาอีกครั้งในเช้าวันที่ 10 กันยายน

ที่มา มติชน

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.