นายปราโมทย์ วานิชานนท์ ที่ปรึกษานายกสมาคมโรงสีข้าวไทย และอดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวในงานเสวนาวิชาการ "ยุคทองเกษตรไทย" จัดโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วานนี้ (10 พ.ค.) ว่า ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาข้าวได้ปรับตัวลดลงตันละ 3,000 บาท ทำให้โรงสีต้องรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาต่ำลงเช่นกัน
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากผู้ส่งออกอ้างว่า เกิดพายุนาร์กิส เรือขนส่งสินค้าไม่สามารถเข้ามารับข้าวได้ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายข้าวถุงธงฟ้าราคาถูกกว่า 20% สิ่งเหล่านี้ตนไม่แน่ใจว่า เหตุผลที่ผู้ส่งออกอ้างนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ขณะที่โรงสีเองก็ขาดสภาพคล่อง เพราะช่วงที่ราคาข้าวแพงได้กว้านซื้อข้าวไปหมดแล้ว เพราะเข้าใจว่าการที่ผู้ส่งออกประมูลขายข้าวให้ฟิลิปปินส์สูงถึงตันละ 1,150-1,200 ดอลลาร์ต่อตัน เมื่อคำนวณกลับมาเป็นราคาในประเทศอยู่ที่ตันละ 14,000-15,000 บาท โรงสีจึงเร่งซื้อข้าวราคา 12,500-13,000 บาทต่อตัน เก็บไว้ในสต็อก แต่ปรากฏว่าราคาข้าวกลับลดลง เนื่องจากผู้ส่งออกไม่รับซื้อ ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกต้องตกลง
"ยอมรับผู้ส่งออกมีอำนาจ สามารถกดราคาและปั่นราคาได้ในคราวเดียวกัน ทฤษฎีกลไกตลาดที่นำมาใช้นั้นไม่ได้ผล และไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ เห็นได้จากช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาข้าวสูงถึง 14,000 บาทต่อตัน เพราะความต้องการของโลกยังมีสูง สิ่งที่เกิดขึ้นกลไกตลาดดี ความต้องการตลาดก็มี แต่ทำไมเราขายข้าวไม่ได้ ผู้ส่งออกซื้อราคาถูกลง ใครกันแน่ที่ดูแลการตลาด และทำให้กลไกบิดเบือน ตอนนี้มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ตอนนี้ผู้ส่งออกกดราคาโรงสี ทำให้สถานการณ์ราคาปั่นป่วน ทั้งๆ ที่ราคาประมูลข้าวฟิลิปปินส์ขายได้ 16,000-17,000 บาท แต่ทำไมซื้อข้าวในประเทศเพียงตันละ 14,000 บาทไม่ได้ จุดนี้ผู้ส่งออกควรจะมีกำไรเท่าไรจึงเหมาะสม หรือว่ากลไกการตลาดมันผิดปกติ"
จี้พาณิชย์ออกมาตรการคุมกลไกตลาด
นายปราโมทย์ กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายเดียว ที่มีศักยภาพขณะนี้ ความต้องการของโลกก็สูง ดังนั้น ตลาดข้าวของไทยควรทำกันด้วยความสามัคคี หาวิธีโกยราคาจากต่างประเทศ การกดราคารับซื้อข้าวของผู้ส่งออกจากโรงสีไม่ใช่สิ่งที่ดี ปัจจุบันผู้นำเข้าข้าวต่างประเทศ รู้ความเคลื่อนไหวราคาข้าวในประเทศตลอดเวลา หากผู้ส่งออกซื้อข้าวราคาต่ำ ผู้นำเข้าก็ใช้เป็นข้ออ้างต่อรองราคาได้เช่นกัน
"มนุษย์ทุกวันนี้มีกิเลส และความโลภ การซื้อขายไม่ใช่การยกมือไหว้และขอร้อง แต่ต้องเรียนรู้กับกลไกการตลาดที่โหดร้าย ทุกวันนี้ รัฐบาลบอกตลาดข้าวเสรี แต่จริงๆ แล้ว ผู้ส่งออกกับโรงสีกำลังเก็งกำไรกันอยู่ ขณะที่โรงสีมีเงินน้อยกว่าจึงต้องพ่ายแพ้อำนาจต่อรองในที่สุดก็ผลักภาระไปที่เกษตรกร ผมอยากฝากถึงรัฐมนตรีมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ว่า อยากเห็นอำนาจที่มีคุณธรรมเข้ามากำกับ ดูแลคุมเข้ากลไกการตลาด กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจตามกฎหมาย ควรมีมาตรการที่จะควบคุมกลไกตลาดให้เสรีได้แท้จริง" นายปราโมทย์กล่าว
ชี้ผู้ส่งออก-โรงสีไม่จริงใจช่วยชาวนา
