|
ปลายข้าวแพงทะลุ 13,000 บาท/ตัน "ก๋วยเตี๋ยว-เส้นหมี่"พาเหรดขึ้นราคา
|
โรงงานผลิตเส้นหมี่-เส้นก๋วยเตี๋ยวสุดทน ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งพรวด ปลายข้าวตันละ 12,000-13,500 บาท สุดท้ายอั้นไม่ไหวแจ้งลูกค้าขอปรับราคาขึ้นอีก 10% อาศัยอานิสงส์ช่วงตรุษจีนที่คนต้องซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยว ช่วยพยุงยอดขายจะไม่ตกลงมากนัก สุดท้ายหวังไตรมาสสุดท้ายราคาปลายข้าวลดลง จะปรับราคาเส้นก๋วยเตี๋ยวตามสถานการณ์อีกครั้ง
ราคาข้าวในประเทศได้ผันผวนอย่างหนักและ มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าวหอมมะลิ" ได้ขึ้นไปถึงตันละ 22,200-22,300 บาท ในขณะที่ข้าวขาว 100% อยู่ที่เฉลี่ยตันละ 12,700-13,000 บาท ส่งผลให้ปลายข้าวหอมมะลิราคาปรับตัวสูงขึ้นมาเป็นตันละ 13,500-13,550 บาท ส่วนปลายข้าวขาวอยู่ที่ ตันละ 12,000 บาท จนทำให้ตลาดข้าวในประเทศเกิดปรากฏการณ์ใหม่ นั่นคือ ปลายข้าวหอมมะลิ มีราค" สูงกว่า" ข้าวขาว 100% ไปแล้ว
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปลายข้าวหอมมะลิมีราคาแพงกว่าข้าวขาวนั้น ต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมาชาวนา "กำไร" จากการขายข้าวเหนียว ในครอปต่อมาจึงแห่ปลูกข้าวเหนียวกันมากขึ้น จนผลผลิตข้าวหอมมะลิในครอปนี้ลดลง ขณะที่ความต้อง การข้าวหอมมะลิยังมีอยู่ปกติ ส่งผลกระทบไปถึงปลายข้าวหอมมะลิก็ลดลงด้วย ราคาขายจึงปรับตัวสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
โดยนางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ เลขาธิการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวยอมรับว่า ราคาข้าวได้ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง จนผู้ส่งออกส่วนใหญ่ไม่กล้ารับออร์เดอร์อย่างสุ่มเสี่ยง ทั้งข้าว-ปลายข้าว และรำข้าว ได้ปรับราคาขึ้นไปหมด "ผู้ส่งออกต้องระมัดระวังในการขายข้าวในตลาดโลกมากขึ้น ราคาข้าวในประเทศก็ไต่ระดับขึ้น ทุกวัน หากซื้อข้าวไม่ได้ หรือซื้อได้แพงก็เสี่ยง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากค่าเงินบาทด้วย"
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า ปลายข้าวได้ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำเส้นหมี่และเส้นก๋วยเตี๋ยว รวมทั้งโจ๊ก ขณะที่ส่วนหนึ่งถูกส่งออกไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ดังนั้นปรากฏการณ์ที่ราคาปลายข้าวได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ได้ส่งผลกระทบต่อโรงงานที่ใช้วัตถุดิบปลายข้าวทันที
นายไกรลาศ วงศ์สุรไกร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงเส้นหมี่ ชอเฮง จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทางบริษัท "จำเป็น" ต้องปรับราคาผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวเพิ่มขึ้นอีก 10% มีผลในเดือนมกราคม 2551 นี้ทันที
เนื่องจากวัตถุดิบหลักคือ ปลายข้าวเจ้าปรับตัวสูงขึ้นมาก สำหรับวัตถุดิบปลายข้าวที่ปรับขึ้นเป็นวัฏจักรทุกปี สลับกันระหว่างปลายข้าวเหนียวกับปลายข้าวเจ้า ในช่วงปี 2550 ราคาข้าวเหนียวพุ่งสูงมาก คนหันไปปลูกข้าวเหนียว ปริมาณข้าวเจ้าจึงลดลง ทั้งนี้แนวโน้มในช่วงปลายปี 2551 ราคาปลายข้าวเจ้าน่าจะลดลง เพราะชาวนาจะหันกลับมาปลูกข้าวเจ้าเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ผลของการปรับราคาผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวของบริษัทในขณะนี้เชื่อว่าจะยังไม่กระทบกับยอดขายของบริษัท เนื่องจากบริษัทได้มีการแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าก่อนประมาณ 2 เดือนแล้วว่ามีความจำเป็นต้องขึ้นราคา ประกอบกับจะมีเทศกาลตรุษจีน ลูกค้าจึงสั่งออร์เดอร์สินค้าเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณการขายของบริษัทตอนนี้ยังไปได้ดีอยู่ ทั้งนี้อาจจะมีผลกระทบกับยอดขายในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าที่บริษัทอาจจะจำหน่ายสินค้าได้ลดลงจากการปรับราคาของผลิตภัณฑ์ แต่ในช่วงปลายปีหากราคาปลายข้าวลดลงและคู่แข่งปรับราคาลดลง บริษัทก็พร้อมจะปรับลดราคาสินค้าจากแป้งข้าวลงตามปกติ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|
|
|
|
|
© The Rice Exporters Association
37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678
E-mail : contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com
Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.
|
|
|