www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ผู้ส่งออกคาด 3 เดือน"ค้าข้าว"สู่ภาวะปกติ


      นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยว่า ราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัวขณะนี้ เป็นราคาที่สูงเกินความเป็นจริง โดยเกิดจากแรงเก็งกำไรผสมมากกว่าความต้องการจริง ทำให้ราคาข้าวสูงต่อเนื่อง หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป เชื่อว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว กลไกตลาดจะกลับมาทำหน้าที่ของตัวเอง

     "หากราคาแพงมากทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศไม่สู้ราคา จนงดคำสั่งซื้อในที่สุด ขณะที่ผู้ส่งออกไม่สามารถรับความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวนได้ ทำให้ปริมาณการส่งออกจะค่อยๆ ลดลง เมื่อช่องทางการส่งออกหดลงไป ตลาดข้าวในประเทศจะมีปริมาณมากขึ้น เพราะไม่มีทางระบายออก จนทำให้ราคาในประเทศลดลง และผู้ที่กักตุนข้าวไว้ จะต้องปล่อยข้าวเข้าระบบในที่สุด จนทำให้ราคาข้าวในตลาดกลับสู่ภาวะปกติ คาดปรากฏการณ์นี้จะเห็นได้ในช่วง 2-3 เดือนจากนี้" นายชูเกียรติ กล่าว

     ทั้งนี้ราคาข้าวในช่วงเดือนธ.ค. 2550 โค้ดราคาขายเอฟโอบี ตันละ 360 ดอลลาร์สำหรับข้าวขาว 100% แต่ราคาล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เม.ย.2551 ตันละ 854 ดอลลาร์ ส่วนข้าวหอมมะลิ เมื่อเดือนธ.ค.2550 ตันละ 620 ดอลลาร์ แต่ล่าสุดขยับเป็นตันละ 1,130 ดอลลาร์

     "ราคาข้าวที่สูงขึ้นมากกว่าเท่าตัวขณะนี้ มาจากการกักตุนเพื่อหวังเก็งกำไร ซึ่งทำให้ราคาข้าวสูงเกินความจริงถึงประมาณ 20% อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาการกักตุนด้วย เพราะไทยไม่มีกฎหมายห้ามการกักตุน เหมือนกรณีของเวียดนาม ซึ่งหากมีการกักตุนกันมาก ก็จะเกิดปัญหาได้" นายชูเกียรติ กล่าว

ข้าวนาปรัง 60% ยังไม่ถึงมือผู้ส่งออก

     ส่วนข้าวนาปรังปี 2551 ที่คาดมีผลผลิต 6.5 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 4.29 ล้านตันข้าวสารนั้น ขณะนี้เก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 60% แต่ยังไม่ถึงมือผู้ส่งออกเลย เชื่อว่า น่าจะยังมีการกักตุนกันอยู่ในรูปของข้าวเปลือกในมือของโรงสี

     กระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามภาวะการส่งออกอย่างใกล้ชิด เพราะหากไทยส่งออกข้าวได้เดือนละ 1 ล้านตันอย่างในปัจจุบัน จะทำให้ทั้งปีส่งออกได้ถึง 12 ล้านตัน ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนข้าวในประเทศอย่างแน่นอน แต่หากช่วง 8-9 เดือนที่เหลือ ส่งออกได้เพียงเดือนละ 650,000 ตัน ทั้งปีไม่เกิน 9 ล้านตัน ก็จะไม่เกิดภาวะขาดแคลน เพราะไทยผลิตข้าวสารปีละ 18-19 ล้านตัน บริโภคในประเทศ 9 ล้านตัน และอีก 9 ล้านตันส่งออก

     ส่วนการที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ผู้ส่งออก ต้องมีสต็อกไม่ต่ำกว่า 500 ตันในช่วงเวลาส่งออกนั้น จะกระทบกับผู้ส่งออกรายเล็ก ที่ส่งออกไม่มาก และมีสต็อกน้อย บางรายสต็อกไม่ถึง 500 ตัน ก็ต้องไปหาข้าวมาสต็อกไว้ตามปริมาณที่กำหนด จะกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ส่วนรายกลางและใหญ่ไม่มีปัญหา ปกติสต็อกมากกว่า 500 ตันอยู่แล้ว

มิ่งขวัญกอดสต็อก 2.1 ล้านตันแน่น

     ด้านนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเสวนากับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่า ข้าวในสต็อกรัฐบาลจำนวน 2.1 ล้านตันนั้น ยืนยันจะไม่มีการนำมาระบายหรือจำหน่ายข้าวในราคาถูกแต่อย่างใด โดยจะเก็บข้าวในสต็อกไว้ให้เป็นข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และประกันได้ข้าวจะไม่ขาดแคลน

     ส่วนที่ยังไม่มีการสั่งห้ามการส่งออกข้าวขณะนี้ เพราะต้องการให้กลไกตลาดทำงาน ขณะนี้ยืนยันเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 8.75-9 ล้านตัน ซึ่งหากปริมาณความต้องการส่งออกมีมากเกินความจำเป็น จนอาจทำให้ข้าวในประเทศขาดแคลน กระทรวงพาณิชย์จะออกมาตรการควบคุมทันที ทั้งนี้การส่งออกข้าวในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ ส่งออกแล้ว 3.26 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 166.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 1.96 ล้านตัน

     "ราคาที่พุ่งสูงขณะนี้ ไม่น่าจะมีการเก็งกำไร เพราะราคาตลาดโลก เกิดจากปริมาณความต้องการจากต่างประเทศ และการตรวจสอบสถานการณ์ข้าวโลกขณะนี้ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิ เฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 34,600-36,000 บาทตัน ข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 26,400-26,700 บาท ขณะที่ข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้มีราคาตันละ 17,000-18,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้าราคาตันละ 11,500-15,000 บาท" นายมิ่งขวัญ กล่าว

     ส่วนความกังวลว่าเกิดการกักตุนข้าวนั้น มองว่า ไม่ใช่การกักตุน แต่เป็นสต็อกข้าวที่ภาครัฐก็มีอยู่ในมือ ขณะที่ภาคเอกชนก็มีอยู่ 2.4 ล้านตัน ซึ่งการจะขายข้าวหรือไม่เอกชนต้องตัดสินใจว่า ต้องการขายเมื่อใด ราคาเท่าใด ซึ่งทุกคนทั้งชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก ต้องการขายข้าวในราคาสูงเหมือนการเล่นหุ้นที่ต้องให้ได้ราคาดีที่สุดจึงจะขาย

ชี้ข้าวราคาสูงจูงใจแรงงานคืนถิ่น

     นายมิ่งขวัญ กล่าวด้วยว่า ราคาข้าวยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นมาก จะเกิดผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรม โดยจะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานภาคอุตสาหกรรม จะหันกลับไปทำนาในภูมิลำเนามากขึ้น ดังนั้นแรงงานภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม หรือแรงงานทั่วไปจะขาดมากขึ้น เช่น แม่บ้าน คนรับใช้ แม้ขณะนี้จะยังไม่มีตัวเลขที่แท้จริง แต่แนวโน้มวงจรแรงงานของไทยจะเป็นทิศทางนี้มากขึ้น

หอฯ เร่งศึกษาปัญหาข้าวเสนอรัฐ

     นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยสั่งให้สถาบันยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของหอการค้าไทย ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาของข้าวไทยทั้งระบบ เพื่อวางแผนแก้ปัญหา และจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล โดยผ่านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งปัญหาการผลิต ถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่ทุกคนเป็นห่วง และต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ และเอกชนร่วมกันแก้ไข รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อทำให้ไทยได้ประโยชน์จากข้าวอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในช่วงที่มีราคาแพง

     "การศึกษาปัญหา และข้อเสนอของสถาบันยุทธศาสตร์ฯ จะเน้นการแก้ปัญหาระยะยาว ทั้งในเรื่องการผลิต เช่น จะแบ่งโซนเพาะปลูกข้าวกับพืชพลังงานทดแทนหรือไม่ การค้าทั้งในและต่างประเทศ ระบบน้ำ ความช่วยเหลือจากรัฐ ความเป็นไปได้ที่จะร่วมกับประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ กำหนดอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตน้ำมัน เพราะแม้ราคาข้าวสูงขึ้นมาก แต่ไทยก็ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ เหมือนกับผู้ผลิตน้ำมัน จึงน่าจะร่วมกันเพิ่มอำนาจต่อรองบ้าง" นายดุสิต กล่าว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.