www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

คลัง-พาณิชย์"แตกหัก" แผนรับจำนำข้าวป่วน

      นางสาวศุภรัตน์ นาคบุญนำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วานนี้ (10 มิ.ย.) ได้อนุมัติให้กระทรวงการคลังดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 พร้อมอนุมัติงบกลาง วงเงิน 1,132.17 ล้านบาท ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว

     ทั้งนี้ โครงการรับจำนำข้าวครั้งนี้ มีเป้าหมายรับจำนำข้าวเปลือกจำนวน 3.5 ล้านตัน โดย อคส.จะเป็นผู้รับฝากและออกใบประทวนสินค้าตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.2551 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2551 และระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.2551 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2551 ขณะที่เงินทุนดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าว จะมาจาก ธ.ก.ส.โดยจะมีวงเงินทั้งสิ้น 25,000 ล้านบาท

     ครม.ยังเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน 3 คณะ เพื่อดำเนินการโครงการรับจำนำแต่ละขั้นตอน ได้แก่ คณะทำงานพิจารณาและจัดการรับจำนำ ที่มีนายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.เป็นประธาน คณะทำงานพิจารณาสี แปรสภาพข้าวเปลือก มีนายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน และคณะทำงานพิจารณาจำหน่ายข้าวสาร มีนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ เป็นประธาน

     ส่วนราคารับจำนำข้าวเปลือกนั้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า 100% ความชื้นไม่เกิน 15%) ราคาอยู่ที่ 14,000 หมื่นบาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคา 13,800 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 10% ราคา 13,600 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 15% ราคา 13,200 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 25% ราคา 12,800 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกปทุมธานีชนิดสีต้นข้าว 42 กรัม ราคา 14,000 บาทต่อตัน ชนิดสีต้นข้าวต่ำกว่า 42 กรัม ปรับลดกรัมละ 100 บาท

ธ.ก.ส.ขอ 1.1 พันล้านค่าดำเนินการ

     สำหรับงบกลาง วงเงิน 1,132.17 ล้านบาท ที่จะใช้ในการดำเนินการโครงการรับจำนำ แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายในการรับฝากข้าวเปลือกและออกใบรับฝากและประทวนสินค้าให้แก่ อคส. ตามที่เกิดขึ้นจริง วงเงิน 48.5 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการจัดการโครงการให้แก่ อคส.ในอัตรา 45 บาทต่อตัน วงเงิน 122.5 ล้านบาท

     ค่าใช้จ่ายในการเช่าสถานที่เก็บข้าวสาร หลังแปรสภาพให้แก่ อคส.ในอัตรา 216 บาทต่อตัน วงเงิน 90 ล้านบาท และค่าชดเชยดอกเบี้ย เพื่อใช้เป็นทุนการดำเนินงานตามโครงการแก่ ธ.ก.ส. ในวงเงิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งธ.ก.ส.กำหนดอัตราดอกเบี้ยอัตรา MRR-1 หรือ 6.5% เป็นประมาณ 880.17 ล้านบาท

     นอกจากนี้ เมื่อสิ้นสุดโครงการ และกระทรวงพาณิชย์ได้ระบาย หรือจำหน่ายผลผลิตที่รับจำนำเสร็จสิ้นแล้ว หากมีผลขาดทุนจากผลต่างราคาที่รับจำนำให้ ธ.ก.ส.ประสานกับสำนักงบประมาณ เพื่อจัดสรรเงินงบประมาณประจำปีเพื่อชดเชย ธ.ก.ส.ต่อไป

     ส่วนหลักเกณฑ์วิธีการดำเนินการโครงการ กระทรวงเกษตรฯจะรับผิดชอบในการออกหนังสือรับรองผู้ปลูกข้าวนาปรัง เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นหลักฐาน ในการนำข้าวเปลือกไปฝากไว้กับโรงสีที่ขึ้นทะเบียนกับ อคส.และอคส.จะออกใบประทวนสินค้า ให้แก่เกษตรกรนำมาจำนำกับธ.ก.ส.สำหรับข้าวเปลือกที่เกษตรกรนำมาฝากไว้กับโรงสี จะแปรสภาพเป็นข้าวสารแล้ว นำไปเก็บรักษาไว้ในโกดังกลาง ขึ้นทะเบียนกับ อคส.เพื่อรอจำหน่ายต่อไป

"ธีรพงษ์"ยัน 15 มิ.ย.เริ่มจำนำข้าว 8 จังหวัด

     นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 และมอบหมายให้ ธ.ก.ส. อคส.และกระทรวงเกษตรฯ ร่วมดำเนินการโครงการตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งโครงการรับจำนำข้าวเปลือกครั้งนี้ มีการตั้งเป้ารับจำนำข้าวเปลือกจำนวน 3.5 ล้านตัน ขณะที่ในส่วนของเงินทุนนั้น ธ.ก.ส.ได้เตรียมเงินไว้กว่า 2.5 หมื่นล้านบาท และยืนยันว่าเงินที่จะใช้ในโครงการไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

     อย่างไรก็ตาม หากราคาข้าวเปลือกที่มีการซื้อขายในตลาดมีการปรับตัวสูงขึ้นมาก ก็มีความเป็นไปได้ว่าเกษตรกรจะนำข้าวเปลือกมาจำนำกับภาครัฐน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้

     นายธีรพงษ์กล่าวว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป โดยที่ผ่านมาได้คัดเลือกโรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการแล้ว ซึ่งในระยะแรกจะเปิดรับจำนำในจังหวัดที่มีผลผลิตข้าวออกมาก่อน เช่น สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง ก่อนจะทยอยเปิดจุดรับจำนำในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรังออกมามากที่สุดประมาณเดือน ส.ค.

     ส่วนขั้นตอนการปฏิบัตินั้น อคส.จะออกใบประทวนสินค้าให้เกษตรกร เพื่อนำมายื่นให้ ธ.ก.ส. และนำข้าวมาจำนำกับธ.ก.ส.จากนั้น ธ.ก.ส.จะตรวจสอบว่ามีจำนวนข้าวและคุณภาพข้าวภายใน 3 วัน และจะโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรที่นำข้าวสารไปฝากโรงสี เพื่อเก็บรักษาต่อไป อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.ต้องการให้มีการระบายข้าวออกไปโดยเร็วที่สุด หากเป็นไปได้ควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้

พาณิชย์หักหน้าคลังร่วมรับจำนำข้าว

     แหล่งข่าวจากที่ประชุมโครงการรับจำนำข้าวของธ.ก.ส.กล่าวถึงการประชุมร่วมระหว่างธ.ก.ส. อคส. กรมการค้าภายใน และสมาคมโรงสีข้าว เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้มีการหารือร่วมถึงแผนการรับจำนำข้าว ซึ่งรัฐบาลได้เปลี่ยนแกนนำโครงการจาก อคส.เป็นธ.ก.ส. ทำให้ธ.ก.ส.ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น เนื่องจากไม่มีความชำนาญในเรื่องดังกล่าวและไม่เคยดำเนินการมาก่อน

     อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม ทางผู้แทนของ อคส.และกรมการค้าภายในต่างไม่เห็นด้วย ที่จะเข้าร่วมโครงการรับจำนำกับธ.ก.ส. จึงอยากจะขอถอนตัวออกจากโครงการรับจำนำข้าว โดยอ้างว่าไม่สามารถเข้าร่วมได้เพราะไม่มีอำนาจ เนื่องจากเป็นการทำงานข้ามกระทรวงกัน คงไม่สามารถที่จะเข้าไปควบคุมการทำงานของใครได้ ในระหว่างนั้นทางผู้บริหารธ.ก.ส.ก็แจ้งว่าต้องการขอความร่วมมือที่จะให้ช่วยโครงการนี้ ตามนโยบายของนายกฯ ทางธ.ก.ส.เองก็ไม่อยากทำแต่เป็นบัญชาของนายกฯ จำเป็นต้องรับผิดชอบ

     "ผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมจากกระทรวงพาณิชย์บอกว่า มีผู้ใหญ่ให้นโยบายมาว่า ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการกับธ.ก.ส.ได้ เพราะการทำงานข้ามกระทรวง" แหล่งข่าวกล่าวและว่า โครงการรับจำนำข้าวครั้งนี้ เริ่มจะมีปัญหาหนักระหว่างกระทรวงการคลังกับกระทรวงพาณิชย์อย่างหนัก ระดับผู้ใหญ่ของทั้งสองกระทรวง ปัญหาความไม่พอใจเกิดจากการเรียกประชุม 11 รัฐมนตรีเศรษฐกิจช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงกลับไม่ได้เข้าร่วม ดังนั้นเมื่อนายกฯเปลี่ยนผู้ดูแลโครงการรับจำนำข้าวให้ธ.ก.ส.ดำเนินการ กระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ควรเข้าไปร่วม

     ทั้งที่โครงการรับจำนำอคส.ดำเนินการมาไม่น้อยกว่า 8 ปี แต่อยู่ๆ กลับมาให้ธ.ก.ส.ดำเนินการแทน ถือเป็นการหักหน้ารัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าหากโครงการรับจำนำมีปัญหาอย่างนี้ อาจทำให้โครงการเกิดปัญหาและล้มเหลวได้ในที่สุด แม้ ครม.บอกให้เข้าร่วม แต่ในทางปฏิบัติคงไม่สามารถไปควบคุมหรือจัดการได้

คลังใช้มติครม.บีบอคส.จำนำข้าว

     แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มติ ครม.ในการรับจำนำข้าววานนี้ (10 มิ.ย.) ถือเป็นการสวนทางกับที่นายกรัฐมนตรี เคยพูดไว้ในหลายๆ เวที ที่ระบุว่า ธ.ก.ส.จะเข้ามารับผิดชอบโครงการรับจำนำทั้งหมด พร้อมรับผิดชอบด้วยตัวเอง สาเหตุที่ตัด อคส.ออกจากโครงการรับจำนำ เพราะทำงานช้า และมีปัญหาการทุจริต แต่มติครม.ประกาศออกมา พบว่าการทำงานส่วนใหญ่กลับเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์และอคส.ทำให้การรับจำนำครั้งนี้ ในทางปฏิบัติไม่ต่างกับการรับจำนำครั้งก่อนๆ

     อย่างไรก็ตาม หากยึดตามมติของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ จะมีฐานะเป็นเพียงผู้ปฏิบัติเป็นกรณีๆ ไป ขณะที่การดูแลภาพรวมและนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังครั้งนี้ ทั้งหมดยังเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังและธ.ก.ส.

     ทั้งนี้ ครม.กำหนดให้ อคส.เข้ามารับผิดชอบในการรับจำนำข้าวเหมือนเดิม โดยต้องเป็นผู้พิจารณาในการออกใบประทวนสินค้าให้แก่เกษตรกร ในการนำข้าวมาจำนำให้กับธ.ก.ส.ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นผู้รับผิดชอบ ในการออกหนังสือรับรองผู้ปลูกข้าวนาปรังปี 2551

โอดธ.ก.ส.ลอยตัวโยนหน่วยงานอื่น

     นอกจากนี้ มติครม.ยังได้ดึงให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาร่วมรับผิดชอบโครงการรับจำนำในอีกหลายๆ ส่วน ผ่านคณะทำงาน 3 ชุด คือ คณะทำงานพิจารณาและจัดการรับจำนำ ซึ่งชุดนี้มีผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการ มีผู้จัดการ ธ.ก.ส. เป็นประธาน ขณะที่คณะทำงานพิจารณาสีแปรสภาพข้าวเปลือก มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน และคณะทำงานพิจารณาจำหน่ายข้าวสาร มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

     ขณะเดียวกัน ยังให้กระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการและกำกับดูแล การดำเนินงานตามโครงการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนในต่างจังหวัดให้คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติระดับจังหวัดดูแล ก็มีกระทรวงพาณิชย์เข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะเป็นเลขานุการอีก

     “เท่ากับว่า อคส.ต้องเข้ามารับผิดชอบโครงการรับจำนำเหมือนเดิม ธ.ก.ส.ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะอคส. ต้องทำหน้าที่ออกใบประทวนเป็นผู้รับฝากข้าวที่รับจำนำมาทั้งหมด ไม่เหมือนกับที่มีการยืนยันกับนายกรัฐมนตรีและจากมติที่ประชุม กขช. (คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ) ที่ให้ ธ.ก.ส.และกระทรวงการคลังรับผิดชอบ” แหล่งข่าวกล่าว

ั้ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.