www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ผู้ส่งออกข้าวอัด"มิ่งขวัญ"ปั่นราคา-หวั่นตลาดป่วน


      นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตลาดข้าวภายในประเทศกำลังเกิดความปั่นป่วนโดยไม่มีใครยอมขายข้าวออกไปเพื่อรอเก็งกำไรราคาข้าวที่มีแนวโน้มจะปรับราคาขึ้นอีกหลังจากที่ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาระบุว่าอีก 3 เดือน ข้าวจะราคาขึ้นอีก 2-3 เท่าตัว หรือทะลุ 3 หมื่นต่อตัน ผู้ที่ได้ประโยชน์เป็นกลุ่มพ่อค้าคนกลางไม่ใช่เกษตรกรอย่างที่ รมว.พาณิชย์ คาดหวังเนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถชะลอขายข้าวได้เพราะไม่มีพื้นที่เก็บข้าว

     “ตอนนี้ ตลาดข้าวปั่นป่วนไปหมดโดยพ่อค้าคนกลางไม่ยอมขายข้าวออกมาเพราะหวังกำไรจากส่วนต่างราคาข้าว จริงๆ แล้วราคาข้าวก็มีแนวโน้มปรับขึ้นอยู่แล้วโดยข้าวในตลาดซื้อกระสอบละ 1.9-2 พันบาทอยู่แล้วตามภาวะต้องการตลาดโลก ยิ่งมาเจอการส่งสัญญาณของ รมว.พาณิชย์ ว่าข้าวจะขึ้นกระสอบละ 3 พันบาททำให้เกิดการเก็งกำไรเข้าไปใหญ่ซึ่งประโยชน์ไม่ได้ตกกับเกษตรกรเพราะไม่มีที่เก็บข้าวไว้รอขายแต่จะตกกับผู้มีพื้นที่หรือสต็อกเก็บข้าวไว้มากสุดมากกว่า” นายชูเกียรติ กล่าว

ยอมรับผู้ส่งออกชะลอรับออเดอร์

     ขณะที่ผู้ส่งออกข้าวไทย ก็ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่มีแนวโน้มปรับขึ้นโดยผู้ส่งออกกว่าครึ่งชะลอรับออเดอร์ส่งออกข้าว โดยจะรับออเดอร์ในปริมาณข้าวเพิ่มเล็กน้อยเท่านั้นจากเดิมที่ผู้นำเข้าสั่ง 1 หมื่นตัน ก็จะรับเหลือเพียง 2 พันตัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการขาดทุนจากการรับออเดอร์ล่วงหน้าซึ่งหวั่นเกรงว่าหาข้าวในราคาต้นทุนที่รับออเดอร์ไม่ได้เพราะราคาข้าวที่ปรับสูงขึ้นทุกวัน โดยขณะนี้ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 980 ดอลลาร์ต่อตัน และข้าวขาว อยู่ที่ 700 ดอลลาร์ต่อตัน แล้ว

     “ไม่ต้องรอถึง 3 เดือน ราคาข้าวก็จะทะลุ 1 พันดอลลาร์อยู่แล้วแต่ภาครัฐก็ยังมัวหลงกับราคาข้าวที่ขึ้นสูงอย่างนี้อยู่ได้ โดยไม่ดูว่าระบบข้าวจะได้รับผลกระทบอย่างไร ถ้าเซคเตอร์ใดเซคเตอร์หนึ่งพัง ระบบธุรกิจข้าวจะอยู่ได้อย่างไร ขณะที่ทั่วโลกเขาก็มีมาตรการที่จะส่งสัญญาณชะลอส่งออกข้าวกันหมดแล้วไม่ว่าจะเป็นเวียดนามหรืออินเดีย” นายชูเกียรติ กล่าว

บุกพาณิชย์ร้องกำหนดเพดานราคาส่งออก

     เร็วๆ นี้สมาคมจะทำหนังสือขอเข้าพบนายมิ่งขวัญ เพื่อขอให้ทบทวนเรื่องนโยบายการผลักดันส่งออกข้าวโดยจะเสนอให้ รมว.พาณิชย์ พิจารณามาตรการกำหนดเพดานราคาส่งออกข้าว เหมือนอย่างที่ประเทศอินเดียดำเนินการ โดยล่าสุดเพิ่มประกาศเพดานส่งออกข้าวขั้นต่ำที่ตันละ 1 พันดอลลาร์ขึ้นไป ซึ่งเป็นการเพิ่มเพดานราคาส่งออกอีกครั้งหลังจากเมื่อ 1-2 เดือนก่อนประกาศเพดานส่งออกข้าวขั้นต่ำที่ 700 ดอลลาร์

     ทั้งนี้ เพื่อลดความร้อนแรงของปริมาณส่งออกข้าวไทยลดลงโดยมาตรการดังกล่าวไม่ผิดระเบียบองค์การการค้าโลก ( ดับบลิวทีโอ) เพราะไม่ได้กีดกันการส่งออกหรือนำเข้าแต่หากใครอยากได้ข้าวก็ต้องจ่ายแพงซึ่งเชื่อว่ามาตรการนี้จะทำให้สถานการณ์ข้าวภายในประเทศดีขึ้นราคาขึ้นไปผันผวนจนเกินไปแม้ภาครัฐเตรียมทำข้าวถุงราคาถูกเพื่อช่วยผู้บริโภคแต่สต็อกข้าวที่มี 2.1 ล้านตันคงไม่เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ เพราะปริมาณข้าวเพียงแค่นี้ ใช้ 3 เดือนก็หมด