นางไพเราะ สุขสว่าง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ราคาข้าวมีแนวโน้มสูงถึงตันละ 15,000 บาท หากมองในแง่ความต้องการที่สั่งซื้อเข้ามาถึง 4 ล้านตัน เราจะหาวิธีดูแลอย่างไร เพื่อให้แนวโน้มราคาข้าวสูงขึ้น กลไกตลาดทุกวันนี้ยอมรับว่ายังไม่เสรี ผู้ส่งออกและโรงสียังแอบซ่อนอยู่ จนไม่รู้ว่ามีความจริงใจที่จะช่วยเหลือเกษตรกรจริงหรือไม่
"ตอนพูดในที่ประชุมเราบอกว่า ต้องเห็นใจเกษตรกร แต่ภาคปฏิบัติไม่ใช่ ยังมีการกดราคารับซื้อกันอยู่ ทั้งสองกลุ่มเราต้องการข้อมูลจริง มีความจริงใจต่อกันในระบบการซื้อขายข้าว ภาครัฐพร้อมที่จะช่วยเหลือและส่งเสริมเต็มที่อยู่แล้ว"
ชาวนาโอดโรงสีอ้างความชื้นเหลือ 9 พัน
ผู้ใหญ่ธนู หาญอยู่ เกษตรกรจากจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ทำนามากว่า 40 ปี เพิ่งเคยเห็นราคาข้าวสูงตันละ 12,000-14,000 บาท แต่ชาวนาจะได้รับกำไรจากราคาที่สูงขึ้นมากหรือไม่นั้น คิดว่าน่าจะได้รับน้อยกว่าโรงสีและผู้ส่งออก เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก ขณะนี้ ข้าวก็ไปอยู่ที่โรงสีหมดแล้ว แต่เมื่อข้าวนาปรังออกมาช่วงนี้กลับขายได้ยากขึ้น เพราะโรงสีอ้างเรื่องความชื้น เมื่อสัปดาห์ก่อนราคาอยู่ที่ 12,000 บาทต่อตัน วันนี้เหลือแค่ 9,000 บาทต่อตันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ชาวนาเริ่มคึกคักเพิ่มผลผลิตเพราะราคาสูงขึ้น กำไรที่ได้ก็นำไปซื้ออุปกรณ์เครื่องมือการเกษตรมากขึ้น แต่ลืมกันไปว่าทั้งหมดคือต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น มีเพียงส่วนหนึ่งที่นำไปใช้หนี้ ธ.ก.ส. ขณะนี้ ราคาข้าวเริ่มตกต่ำ แต่ต้นทุนการผลิตไม่ได้ลดลงด้วย ทำให้ชาวนาอาจจะอยู่ไม่ได้
ดังนั้น จึงต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนสหกรณ์การเกษตร ให้รับซื้อข้าวและขายเอง โดยไม่ต้องพึ่งโรงสีและพ่อค้า โดยจัดให้มีลานรับซื้อผลผลิตการเกษตร ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหากลไกตลาดได้วิธีหนึ่ง ในส่วนนี้ ธ.ก.ส.ก็สามารถช่วยเหลือได้ เพราะปล่อยสินเชื่อให้สหกรณ์อยู่แล้ว ส่วนเรื่องความเสี่ยงผลผลิตก็เห็นด้วยที่จะมีการประกันภัย ขอให้ ธ.ก.ส.จัดฝ่ายวิจัยและรับรู้ปัญหาของเกษตรกร เพื่อประสานกับฝ่ายสินเชื่อ เพื่อพัฒนาวิธีคิดของชาวนา จะทำให้ชาวนาเข้มแข็งขึ้น
นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุรพงษ์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ทุกฝ่ายเข้าไปบริหารจัดการได้ง่าย แต่สินค้าเกษตรมีความเสี่ยงสูง ปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามตลาด หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี เกษตรกรจะมีความเสี่ยงอยู่ สิ่งที่ธ.ก.ส.ต้องการคือ เสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตร ธนาคารจึงมีโครงการจะเข้าไปบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ทั้งจากราคาน้ำมันและภัยธรรมชาติ เพราะต้องการโครงสร้างภาคเกษตรมีรายได้ทัดเทียมกัน
สุรพงษ์สั่งธ.ก.ส.ซื้อข้าวชาวนาล่วงหน้า
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรและชาวชนบท" ในการประชุมประจำปีของผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยกล่าวถึง นโยบายการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร ว่า ได้มอบนโยบายให้กับ ธ.ก.ส.เข้าไปสนับสนุนเงินทุน เพื่อซื้อปัจจัยทางการทำเกษตรที่ราคาสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยและพลังงาน และให้กระจายข่าวสารราคาสินค้า เพื่อแก้ปัญหาข่าวลือเช่นเดียวที่เกิดขึ้นกับสินค้าข้าวที่ปล่อยข่าว ว่า ความต้องการข้าวในตลาดโลกลดลง ทั้งที่ไม่ใช่ความจริงทำให้ชาวนาเสียผลประโยชน์ และให้ ธ.ก.ส.นำการวิจัยไปสู่เกษตรกร เพื่อปรับปรุงวิธีการให้ทันสมัยมากขึ้น และได้ให้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการรับซื้อข้าวเปลือกล่วงหน้า เพื่อช่วยไม่ให้ราคาตกต่ำ
