นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ เลขาธิการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยว่าจากการที่ราคาข้าวสารในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก กระทั่งทำให้ผู้ส่งออกต้องประสบปัญหาขาดทุนไปตามๆ กัน เพราะราคาที่รับออเดอร์ไว้ต่ำกว่า สิ่งที่ภาคส่งออกอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลขณะนี้คือให้ธนาคารปล่อยวงเงินสินเชื่อให้กับผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากราคาข้าวสารสูงขึ้นผู้ส่งออกต้องใช้เงินทุนเพื่อไปซื้อมากขึ้น
"เวลานี้การซื้อข้าวสารถ้าใช้เงินจำนวนเท่าเดิมจะได้ปริมาณข้าวที่น้อยลง เนื่องจากข้าวสารแพง หากผู้ส่งออกไม่มีเงินทุนหรือขาดทุนกันไปมากๆ การออกไปซื้อข้าวจะทำได้น้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณการส่งออกข้าวของประเทศ และจะเกิดผลกระทบวงกว้างตามมาอีกมากไม่ว่าจะเป็นทั่วโลกจะประสบปัญหาขาดแคลนข้าวรุนแรงขึ้น เนื่องจากเวลานี้ไทยเป็นแหล่งซัพพลายข้าวแหล่งใหญ่ ขณะเดียวกันจะทำให้ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ตกต่ำลงได้หากปริมาณสต๊อกอยู่ในประเทศมากขึ้น ดังนั้นหากผู้ส่งออกมีเงินหมุนเวียนจะทำให้มีวงเงินออกไปซื้อข้าวจะทำให้การค้าดำเนินตามกลไกตลาด"
ด้านนายรุจน์ ทรัพย์นิรันดร์ ปฏิคมสมาคมผุ้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่าระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ ศกนี้ สมาชิกสมาคมฯจะเดินทางไปสำรวจผลผลิตข้าวพื้นที่ภาคกลางทั้งหมด ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวนาปรังแหล่งใหญ่ โดยจะไปพบส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รวมถึงผู้ประกอบการโรงสีทุกจังหวัด ซึ่งผลการสำรวจคาดว่าจะทำให้รับทราบปริมาณผลผลิตข้าวที่ชัดเจนขึ้น และผุ้ส่งออกจะได้นำมาวางแผนรับออเดอร์จากต่างประเทศได้ โดยเฉพาะข้าวขาวซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในบรรดาข้าวทุกชนิดที่ไทยส่งออก
ทั้งนี้แหล่งข่าวจากกรมส่งเสริมการเกษตร ได้รายงานความคืบหน้าพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังปี 2551 ว่า ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ มีพื้นที่ปลูกรวมทั้งสิ้น7.73 ล้านไร่ จากเป้าหมายที่กำหนดให้ปลูกได้ 10 ล้านไร่ จากภาวะราคาข้าวดีเชื่อว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน และผลผลิตจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคม ศกนี้ เป็นต้นไป จากสถานการณ์ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดน้อยและราคาสูง ถึงเดือนมีนาคมน่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าเกี่ยวกับปัญหาข้าวราคาแพงและหายไปจากระบบ กระทรวงพาณิชย์จะรีบนำหารือนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้เร็วที่สุดว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยขณะนี้สต๊อกข้าวของรัฐบาลคงเหลืออยู่ไม่ถึง 2 ล้านตัน ซึ่งโดยปกติประเทศต้องมีสต๊อกข้าวสำรองประมาณ 1 ล้านตัน
แหล่งข่าวในวงการค้าข้าว เปิดเผยเพิ่มเติมว่าจากสถานการณ์ข้าวราคาแพง จนทำให้ผู้ส่งออกที่รับออเดอร์ล่วงหน้าไว้ราคาต่ำแล้วต้องมาซื้อภายในราคาสูงกว่าต้องประสบปัญหาขาดทุนไปตามๆ กัน ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มผู้ส่งออกที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะได้ประมูลซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ราคาต่ำ เช่นการประมูลขายข้าวขาว 5% ตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2549 เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ เมื่อเดือนธันวาคม 2550 จำนวน 409,989 ตัน กระทรวงพาณิชย์ได้ตัดสินใจขายให้กับผู้ส่งออก 9 ราย ได้แก่บริษัท แคปปิตัลซีเรียลส์ จำกัด ในกลุ่มนครหลวงค้าข้าว จำนวน 215,737 ตัน บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด 65,525 ตัน บริษัท ไทยฟ้า (2511) 14,025 ตันบริษัท อีสเทิร์นไรซ์ 21,827 ตัน บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด 12,094 ตัน บริษัท แสงทองค้าข้าว จำกัด 4,248 ตัน บริษัท เอเชียโกลเด้นไรซ์ จำกัด 51,204 ตัน บริษัท สิงโตทองไรซ์คอปอเรชั่น จำกัด 20,035 ตัน บริษัท ไชยพรไรซ์แอนด์ฟู้ดโปรดักส์ จำกัด 5,290 ตัน ราคาระหว่างตันละ 10,150 ปัจจุบันราคาข้าวขาว 5% ในท้องตลาดอยู่ที่ตันละ 13,500 บาท
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|