     “ไม่อยากให้รัฐมองว่าต้องส่งออกให้มากเพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว หากไม่มีสต็อกข้าวเหลือในประเทศแล้วจะทำอย่างไร ถึงเวลานั้นรัฐบาลจะลำบาก เพราะสถานการณ์นี้ต่อให้มีข้าวจำนวนมากเท่าไร ก็ส่งออกได้หมด มี 12 ล้านตัน ต่างประเทศก็ต้องการหมด แต่ต้องคิดถึงอนาคตข้างหน้าด้วย อีกทั้งผู้ส่งออกก็ลำบากจากราคาผันผวน โดยตั้งแต่เดือนธ.ค.ถึง มี.ค. 2551 ผู้ส่งออกขาดทุนจากราคาผันผวนไปแล้วมากกว่า 1 พันล้านบาท” นายชูเกียรติ กล่าว

ชาวนาจี้รัฐดึงเงิน 6 พันล้านบาทตั้งกองทุนสวัสดิการ

     วานนี้ ( 31 มี.ค.) นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย พร้อมสมาชิกชาวนาไทยประมาณ 10 คน เข้าพบนายสมศักดื์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอแก้ปัญหาวิกฤติข้าวและผลกระทบที่เกิดขึ้น

     ภายหลังเข้าพบของสมาคมชาวนาไทยนายสมศักดิ์ กล่าวว่าสมาคมชาวนาต้องการให้รัฐตั้งกองทุนสร้างสวัสดิการให้กับเกษตรกร โดยเสนอให้กระทรวงการคลังโอนเงิน จำนวน 6,000 ล้านบาท ที่ได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากการส่งออกข้าวในอดีตมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร นอกจากนี้สมาคมชาวนา ระบุว่าปัจจุบันผู้ส่งออกมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายกับทางโรงสีประมาณ 0.75% ภาษีดังกล่าวโรงสีได้เรียกเก็บจากเกษตรกรอีกทอด ดังนั้นอยากให้ยกเลิกเพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวสูงขึ้น

     ทั้งนี้เงินค่าธรรมเนียมพิเศษ ตนจะสอบถามไปยังกระทรวงการคลังว่ามีอยู่จริงหรือไม่ หากยังมีเงินอยู่ สมควรที่จะนำมาให้ประโยชน์ โดยเฉพาะการตั้งกองทุนประกันภัยที่ควรจะมีขึ้นในพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ ส่วนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย 0.75% ขอให้สมาคมชาวนา กลับไปพิจารณาข้อมูลอีกครั้ง หากมีจริงจะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลัง

     สำหรับปัญหาข้าวดีด ทำให้ข้าวไม่มีคุณภาพมีการปลอมปน ได้ขอให้ชาวนาปล่อยน้ำเข้านาก่อน เพื่อให้ข้าวงอกแล้วไถกลบ วิธีนี้ช่วยให้พันธุ์ข้าวดีดหมดไป แต่เนื่องจากปีนี้ราคาข้าวสูงจูงใจให้ชาวนาเร่งปลูกข้าวมากขึ้น ดังนั้นจึงขอให้ชาวนาระมัดระวังแก้ปัญหาพันธุ์ข้าวตั้งแต่ต้น

     ส่วนปัญหาปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอช่วงฤดูแล้ง ได้ให้กรมชลประทานแก้ปัญหากระจายน้ำให้เพียงพอแล้ว แต่การทำนาปรังรอบที่ 2 ควรระมัดระวังช่วงปลายฤดูกาลที่น้ำจะขาดแคลนและทำให้ข้าวเสียหาย ซึ่งเกษตรกรควรแก้ไขปัญหาโดยการหันไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่า

     นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่าเงิน 6,000 ล้านบาท ที่ได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ ต้องการให้กระทรวงการคลังอนุญาตให้นำมาใช้ประโยชน์กับชาวนา ผ่านการบริหารจัดการโดยกรมการข้าว มีแผนจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา และการประกันภัยความเสี่ยง ทั้งหมดจะช่วยให้คุณภาพชีวิตชาวนาดีขึ้น

     "ข้าวเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ แต่ปัจจุบันคุณภาพชีวิตชาวนายังไม่ดีขึ้น ชาวนาส่วนใหญ่อายุมาก พอทำนาไม่ไหวก็ไม่มีรายได้ การที่ยุทธศาสตร์ข้าวกำหนดให้ตั้งกองทุนสวัสดิการ จึงอยากให้กระทรวงการคลังคืนภาษี 6,000 ล้านบาท ให้กรมการข้าวบริหารเพื่อประโยชน์โดยเฉพาะ" นายประสิทธิ์ กล่าว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
The Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.