"ได้สั่งให้ ธ.ก.ส.ศึกษาวิธีการรับซื้อข้าวเปลือก ล่วงหน้าจากชาวนาให้ทันผลผลิตข้าวเปลือกในรอบฤดูกาลผลิตปีนี้ เพื่อดูแลราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ และให้เป็นราคาตลาด ดูแลปริมาณให้เพียงพอต่อความต้องการ โดย ธ.ก.ส.จะต้องใช้ฐานความรู้วิเคราะห์ต้นทุนและศึกษาตลาด และศึกษาปัจจัยการผลิตแบบครบวงจร คาดว่าจะไม่ทำให้ ธ.ก.ส.ขาดทุน เพราะถือเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตข้าวรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยวิธีการนี้จะแตกต่างจากการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า และต่างจากการประกันราคาข้าว" น.พ.สุรพงษ์กล่าว
เล็งเปลี่ยนโครงสร้างการตลาดข้าว
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.จะต้องประสานงานกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับท้องถิ่น ถ้าร่วมมือกันสนับสนุนเกษตรกรมืออาชีพ โรงสีมืออาชีพ ก็จะเกิดความชัดเจนของผลตอบแทนที่คุ้มค่า
"เรื่องนี้ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องที่อาจจะเปลี่ยน ทำให้โครงการการผลิตและการตลาดของข้าวเปลี่ยนไป อยากให้โอกาสครั้งนี้ตกถึงมือเกษตรกรมากที่สุด ที่ผ่านมา เกษตรกรทำงานหนัก แต่ผลตอบแทนตกอยู่ในมือคนอื่นมากกว่า" น.พ.สุรพงษ์กล่าว
น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ได้ให้ธ.ก.ส.เข้าไปทำหน้าที่สนับสนุนการซื้อขายล่วงหน้าก่อน โดยเริ่มจากข้าวให้เริ่มในปีนี้ได้เลย ให้ธ.ก.ส.ตกลงกันเลยว่า จะรับซื้อในราคาเท่าไร โดยต้องดูพืชแต่ละตัวในตลาดโลกว่าเป็นอย่างไร แต่ต้องมีการวิเคราะห์ให้ดี ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ราคาต้องสอดคล้องกับตลาดได้ ถ้าสมมติราคาของเกษตรกรสูงกว่า และทำสัญญาไว้แล้ว ถ้า ธ.ก.ส.มาทำก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับตลาด
ป้อนข้อมูลเกษตรกรตัดพ่อค้าคนกลาง
"ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของ ธ.ก.ส.ยังต้องทำหน้าที่เหมือนศูนย์ธุรกิจ ที่บริการด้านข้อมูลแก่ลูกค้าของธนาคารเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์เอกชน ที่มีศูนย์บริการธุรกิจในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนลูกค้าของตนเอง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีความคล่องตัว ในฝั่งของสินค้าเกษตรก็เช่นกัน การให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูล อาทิเช่น ราคาสินค้า ราคาปุ๋ย จะสามารถตัดวงจรอุบาทว์ ซึ่งก็คือ พ่อค้าคนกลางได้"
น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ได้เสนอกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เพื่อขอสนับสนุนเงินทุนมาลดต้นทุนเกษตรกรในเอเชีย เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับซื้อปัจจัยการผลิต อาทิเช่น ปุ๋ยและพันธุ์ข้าวต่างๆ เพื่อรองรับความมั่นคงของอาหาร และทำให้เกษตรกรมีต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งทางเอดีบีรับฟัง และจะนำไปหารือกับเอดีบีอีกครั้ง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |